ยุพารัตน์ กัณหา. 2562. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้รายวิชา ค 23102 คณิตศาสตร์
เรื่องอสมการ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้รายวิชา ค23102 คณิตศาสตร์ เรื่องอสมการ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้รายวิชา ค 23102 คณิตศาสตร์ เรื่องอสมการ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 70 และจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 เป็นนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) รูปแบบการศึกษาใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรการปฏิบัติ 3 วงจร ดังนี้ วงจรที่ 1 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1-4 วงจรที่ 2 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5-9 วงจรที่ 3 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 10-13 ใช้เวลาแผนการจัดการเรียนรู้ละ 1 ชั่วโมง รวมใช้เวลาทั้งหมด 13 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องอสมการ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 13 แผน ใช้เวลา 13 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ ในการสะท้อนผลการปฏิบัติได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์นักเรียน และแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้รายวิชา ค 23102 คณิตศาสตร์ เรื่องอสมการ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ (ซึ่งมีการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยใช้ค่า IOC และมีการหาค่าความเชื่อมั่นของทั้งฉบับได้เท่ากับ 0.93) ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ศึกษาได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกแผนการจัดการเรียนรู้ ด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ เมื่อสิ้นสุดแต่ละวงจรให้นักเรียนทำแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร และทำการสะท้อนผลการปฏิบัติแล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์อภิปรายเพื่อปรับปรุงกิจกรรมเรียนรู้แต่ละวงจรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อนำไปใช้ในวงจรต่อไป การวิเคราะห์ข้อมูลของการศึกษาครั้งนี้ ใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และสรุปเป็นความเรียง
ผลการศึกษาพบว่า
การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้รายวิชา ค 23102 คณิตศาสตร์ เรื่องอสมการ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรม 3 ขั้น ดังนี้ 1) ขั้นสร้างความขัดแย้งทางปัญญา เป็นขั้นเตรียมความพร้อมของนักเรียน และสร้างแรงจูงใจในการเรียนประกอบด้วย การแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้และ ทบทวนความรู้เดิมเพื่อเป็นพื้นฐานที่นักเรียนจะนำไปเชื่อมโยงในการสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญา ซึ่งในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป ผลการจัดกิจกรรมในขั้นตอนนี้ พบว่านักเรียนทุกคนทราบเป้าหมายในการเรียนแต่ละชั่วโมง และมีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนเนื้อหาใหม่ต่อไป รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ได้ 2) ขั้นดำเนินกิจกรรมไตร่ตรอง ประกอบด้วย (1) กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย โดยนักเรียนจะรวมกลุ่ม 4 คน แต่ละคนจะนำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาต่อกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มแก้ปัญหาตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสม และบันทึกลงในใบงานกิจกรรมกลุ่มย่อย (2) กิจกรรมไตร่ตรองระดับชั้น คือตัวแทนแต่ละกลุ่มนำแนวทางแก้ปัญหาที่ได้เสนอต่อทั้งชั้น 3) ขั้นสรุปผลการสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญาเป็นขั้นที่นักเรียนร่วมกันสรุปแนวคิดหลักการในเรื่องที่เรียนสมาชิกทุกคนจะอภิปราย และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ดี และเหมาะสมที่สุด
ผู้ศึกษาได้พัฒนากิจกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 วงจร ในตอนท้ายของแต่ละวงจรจะมีการสะท้อนผลการปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ในวงจรต่อๆไป ผลที่ได้จากการสังเกตการณ์จัดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกการทำงานร่วมกัน มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน กล้าแสดงความคิดเห็น มีความสนใจและตั้งใจในการร่วมกิจกรรม ได้พัฒนาทักษะทางสังคม ได้ฝึกความรับผิดชอบและความมีระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า นักเรียนจำนวนร้อยละ 73.04 ของนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ร้อยละ 90.63 ของคะแนนเต็ม ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนด