บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ชื่อผู้ศึกษา นางพัชรินทร์ จันทาพูน
ปีที่ศึกษา 2559
การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน นับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษา เพราะสามารถส่งเสริมให้นักเรียน ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เต็มตามศักยภาพ และมีลักษณะนิสัยที่ดีงาม
การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3ให้มีบรรยากาศร่มรื่น สวยงาม สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีกลุ่มผู้ร่วมศึกษา จำนวน 6 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน 46 คน ทำการศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ของ Kemmis และ Mc Taggart โดยใช้กระบวนการ AIC (Appreciation Influence Control) ในการกำหนดดัชนีชี้วัด กำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดวันและเวลาในการปฏิบัติ ก่อนนำเข้าสู่การปฏิบัติการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ตามวงจร P-A-O-R ดำเนินการพัฒนา จำนวน 2 วงรอบ ในแต่ละวงรอบประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นการวางแผน 2) ขั้นการปฏิบัติ 3) ขั้นการสังเกต และ 4) ขั้นการสะท้อนผล กลยุทธ์ที่ใช้ ได้แก่ การประชุมระดมความคิด การจัดกิจกรรม 5 ส. การติดตามตรวจสอบและประเมินผล โดยใช้เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล 3 ลักษณะ คือ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบสอบถามความคิดเห็น และแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า และเสนอผลการศึกษาโดยวิธีพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า
1.สภาพก่อนการพัฒนา พบว่า สภาพพื้นที่ของโรงเรียน ยังไม่สะอาดและไม่เป็นระเบียบขาดการวางแผนที่ดีในการปลูกต้นไม้ และการตกแต่งสวนหย่อม ไม่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ในการดูแลรักษา ครูยังขาดการจัดสภาพภายในห้องเรียนที่เหมาะสม ไม่มีการปรับปรุงป้ายนิเทศ อย่างสม่ำ เสมอ และขาดการนิเทศติดตามที่เป็นระบบ นักเรียนไม่มีความสนใจและไม่มีแรงจูงใจ ในการเรียน เนื่องมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนเท่าที่ควร ยังไม่เหมาะสมในอันที่จะเสริมสร้างเจตคติค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับนักเรียนที่จะเติบโตขึ้น เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ไม่ก่อปัญหาให้สังคม และยังไม่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในด้านปัจจัยนำเข้าของการบริหารสถานศึกษาที่ต้องคำนึงถึงการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
2.กระบวนการดำเนินการพัฒนา ผู้ศึกษาใช้รูปแบบกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research)ในการดำเนินการพัฒนา ตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการวางแผน (Planning) ขั้นการปฏิบัติการ (Action) ขั้นการสังเกต (Observation) และขั้นการสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflection) โดยดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ กลยุทธ์ที่ใช้ในการดำเนินการพัฒนา ได้แก่ การประชุมระดมความคิด การจัดกิจกรรม 5 ส. และการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินการ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการประชุมระดมความคิด และการจัดกิจกรรม 5 ส. แบบสอบถามความพึงพอใจการประชุมระดมความคิด และการจัดกิจกรรม 5 ส. และแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยทำการศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลที่รวบรวมมา แล้วหาความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้น เพื่อกำหนดทิศทาง (Trend) และสร้างข้อสรุป แล้วนำเสนอโดยการบรรยายเป็นความเรียง (Narrative Form)
3.ผลการพัฒนา โดยภาพรวมของการดำเนินการพัฒนาสภาพแวดล้อม เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย กระบวนการปฏิบัติและกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ล้วนมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล ส่งผลให้โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน สภาพแวดล้อมทั้งในพื้นที่บริเวณสนามรอบอาคาร ภายในอาคารต่าง ๆ และในห้องเรียนได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามอยู่ตลอดเวลา บุคลากรมีการปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมลงตัว กิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ห้องเรียนทุกห้องมีการจัดตกแต่งอย่างสวยงาม เอื้อต่อการเรียนรู้ตามเนื้อหาที่ศึกษาเล่าเรียน มีการปรับเปลี่ยนป้ายนิเทศให้เป็นปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์ นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียน ทำให้มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ และด้านความรับผิดชอบงานในหน้าที่ รักความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งถือได้ว่าโรงเรียนได้รับการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างดี เป็นที่คาดหมายได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนน่าจะดีขึ้นในโอกาสต่อไป เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสถาบันหรือหน่วยงานต่าง ๆ นำไปพัฒนาเพื่อยกระดับของสถาบันหรือหน่วยงานตนเอง และสามารถใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) เป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านอื่น ๆ ตามภารกิจของสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี