ผู้รายงาน ชวพร สุวรรณภูมิ
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาให้กับเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจ ภาษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งต้องอาศัยทักษะทั้ง 4 ด้าน การส่งเสริมให้เด็กใช้ภาษาที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กสามารถแสดงความคิดเห็น ความเข้าใจของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ โดยเฉพาะด้านการพูดซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของการฟังการอ่านและการเขียน และการเล่านิทานมีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยมาก เพราะนิทานช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางภาษา ทางความคิดและมีจินตนาการ ซึ่งเด็กปฐมวัยเรียนรู้จากการกระทำโดยอาศัยสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ประเภทต่างๆ และสื่อต้องเป็นรูปธรรม เนื่องจากเด็กปฐมวัยยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่จะเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ นิทานจึงเป็นนวัตกรรมที่ใช้พัฒนาทักษะด้านการพูดของเด็กได้เหมาะสมกับวัย ดังนั้น ผู้รายงานจึงได้ศึกษาการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ขึ้น การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย (1) เพื่อศึกษาระดับความสามารถด้านการพูดของเด็กปฐมวัยก่อนและหลัง การจัดประสบการณ์โดยใช้นิทาน (2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการพูดของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทาน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนวัดสะอาดราษฎร์บำรุง อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี ทั้งหมดจำนวน 9 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ( Purposive Sampling ) ใช้เวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 20 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษามี 3 ชนิด ได้แก่ หนังสือนิทาน จำนวน 10 เล่ม แผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 50 แผน และแบบวัดความสามารถด้านการพูด จำนวน 18 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างก่อนการจัดประสบการณ์และหลังการจัดประสบการณ์ด้วย t-test (Dependent Sample)
ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
1. เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทาน มีความสามารถด้านการพูดโดยรวมสูงขึ้น โดยคะแนนเฉลี่ยก่อนการจัดประสบการณ์ เท่ากับ 21.67 คะแนน ความสามารถ
ด้านการพูดระดับปานกลาง หลังการจัดประสบการณ์มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 36.22 คะแนน ความสามารถด้านการพูดระดับสูง ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ มีค่าเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. ความสามารถด้านการพูดโดยแยกรายด้าน ได้แก่ ด้านการบอก ชื่อคน สัตว์ สิ่งของ
ด้านการแต่งประโยคปากเปล่า และด้านการเล่าเรื่องว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 ด้านการบอก ชื่อคน สัตว์ สิ่งของ ก่อนการจัดประสบการณ์ มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 9.56 คะแนน ความสามารถด้านการพูดระดับปานกลาง หลังการจัดประสบการณ์มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 15.67 คะแนน ความสามารถด้านการพูดระดับสูง และพบว่า คะแนนเฉลี่ยหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2.2 ด้านการแต่งประโยคปากเปล่า ก่อนการจัดประสบการณ์ มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 2.67 คะแนน ความสามารถด้านการพูดระดับต่ำ หลังการจัดประสบการณ์มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.11 คะแนน ความสามารถด้านการพูดระดับสูง และพบว่า คะแนนเฉลี่ยหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2.3 ด้านการเล่าเรื่องว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน ก่อนการจัดประสบการณ์
มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 9.44 คะแนน ความสามารถด้านการพูดระดับปานกลาง หลังการจัดประสบการณ์มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 15.44 คะแนน ความสามารถด้านการพูดระดับสูง และพบว่า คะแนนเฉลี่ยหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ทางสถิติที่ระดับ .01
โดยสรุป ผลการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูด ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับใช้ส่งเสริม ความสามารถด้านการพูด และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟังการอ่านและการเขียนอีกต่อไป