ชื่องานวิจัย การพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4
โดยใช้สื่อคำศัพท์ประกอบรูปภาพ
สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4
ผู้วิจัย นางสาวกาฬวัลย์ พูลแก้ว
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนสามัคคีราษฎร์บำรุง สังกัด สพป.ปทุมธานี เขต 1
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 โดยใช้สื่อคำศัพท์ประกอบรูปภาพ
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง คือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 ที่เรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนสามัคคีราษฎร์บำรุง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จำนวน 42 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการสอนและสื่อคำศัพท์ประกอบรูปภาพ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน (Pre-test) และหลังเรียน (Post-test)
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยค่าร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า
ผลการวิจัยการพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 โดยใช้สื่อคำศัพท์ประกอบรูปภาพพบว่าผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 โดยใช้สื่อคำศัพท์ประกอบรูปภาพ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 จำนวน 42 คน ได้คะแนนก่อนเรียนสูงสุด 21 คะแนน คะแนนก่อนเรียนต่ำสุด 6 คะแนน มีค่าเฉลี่ย 13.74 คิดเป็นร้อยละ 45.80 คะแนนหลังเรียนสูงสุด 30 คะแนน คะแนนหลังเรียนต่ำสุด 14 คะแนน มีค่าเฉลี่ย 22.05 คิดเป็นร้อยละ 73.50 คะแนนความก้าวหน้า มีนักเรียนได้คะแนนความก้าวหน้าสูงสุด 12 คะแนน คะแนนความก้าวหน้าต่ำสุด 4 คะแนน มีค่าเฉลี่ย 8.31 คิดเป็นร้อยละ 27.70 คะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบหลังเรียนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 27.70 พบว่านักเรียนได้คะแนนเพิ่มมากขึ้นทุกคน จากการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษโดยใช้สื่อคำศัพท์ประกอบรูปภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ ก่อนและหลังการสอน ผู้วิจัยได้นำคะแนนวัดผลสัมฤทธิ์มาเปรียบเทียบ โดยใช้วิธีทางสถิติค่าเฉลี่ย พบว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนเท่ากับ 13.74 กับ 22.05 แสดงให้เห็นว่าการสอนโดยใช้สื่อคำศัพท์ประกอบรูปภาพช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทำให้นักเรียนอยากเรียนภาษาอังกฤษและยังช่วยสรุปบทเรียนส่งผลให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น