Advertisement
Advertisement
"ชีวิตนี้พลีเพื่อชาติ" เสียงเพรียกแห่งความหวัง (เดลินิวส์)
การรบถือเป็นงานหลักของเหล่าทหาร ที่เป็นแนวหน้าคอยปะทะปกป้องประเทศชาติไม่ให้ศัตรูมารุกราน หากย้อนอดีตกลับไป การศึกต่างๆ มีบรรพบุรุษพลีชีพเพื่อรักษาแผ่นดินทอง "ไม่ตายก็บาดเจ็บ" มากมาย ซึ่งในช่วงแรกหลังจากสงครามจบลงทุกคนให้เกียรติในฐานะวีรบุรุษ แต่นานเข้าผู้คนในสังคมก็หลงลืมทหารผ่านศึกเหล่านี้ไป พวกเขากลายเป็นเพียงคนพิการกินเงินบำนาญในสายตาผู้อื่น ซึ่งแท้จริงแล้วพวกเขามีความสามารถและต้องการให้สังคมยอมรับ
3 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันทหารผ่านศึก" นอกจากการระลึกถึงเพื่อนร่วมรบที่เสียชีวิตไปแล้ว พวกเขายังต้องการเสียงเพรียกแห่งความหวังจากสังคม ซึ่ง "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์" ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เหล่ารั้วของชาติมีโอกาสฝึกอาชีพและพัฒนา ความรู้ ส่งเสริมกำลังใจให้กับชีวิตอย่างมีความสุข แต่กว่าจะผ่านวันเวลาอันโหดร้ายไม่ใช่เรื่องง่าย
"พี่ผมขอเมียพี่นะครับ" หนุ่มหน้าใหม่ที่มากับภรรยาของ ร.อ.ชินะดิษ รูปจะโป๊ะ เมื่อครั้งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอ่ยปากขอกันดื้อๆ เกือบ 30 ปีมาแล้ว ชีวิตเหมือนเวรซ้ำกรรมซัด ตั้งแต่ระเบิดตูมนั้นดังขึ้นบนขุนเขาในจังหวัดเชียงรายจากการปะทะกับกองกำลังขุนส่า ซึ่งกำลังลำเลียงขนย้ายยาเสพติด ทำให้ร่างกายท่อนล่างตั้งแต่ต้นขาลงไปไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ แต่ไม่ทันที่แผลบนร่างกายจะตกสะเก็ดดี แผลใหม่ก็เกิดขึ้นตรงขั้วหัวใจ เมื่อภรรยาขอแยกทางไปกับสามีใหม่โดยทิ้งภาระลูกทั้งสองไว้ให้ดูแล
"พอรู้ว่าจะเดินไม่ได้ไม่เคยท้อแท้ เพราะเราทำหน้าที่รักษาประเทศชาติ ขณะเดียวกันการเป็นทหาร สอนให้รู้จักความอดทนแม้ร่างกายจะพิการก็ต้องหางานทำให้ได้" ร.อ.ชินะดิษ ในวัย 53 ปี กล่าว
ตอนแรกกลับไปทำงานละแวกบ้านที่เป็นโรงงาน ก็พอทำได้ แต่พอนานไปร่างกายไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับมีอาการแทรกซ้อนจากการเดินล้ม ทำให้ต้องเข้ามารักษาในโรงพยาบาลอยู่เป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน
ร.อ.ชินะดิษ ตัดสินใจลงเรียนหลักสูตรระยะสั้นการเป็นหมอดู เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวใหม่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เพื่อให้สังคมยอมรับความสามารถของผู้พิการ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายคนยังมองว่าไม่มีความรู้ความสามรถ นอกจากนี้ ยังเรียนในหลักสูตรต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การแกะสลักไม้เป็นรูปต่างๆ และประดิษฐ์ศิลปะการทำรูป ไทย-โอชิเอะ
กิจกรรมฝึกอาชีพทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ถึงวันนี้ลูกๆ ต่างเติบโตทำมาหาเลี้ยงได้แล้ว แต่ ร.อ.ชินะดิษ ยังคงหวังว่าเมื่อใดที่หายดี จะออกไปนำวิชาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทุกวันนี้มีลูกค้ามาดูดวงที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกพอสมควร แม้จะไม่มากนักแต่ก็ส่งเสริมความสุขทางจิตใจให้มีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม
"ในฐานะเป็นทหารผ่านศึก อยากเตือนรุ่นน้องที่ไปทางภาคใต้ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ประมาท เพราะเมื่อใดที่เราละเลยพวกเขาก็พร้อมจะโจมตีทุกเมื่อ ขณะเดียวกันก็อยากเชิญชวนเพื่อนๆ ทหารผ่านศึกที่อยากฝึกอาชีพมาขอรับการอบรมได้ทุกวันพุธ ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก" ร.อ.ชินะดิษ ทิ้งท้าย
"ชีวิตผมเกิดมาเพื่อเป็นทหาร" ร.อ.สมศักดิ์ แสนล้ำ วัย 55 ปี กล่าวขณะนั่งร้อยลูกปัดเพื่อทำเป็นกระเป๋าตามที่ลูกค้าสั่งอยู่บนเตียง หลังจากช่วงเช้าเปิดแผงขายลอตเตอรี่ภายในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก
หากไม่รักเป็นทหารจริงคงไม่อดทนสอบเข้าถึง 4 ครั้ง แต่ ร.อ.สมศักดิ์ ไม่เคยท้อใจ สอบไม่ได้ก็หาอาชีพอื่นเสริมก่อนสมดั่งหวัง แต่แล้วก็มาถูกลอบยิงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากเข้าจู่โจมที่ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กระสุนฝังไขกระดูกสันหลังหมอลงความเห็นว่าต้องตัดขาขวาทิ้ง
"หลังจากโดนยิงเราทำใจไว้แล้วเพราะเราเป็นนักรบไม่ตายก็พิการ ในฐานะเราเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็กในสมัยนั้นพอเห็นลูกน้องบาดเจ็บด้วยกันก็รู้สึกสงสารเพราะในสนามรบเราคือเพื่อนตาย" ร.อ.สมศักดิ์ กล่าว
การได้ฝึกอาชีพทำให้ผ่อนคลายไม่ต้องวิตกกังวลกับความเครียดต่างๆ และยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย มีโครงการอะไรให้มาฝึกก็ทำหมดตั้งแต่ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า แกะสลักไม้ บางครั้งก็ซื้อหนังสือ มาหัดทำร้อยลูกปัดเป็นตุ๊กตา กระเป๋า พอมีงานแสดงสินค้าก็นำออกไปโชว์ก็มีลูกค้าบางรายมาติดต่อ
"ทุกวันนี้แทบไม่ได้เปิดดูข่าวเพราะเบื่อเห็นนักการเมืองทะเลาะกัน หลายครั้งเราก็รู้สึกเศร้าและท้อแท้ในชีวิตว่า ทำไมเราอุตส่าห์พลีชีพเพื่อรักษาชาติ แต่คนที่อยู่แนวหลังมัวแต่ทะเลาะกัน" ร.อ.สมศักดิ์ ทิ้งท้าย
นพ.นำชัย คุณธาราภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ในฐานะผู้ดูแลโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้ทหารผ่านศึกที่พิการ เพื่อให้คนเหล่านี้กลับไปอยู่ในสังคมด้วยการมีอาชีพหารายได้เลี้ยงตัวเอง มีการฝึกอบรมทุกวันพุธที่โรงพยาบาล โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 30 คน ทำการอบรม 5 วัน โดยสามารถเลือกได้ว่าต้องการเรียนแกะสลักไม้หรือศิลปะทำรูปไทย-โอชิเอะ ขณะนี้เปิดทำการฝึกมากว่า 6 เดือน และได้ทำการสอบถามทหารผ่านศึกที่เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาลว่าต้องการฝึกอาชีพอะไรอีกหรือเปล่า เพื่ออนาคตจะได้จัดหลักสูตรเหล่านี้ขึ้นมาตอบสนองความต้องการ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารผ่านศึก กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีทหารผ่านศึกทั่วประเทศเข้าอบรมกว่า 300 คน ซึ่งผลที่ออกมาน่าพอใจเพราะหลายคนมีสภาพจิตใจดีขึ้น ขณะเดียวกันบางคนก็สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ
"อยากให้สังคมให้ความช่วยเหลือทหารผ่านศึกเพราะพวกเขาพลีชีพเพื่อชาติ ซึ่งเมื่อเขาพิการเราซึ่งเป็นแนวหลังควรช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ขณะเดียวกันก็เชิญชวนให้เหล่าทหารผ่านศึกที่พิการหากต้องการฝึกอาชีพสามารถมาติดต่อได้ด้วยตนเองที่โรงพยาบาล" นพ.นำชัย กล่าว
นพ.นำชัย กล่าวอีกว่า สำหรับอนาคตเตรียมที่จะปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้เริ่มมีทหารจากภาคใต้ที่พิการเข้ามามากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้เพิ่งประสบปัญหาด้านจิตใจมาไม่นาน ทำให้โรงพยาบาลต้องคอยฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจให้กลับไปยืนได้ในสังคมเร็ววัน
นี่เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งจากเหล่าทหารผ่านศึกที่คอยปกป้องผืนแผ่นดินที่ทุกคนกำลัง "กิน-นอน" ชีวิตของพวกเขาสามารถพลีเพื่อชาติได้ แล้วคุณล่ะ...พร้อมจับมือกันสร้างประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงหรือยัง ?
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์
Advertisement
|
เปิดอ่าน 18,424 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,605 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,271 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,870 ครั้ง |
เปิดอ่าน 26,801 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,224 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,621 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,897 ครั้ง |
เปิดอ่าน 7,889 ครั้ง |
เปิดอ่าน 60,361 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,188 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,712 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,220 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,938 ครั้ง |
เปิดอ่าน 75,498 ครั้ง | |
|

เปิดอ่าน 13,401 ☕ คลิกอ่านเลย |

เปิดอ่าน 11,816 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 19,413 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 14,809 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 20,939 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 22,749 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 8,387 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡ 
เปิดอ่าน 10,516 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 33,762 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 31,701 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 26,581 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 12,491 ครั้ง |
|
|