บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD
ผู้รายงาน : นางพรปวีณ์ แซ่ลิ่ม
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด 75/75 เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียน เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเอี่ยมสุรีย์(อนุบาลเมืองสมุทรปราการ) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple Random Sampling) 1 ห้องเรียน จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน ฉบับก่อนเรียนและฉบับหลังเรียน โดยเป็นชนิดเลือกตอบฉบับละ 20 ข้อ ชนิดเขียนตอบฉบับละ 2 ข้อ และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนโดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 สเกล ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น
ผลการศึกษาพบว่า :
1. ร้อยละของค่าเฉลี่ยของคะแนนจากการทำแบบทดสอบย่อยเป็น 84.45 และร้อยละของค่าเฉลี่ยของคะแนนจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน หลังเรียน เป็น 81.17 ดังนั้น E1/E2 เป็น 84.45/81.17 ถือได้ว่ามีประสิทธิ์ภาพตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ที่ระดับนัยสำคัญ .01 (p-value < .01) เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 1 ด้าน อยู่ในระดับมาก 3 ด้าน และเมื่อพิจารณารายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด 10 ข้อ และอยู่ในระดับมาก 13 ข้อ โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น แบบฝึกทักษะ และแบบทดสอบย่อย สอดคล้องกับเนื้อหา และการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนมากขึ้น
4. คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน หลังเรียน และหลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นั่นคือนักเรียนมีความคงทนของการเรียนรู้ เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง โจทย์ปัญหาเศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD นี้ สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียนได้