ชื่อเรื่อง : เอกสารประกอบการสอนทักษะปฏิบัติด้านนาฏศิลป์ไทยเรื่องการประดิษฐ์ท่ารำ
ประกอบการรำกลองยาวชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย : นางพิลดา รัตนะ ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
สถานศึกษา : โรงเรียนชุมชนบ้านนางกำ ตำบลบางดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฏร์ธานี เขต 1
ปีที่พิมพ์ : 2561
บทคัดย่อ
ในการวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ ไทยในการประดิษฐ์ท่ารำประกอบการรำกลองยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนกับหลังเรียนโดยใช้การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการรำกลองยาว 3) เพื่อเปรียบเทียบทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ที่พัฒนาขึ้น สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนกับหลังเรียน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 16 คน โรงเรียนชุมชนบ้านนางกำ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการรำกลองยาว จำนวน 6 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 20 ข้อ 3) แบบวัดทักษะการปฏิบัตินาฏศิลป์ จำนวน 4 ข้อ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติ โดยหาค่าเฉลี่ย (x) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่าร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้ทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการรำกลองยาว กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.04/82.60 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. นักเรียนที่เรียนรู้ทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการรำกลองยาว มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.01
3. นักเรียนที่เรียนรู้ทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการรำกลองยาว มีทักษะปฏิบัตินาฎศิลป์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบการรำกลองยาว โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x= 4.96 , S.D = 0.08 )