ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ค้นหากระทู้
ตั้งกระทู้คำถามใหม่ กลับหน้าที่แล้ว
 
ความยากลำบากทางจริยธรรม (Ethical Dilemma) ในการบริหารงานบุคคล ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางในจังหวัดสงขลา

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยออกแบบการวิจัยโดยใช้วิธีวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนของรัฐในการบริหารงานบุคคลในโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางจังหวัดสงขลา ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ ผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 คน ซึ่งได้มาโดยใช้วิธีการเลือกแบบยึดจุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นหลัก จากผู้บริหารในโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางในจังหวัดสงขลา ที่มีประสบการณ์ในด้านการบริหารการศึกษาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก เอกสารที่เกี่ยวข้องและตัวผู้วิจัยเอง โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล

ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารเผชิญกับประเด็นความยากลำบากทางจริยธรรมในการบริหารงานฝ่ายบุคคล ซึ่งนำไปสู่ความยากลำบากในการตัดสินใจ ดังต่อไปนี้ 1) กฎระเบียบข้อตกลงกับความจำเป็นส่วนบุคคล 2) มุมมองส่วนบุคลกับอำนาจหน้าที่ 3) มาตรฐานชุมชนกับสิทธิส่วนบุคคล และ 4) ความเท่าเทียมกับความยุติธรรม นอกจากนั้นจากการศึกษาพบว่า ผู้บริหารมีแนวทางในการแก้ไขและรับมือกับประเด็นที่เป็นปัญหาตามลำดับขั้นดังนี้ 1) กำหนดและวิเคราะห์ปัญหา 2) วิเคราะห์ผลลัพธ์

3) ทบทวนจริยธรรม นโยบาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 4) ตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีสุดจัดการปัญหา

คำสำคัญ : ความยากลำบากทางจริยธรรม, งานบริหารบุคคล, การตัดสินใจ

บทนำ

จริยธรรม คือ ความสำนึก หรือความประพฤติที่ดีงามเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและสังคม เกิดความรักสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันอย่างมีประสิทธิภาพ (สิริรทิพย์, 2555) ซึ่งคุณค่าทางจริยธรรมจะสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญงอกงามในการดำรงชีวิตของบุคคลอย่างมีระเบียบแบบแผนตามวัฒนธรรมของสังคม(กิตติยา, 2552) อีกทั้งยังเป็นเครื่องโน้มน้าวขัดเกลาให้บุคคลมุ่งกระทำความดี ละเว้นความชั่ว มีความประพฤติที่ดี มีความถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่อย่างเรียบร้อยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

จริยธรรมจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกองค์กร โดยเฉพาะผู้นำต้องเป็นบุคคลที่จริยธรรมเนื่องจาก ผู้นำเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อองค์กร โดยผู้นำนั้นเปรียบเสมือนตัวแบบที่ทรงอิทธิพลต่อผู้ตามในทุกด้านตั้งแต่แนวคิด ทัศนคติ และการแสดงออก ตั้งแต่การทำงาน กระทั้งการแต่งกาย (Irwin, 2918) กล่าวได้ว่า ผู้นำเป็นอย่างไร มีแนวโน้มว่าผู้ตามจะเป็นเช่นนั้น(Sanfilippo และSinanis, 2016) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนสถานบันแห่งการเรียนรู้ ที่มีบทบาทสำคัญในสังคม ผู้นำจึงต้องเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เป็นหลักสำคัญในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดบรรยากาศองค์กรที่ดี มีหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นไปตามครรลองของสังคม

อย่างไรก็ตามจริยธรรมและความถูกต้องไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวและอาจจะไม่ได้ถูกที่สุดเสมอไป ส่งผลทำให้เกิดภาวะอย่างหนึ่งขึ้นกับผู้บริหารนั้นคือ ความยากลำบากทางจริยธรรม (Ethical Dilemma) ภาวการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อความเชื่อหนึ่งขัดแย้งกับอีกความเชื่อหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถสรุปหรือตัดสินได้อย่างแน่ชัดว่าความเชื่อใดดีกว่ากัน (Shapirro และ Gross, 2000) นำมาซึ่งภาวะซับซ้อนและยากลำบากในการตัดสินใจในการบริหารงาน

การตัดสินใจของผู้นำอาจต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก โดยเฉพาะความยากลำบากในการตัดสินใจเชิงจริยธรรม(Jacquaeline และStefkovich, 2001) ซึ่งหมายความถึงภาวะที่ยากลำบากสำหรับการตัดสินใจเลือกระหว่างกฎเกณฑ์ หรือระเบียบที่ระบุไว้กับหลักการทางจริยธรรม หลักมนุษยธรรม ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ร่วมงานที่พึงมีต่อกัน (Shaw และ Barry, 2014) เนื่องจากบางครั้งประเด็นปัญหาที่ผู้นำต้องตัดสินใจนั้นมีความคลุมเครือและซับซ้อนซึ่งความท้าทายนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในองค์กร โดยเฉพาะในการบริหารงานด้านบุคคล เป็นหัวใจหลัก ของการบริหาร (เนตรนภา และไพโรจน์, 2558) ที่ต้องมีการพบปะพูดคุย ประสานงาน มีปฏิสัมพันธ์ และกฎระเบียบ อีกทั้งการบริหารงานฝ่ายบุคคลนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ผู้บริหารต้องตระหนัก เนื่องจากฝ่ายบุคคลนั้นถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ที่ต้องใช้เทคนิคในการบริหารโดยมีองค์ประกอบและกระบวนการที่เฉพาะ (บรรยงค์ โตจินดา, 2546) งานบุคคลจึงถือได้ว่าเป็นหัวใจของการทำงานโรงเรียน ถือเป็นงานที่สามารถกำหนดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานฝ่ายอื่นๆในโรงเรียนนั่นเอง ซึ่งในงานวิจัยเรื่องนี้จะกล่าวถึงภาวะผู้นำทางการศึกษากับความยากลำบากทางจริยธรรม(Ethical Dilemma) ในการบริหาร โดยเฉพาะงานการบริหารบุคคลเป็นประเด็นหลักในการทำวิจัย

จากแนวคิดข้างต้นผู้วิจัยในฐานะนักการศึกษา จึงมีความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับความความยากลำบากทางจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนในการบริหารงานบุคคล จึงเป็นที่มาของการศึกษางานวิจัยคุณภาพเรื่องความยากลำบากทางจริยธรรม (Ethical Dilemma) ในการบริหารงานฝ่ายบุคคลของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง เพื่อเข้าใจถึงความยากลำบากทางจริยธรรมที่ผู้บริหารต้องเผชิญและแนวทางในการดำเนินการ วิธีรับมือเผชิญกับปัญหาและการแก้ปัญหาภายในโรงเรียน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนและบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งสามารถนำแนวทางที่ศึกษาดังกล่าวไปประยุกต์ใช้การบริหารงานด้านฝ่ายบุคคลและพัฒนานำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนต่อไป

นิยามศัพท์เฉพาะ

การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยมุ่งศึกษาภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนในการบริหารงานบุคคล เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจตรงกัน ดังนี้

ความยากลำบากเชิงจริยธรรม หมายความว่า ภาวการณ์ซับซ้อน เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวกับจริยธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างความเชื่อหนึ่งกับอีกความเชื่อหนึ่งที่ไม่สามารถบอกว่าอย่างใดสำคัญกว่ากัน นำมาซึ่งความสับสนสองจิตสองใจกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป็นภาวะที่ยากลำบากสำหรับการตัดสินใจ ผู้กระทำการตัดสินใจต้องไตร่รองอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากเมื่อตัดสินใจตามความเชื่อหนึ่งไป จะเกิดความขัดแย้งกับอีกความเชื่อหนึ่ง

การบริหารงานบุคคล หมายความว่า งานที่เกี่ยวกับบุคลากรในโรงเรียน เริ่มตั้งแต่การสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงาน จัดอบรมปฐมนิเทศ จัดสรรเรื่องสวัสดิการพนักงานและค่าจ้างค่าตอบแทน จัดการอบรมทั้งด้านทักษะในการทำงาน และทักษะด้านการพัฒนาบุคลิกภาพและการส่งเสริมการทำงานเป็นทีม

การตัดสินใจ หมายความว่า เป็นการกระทำที่ผู้บริหารทุกคนต้องทำให้ได้แม้ในสถานการณ์ที่ยากแก่การตัดสิน การตัดสินใจนั้นคือการกระทำหรือการปฏิบัติ ที่นำไปสู่การเลือก หรือตกลงใจในการเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง จากทางเลือกที่มีอยู่หลายทาง

คำถามการวิจัย

1. ผู้บริหารโรงเรียนเผชิญภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมในการบริหารงานบุคคลอย่างไร

2. ผู้บริหารมีวิธีการจัดการกับภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมอย่างไร

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางในการบริหารงานบุคคล

2. เพื่อศึกษาวิธีการจัดการกับภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียน

ระเบียบวิธีการวิจัย

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ถูกโดยใช้วิธีวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูลซึ่งเป็นวิธีที่ศึกษาปรากฏการณ์สังคมจากมุมมองของคนในสังคม ทฤษฎีที่สร้างขึ้นจะต้องสะท้อนความจริง และตรงกับเรื่องที่ต้องการศึกษา (Urquhart, 2013) โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนในการบริหารงานบุคคลโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางในจังหวัดสงขลา ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ ผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 คน ซึ่งได้มาโดยใช้วิธีการเลือกแบบยึดจุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นหลัก (purposeful sampling) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อผู้วิจัยต้องการศึกษาจากผู้ให้ข้อมูลผู้ที่ชำนาญการในด้านนั้นๆ (Tangco, 2007) โดยผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยนี้เป็นผู้บริหารในโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางในจังหวัดสงขลา ที่มีประสบการณ์ในด้านการบริหารการศึกษาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เนื่องจากผู้ให้ข้อมูลจะต้องมีความชำนาญ และมีประสบการณ์ (ชาย โพธิสิตา, 2556) ผู้วิจัยใช้ชื่อสมมติ (Pseudonym) สำหรับผู้ให้ข้อมูลสำคัญทุกคน ทั้งนี้ป้องกันการถูกคุกความความเป็นส่วนตัว ไม่เป็นการเจาะจงและปกป้องข้อมูลสำคัญของผู้ให้ข้อมูล (Wiles และคณะ, 2006) เครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structured interview protocol) ซึ่งเป็นแบบสัมภาษณ์แบบปลายเปิด เน้นการเจาะลึกของการสัมภาษณ์ (In-depth interviews) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความลำบากเชิงจริยธรรม การบริหารงานบุคคลในโรงเรียน ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ นโยบายและโครงสร้างในการบริหารงานฝ่ายบุคคล แบบบันทึกการประชุมและสมุดลงเวลาปฏิบัติราชการ เพื่อสนับสนุนและอธิบายทฤษฎี ข้อมูลเกี่ยวกับความยากลำบากทางจริยธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารโรงเรียน สิ่งที่สำคัญในการวิจัยครั้งนี้คือ ผู้วิจัย กล่าวคือผ็วิจัยนั้นเป็นเครื่องมือที่สำาคัญที่สุดในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ทั้งด้านทักษะ ระเบียบวิธีวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล (อมาวสี อัมพันศิริรัตน์, 2557) ตลอดจนการสร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายหรือหาข้อสรุปเกี่ยวกับงานวิจัย ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยนี้ทำโดย การสัมภาษณ์เชิงลึกโดยใช้เวลาประมาณ 1 – 1.30 ) ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสัมภาษณ์ในการทำวิจัยเชิงคุณภาพ (Seidman, 1998 อ้างอิงถึงใน เอกรินทร์ สังข์ทอง, 2551) ทั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีสัมภาษณ์โดยตรง (face-to-face) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory technique) ซึ่งเป็นการค้นหาความจริงโดยมีจุดประสงค์เบื่องต้นเพื่อสร้างทฤษฎีในการอธิบายการปฏิสัมพันธ์หรือปรากฎการณ์ต่างๆ(Marshall และRossman, 2016) วิธีนี้เป็นวิธีดำเนินการแบบอุปนัยอย่างเคร่งครัด เน้นการไม่เริ่มต้นการศึกษาด้วยกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีที่มีอยู่ก่อน นักวิจัยจะเริ่มสร้างสมมติฐานและคำอธิบายเชิงทฤษฎีของตนขึ้นจากข้อมูลที่ได้รวบรวมมาสำหรับการวิจัยเรื่องนั้นโดยตรง (ชาย โพธิสิตา, 2556) และผู้วิจัยใช้หลักของการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี (Rapport) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างบทสนทนาให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเข้าใจร่วมกัน (Cresswell, 2013) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญตั้งแต่กระบวนการแรกเริ่มของการวิจัยโดยการประสานงาน ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ และความสำคัญของการวิจัยอย่างต่อเนื่องทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างมิตรไมตรี และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยผู้วิจัยตรวจสอบข้อมูล โดยให้ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Member checking) ผู้ร่วมให้ข้อมูลมีการตรวจสอบข้อมูลหรือบทสัมภาษณ์ว่ามีความถูกต้องและตรงกับการสัมภาษณ์จริง สร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Creditability) ได้ (Lincoln และ Cuba, 1985 อ้างถึงใน เอกรินทร์ สังข์ทอง, 2551)

ผลการวิจัย

ความยากลำบากทางจริยธรรม(Ethical Dilemma) ที่ผู้บริหารในการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางในจังหวัดสงขลา มีประเด็นดังต่อไปนี้

ตอนที่ 1 ประเด็นความยากลำบากทางจริยธรรมที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องเผชิญ

1) กฎระเบียบข้อตกลงกับความจำเป็นส่วนบุคคล ผลการวิจัยพบว่า ประเด็นความยากลำบากนี้เกิดขึ้นกับผู้บริหารทั้ง 10 คน ในสถานการณที่คล้ายคลึงกัน เนื่องกฎระเบียบข้อตกลงมักขัดกับความจำเป็นส่วนบุคคล ซึ่งปรากฏให้เห็นในเรื่องการลา การมาทำงานสาย และการขออนุญาตออกนอกบริเวณโรงเรียน ส่งผลให้ผู้บริหารต้องเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยในองค์กร สอดคล้องกับ ผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม2 กล่าวว่า “เคยมีกรณีครูในโรงเรียนมาสายทุกวันจันทร์เพราะต้องเฝ้าไข้ลูกชาย เพราะเห็นว่าเป็นเหตุจำเป็น”สอดคล้องกับ ผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม 8 กล่าวว่า “เคยมีครูมาสายทุกวันเนื่องจากต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต แบบนี้เราก็ต้องละไว้เป็นกรณีพิเศษ” เช่นเดียวกับ ผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม7 ที่กล่าวว่า “ครูในโรงเรียนขออนุญาตออกไปจัดการธุระนอกโรงเรียน ผมก็อนุญาตนะ หรือหากเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาลบ่อย ซึ่งในความเป็นจริงทำไม่ได้” จากคำพูดของผู้ให้ข้อมูลทั้งสามคนแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากลำบากระหว่างกฎระเบียบกับความจำเป็นส่วนบุคคล เป็นประเด็นที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องใช้เหตุผลในการพิจารณาเป็นประเด็นรายบุคคล ซึ่งบางครั้งอาจนำมาซึ่งความยากลำบากใจของผู้บริหารว่าจะรักษากฎระเบียบหรือเข้าใจความจำเป็นส่วนบุคคลของบุคคลากร

2) มุมมองส่วนบุคคลกับอำนาจหน้าที่ ผลการวิจัยพบว่าผู้บริหารจะเผชิญกับสถานการณ์นี้ในกรณีที่ผู้บริหารใช้คำสั่งมอบหมายภารกิจให้บุคลากร แต่ในขณะเดียวกันบุคคลกรมองว่าตนไม่เหมาะสมกับภาระงานดังกล่าวและไม่ประสงค์จะทำงานนั้นๆจึงนำมาซึ้งควมขัดแย้งซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น เมื่อมอบหมายงานกับบุคลากรแล้วเกิดการเกี่ยงงานนำมาซึ่งการละเลยหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับ ผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรม 1 ที่กล่าวว่า“การคัดเลือกบุคคลไปเข้าร่วมการอบรมต่างๆ ก็ต้องดูความเหมาะสม ความจำเป็นของโรงเรียนเป็นอันดับแรก…..แน่นอนว่าบางครั้งผู้ร่วมงานไม่ถูกใจไม่และเห็นด้วย”เป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรม 3 ที่กล่าวว่า “ผมจะพิจารณาสั่งงานจากความเหมาะสมของบุคคลก่อน เนื่องจากผมเห็นศักยภาพของเขา ซึ่งบางครั้งก็เกิดปัญหาว่าทำไมผมไม่ให้โอกาสคนอื่นบ้าง” จากคำพูดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากลำบากเช่นนี้เกิดขึ้นได้เมื่อการใช้อำนาจของผู้บริหารกับความคิดเห็นของบุคลากรขัดแย้งกัน บุคคลากรไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของผู้บริหาร ด้วยเหตุนี้จึง นำมาซึ่งความยากลำบากในการบริหารงานและการตัดสินใจ

3) มาตรฐานชุมชนกับสิทธิส่วนบุคคล ผลการวิจัยพบว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน 5 ใน 10 ที่ให้ข้อมูล ทำงานในโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนมุสลิม ทำให้เกิดประเด็นความยากลำบากระหว่างมาตรฐานชุมชนกับสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากค่านิยมของชุมชนมุสลิมที่มีความเคร่งครัดเรื่องวิถีชีวิต ทำให้บุคคลากรต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตบางอย่างให้กลมกลืนกับชุนชน เช่น การแต่งกาย การรับประทานอาหาร เป็นต้น ดังที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม6 กล่าวว่า “ในงานวันไหว้ครูจะไม่มีกราบ และการใช้ธูปเทียนในพิธี เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ….ตามคำแนะนำของผู้ปกครองในชุมชน”นอกจากกรณีชุมชนมุสลิมแล้ว เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ยังเกิดในชุมชนอื่นด้วยเช่นกันนั่นคือ ชุมชนที่มีการใช้ชีวิตตามวิถีชาวบ้าน นำมาซึ่งประเด็นขัดแย้งกับการใช้ชีวิตของบุคลากรรุ่นใหม่ เห็นได้ชัดจากการที่ผู้อำนวยการโรงเรียน3 ได้ยกประเด็นเหตุการณ์ที่ครูผู้สอนสนิทสนมและไปไหนมาไหนกับนักเรียนนอกเวลาเรียน ว่าเป็นประเด็นที่ทำให้ชุมชนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และท่านได้กล่าวว่า “ครั้งนั้นผู้ปกครองไม่พอใจมาก จนต้องมาถึงโรงเรียน” จากกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนมีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมของบุคลากรตามค่านิยมของชุมชน กรอบและมาตรฐานที่ชุมชนกำหนด แม้ประเด็นดังกล่าวจะก้ำกึ่งกับสิทธิส่วนบุคคลของบุคลากรในโรงเรียนก็ตาม

4) ความเท่าเทียมกับความยุติธรรม ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนประสบกับสถานการณ์ความยากลำบากเรื่องความเท่าเทียมกับความยุติธรรมในการเลื่อนขั้นเงินเดือน การให้รางวัล รวมไปถึง การมอบหมายความยากง่ายของงานที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ดังที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม 7 กล่าวว่า “การเลื่อนขั้นเงินเดือนเราจะมองที่ผลงานเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเราจะมองกระบวนการทำงานด้วย เช่น การส่งนักเรียนแข่งขันศิลปหัตถกรรม เขามีความตั้งใจ ถึงแม้จะไม่ได้รางวัลระดับสูงก็ถือว่าทำงานได้ดี” เป็นไปในทิศทางเดียวกับกับผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม8 ที่ว่า “เรามอบรางวัลครูดีเด่นให้กับครูที่มีผลงานเชิงประจักษ์ อย่างไรก็ตามการตั้งใจและทุ่มเทกับการทำงานก็มีผลต่อการได้รับรางวัลเช่นกัน” นอกจากนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม 2 ได้กล่าวว่า “ผมจะแบ่งงานตามความเหมาะสมและความถนัด ซึ่งภาระงานแต่ละคนจะหนักเบาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความถนัด” จากทัศนะดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการตัดสินใจแต่ละครั้งผู้บริหารไม่สามารถอิงกับหลักเกณฑ์ความเท่าเทียมเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ความตั้งใจในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ดังนั้นความเท่าเทียมและความยุติธรรมจึงเป็นประเด็นความยากลำบากที่ผู้บริหารต้องเผชิญในการบริหารงานบุคคล เป็นประเด็นสำคัญและพบบ่อยในการเลื่อนขั้นเงินเดือน การให้รางวัล และการมอบหมายงาน จึงนำมาซึ่งความยากลำบากในการตัดสินใจที่จะให้ใครได้หรือไม่ได้สิ่งใด

ตอนที่ 2 วิธีรับมือกับประเด็นความยากลำบากทางจริยธรรม สรุปได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1) กำหนดและวิเคราะห์สภาพปัญหา เมื่อเผชิญกับสถานการณ์อันนำไปสู่ความยากลำบากทางจริยธรรม ประการแรก ผู้บริหารมองปัญหาผ่านการวิเคราะห์พิจารณา อย่างถี่ถ้วนว่าสถานการณ์นั้นเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร ดังที่ผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรม 1 กล่าวว่า “เมื่อเจอปัญหาหรือความขัดแย้งในองค์กร เราห้ามตัดสินใจทันที มองให้ออกก่อนว่าประเด็นปัญหานั้นคืออะไร แล้วค่อยคิดหาทางออก” นอกจากนั้นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานยังเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนนี้ ดังเช่นผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรม2 กล่าวไว้ว่า “เราเน้นการทำงานเป็นทีม ผมมีคนที่พูดคุยปรึกษาบ่อยในทีม 8 คน ทุกครั้งที่เกิดปัญหาเราจะประชุมหาข้อสรุป และรับฟังความคิดเห็นของทีมด้วย” ดังนั้นขั้นตอนแรกเมื่อเจอความยากลำบากทางจริยธรรม คือต้องวิเคราะห์ปัญหาให้ถี่ถ้วน กล่าวคือ การกำหนดและการวิเคราะห์ประเด็นปัญหา เป็นสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก่อนขั้นตอนอื่นๆ

2) วิเคราะห์ผลลัพธ์ เป็นการพยากรณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อเลือกทางใดทางหนึ่งแล้วผู้ให้ข้อมูลเน้นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ปัญหาขึ้นผู้นำต้องพยากรณ์ถึงผลที่จะตามมาเมื่อตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งไป ดังที่ผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรม5 กล่าวว่า “ผมจะคิดเป็นขั้นตอนเลยว่าทำแบบนี้ข้อดีข้อเสียอะไรจะตามมาบ้าง แบบไหนจะมีผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนมากที่สุด” ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารโรงเรียนท่านยังให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ขั้นตอนนี้เป็นเสมือนการคิด และจำลองสถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้ได้มาซึ่งการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ดังนั้นการวิเคราะห์ผลลัพธ์จึงเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้บริหารแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นและสามารถลดกระทบได้น้อยลง

3) ทบทวนจริยธรรม นโยบาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประเด็นนี้ผู้บริหารให้ความเห็นที่สอดคล้องกัน เนื่องจากการทำงานในระบบราชการต้องคำนึงถึงจริยธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายและกฎระเบียบ จึงต้องมีการทบทวนเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน ดังที่ผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรม2 กล่าวว่า “การบริหารงานบุคคลนั้นเรื่องระเบียบวินัยต้องมาเป็นหนึ่ง เพราะเราต้องปกป้ององค์กรและสร้างบรรทัดฐานเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เราจะย้อนกลับมาที่กฎระเบียบเสมอ” กล่าวคือขั้นทบทวนหลักจริยธรรม นโยบายองค์กร และระเบียบที่เกี่ยวกับองค์กร เป็นขั้นตอนการรับมือต่อสถานการณ์ความยากลำบากที่มีผลอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

4) ตัดสินใจเลือกวิธีจัดการแก้ปัญหา เมื่อพิจารณาทางเลือกแต่ละทางเลือกแล้ว การตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัตินั้น ผู้บริหารต้องจะคำนึงผลจากการตัดสินใจที่คาดว่าจะตามมาเสมอ และมองหาแนวทางเพื่อปรับปรุงต่อไป โดยเฉพาะการตัดสินใจในภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมผลลัพธ์ที่ตามทีตามมานั้นอาจทำให้เกิดผลกระทบ หรือความขัดแย้ง ดังที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจริยธรรม5 กล่าวว่า “การตัดสินแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ในฐานะผอ. ผมก็ต้องยอมรับผลที่ตามมา และแน่นอนว่าจะทำให้ทุกคนพึงพอใจคงยาก” และผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรม10 ได้กล่าวเสริมในประเด็นนี้อีกว่า “เมื่อตัดสินใจบางอย่างไปแล้ว เกิดผลด้านลบมากกว่าบวก ผมก็ยอมรับเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขต่อไปในงานหน้า” กล่าวคือขั้นตอนการตัดสินใจแก้ปัญหาในขั้นสุดท้ายนี้นอกจากการพิจารณาเลือกทางที่คาดว่าจะได้ผลดีที่สุดแล้ว ขณะเดียวกันต้องมีความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมแก้ไขปัญหาต่อไป

อภิปรายผลการวิจัย

ตอนที่ 1 ประเด็นภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมที่ผู้บริหารโรงเรียนเผชิญในการบริหารงานบุคคลอภิปรายได้ 4 ประเด็นดังนี้

1) กฎระเบียบข้อตกลงกับความจำเป็นส่วนบุคคล จากผลการวิจัยพบว่า บุคลากรทำผิดระเบียบวินัย เช่น การมาทำงานสาย และการขออนุญาตออกนอกบริเวณโรงเรียน ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ผู้บริหารพบมากที่สุด สอดคล้องกับ รจนา สุรินทร์ (2558) ได้กล่าวว่า “เนื่องจากกฎระเบียบข้อตกลงในโรงเรียนเป็นเรื่องใกล้ตัว และความจำเป็นส่วนบุคคลก็เป็นสิ่งที่บุคคลนั้นต้องเผชิญ ดังนั้นจึงกลายเป็นเรื่องง่ายที่บุคคลจะทำผิดระเบียบวินัยจากเรื่องใกล้ตัว” สิ่งที่ผู้บริหารต้องเผชิญคือ สถานการณ์ที่ก้ำกึ่งระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎระเบียบ หรือการอนุโลมข้อบังคับต่างๆ เพื่อตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของบุคลากร ความยากลำบากระหว่างกฎระเบียบกับความจำเป็นส่วนบุคคลเป็นประเด็นที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องใช้เหตุผลในการพิจารณาเป็นประเด็นรายบุคคล เนื่องจากบุคลากรทุกคนล้วนมีสถานการณ์ที่พบเจอแตกต่างกัน

2) มุมมองส่วนบุคคลกับอำนาจหน้าที่ จากผลการวิจัยพบ ผู้บริหารเผชิญความยากลำบากระหว่างมุมมองส่วนบุคคลกับอำนาจหน้าที่อยู่เสมอ ดังที่ McDonald (2004) ได้กล่าวว่า “ทันนทีที่เราก้าวเข้าสู่สังคม เราจะเผชิญกับภาวะความขัดแย้ง เพราะเมื่อเราทำตามอำนาจหน้าที่ สิ่งนั้นอาจขัดกับความคิดเห็นส่วนบุคคล นั่นหมายถึงหลักมนุษยธรรม และเสรีภาพพื้นฐาน” สอดคล้องกับประเด็นปัญหาที่ผู้บริหารพบเจอในการบริหารงานฝ่ายบุคคล เช่น การที่ผู้บริหารออกคำสั่งบางอย่างที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของบุคคลกร ก่อให้เกิดภาวะที่ผู้บริหารต้องคิดไตร่ตรองระหว่างคำสั่งของตนเอง หรือรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของบุคลากร เนื่องจากอำนาจหน้าที่คือสิ่งที่ผู้บริหารต้องใช้เพื่อการดำเนินงาน ในขณะเดียวกัน การรับฟังความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรกระทำ ด้วยเหตุนี้การสั่งการต่างๆของผู้บริหารอาจต้องคำนึงถึงมุมมองส่วนบุคคลของผู้ร่วมกันในขณะเดียวกัน ผู้บริหารต้องใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการถ่วงดุลอำนาจ สิ่งเหล่านี้คือความยากลำบากทางจริยธรรม

3) มาตรฐานชุมชนกับสิทธิส่วนบุคคล จากผลการวิจัยพบว่ามาตรฐานของชุมชุนในบางครั้งขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนของบุคลากร อันเนื่องมาจากความต้องการของแต่ละบุคคลที่หลากหลาย รวมถึงพื้นฐานของคนที่ต้องการอิสรเสรี จึงเป็นที่มาของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ O’Braien และคณะ(2000) ที่กล่าวว่า “เนื่องจากบุคคลแสวงหาอิสรภาพ และเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจขัดแย้งกับมาตรฐานของชุมชนที่ส่งสมมา ดังนั้นการรักษาสมดุลระหว่างเรื่องของบุคคลกับแนวทางของชุมชนจึงมีความจำเป็น” เนื่องจากชุมชนถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเห็นความสำคัญของมาตรฐานของชุมชนในขณะเดียวกันผู้นำที่ดีจะไม่มองข้ามเรื่องสิทธิส่วนบุคคลเช่นกัน ดังนั้นการที่ผู้บริหารต้องอยู่ตรงกลางระหว่างชุมชน และการให้ความสำคัญต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลจึงสร้างสถานการณ์ที่ยากลำบากแก่ผู้บริหาร

4) ความเท่าเทียมกับความยุติธรรม จากผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนเผชิญความยากลำบากกับสถานการณ์ในการเลื่อนขั้นเงินเดือน การให้รางวัล ในประเด็นความเท่าเทียมและยุติธรรม รวมถึงการมอบหมายงานตามความยากง่ายของงานที่แตกต่างกันให้แต่ละบุคคล สอดคล้องกับ Krause (2008) กล่าวว่า “การที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ได้แปลว่า นี่คือความยุติธรรมหรือความเป็นธรรม เพราะคนด้อยโอกาสถึงแม้จะได้รับสิทธิเท่ากับคนที่มีโอกาสมากกว่าหลายเท่า อย่างไรก็ไม่สามารถจะยืนอยู่ในระดับเดียวกันกับอีกคนหนึ่งได้” ภาวการณ์เช่นนี้เมื่อเกิดขึ้นในองค์กรผู้บริหารจะยึดแค่หลักความเท่าเทียมหรือความยุติธรรมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เนื่องจากความเท่าเทียมบางครั้งอาจไม่ยุติธรรม และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในองค์กรได้ ดังนั้นผู้บริหารจะยึดความเท่าเทียมอย่างเดียวไม่ได้ต้องคำนึกถึงความยุติธรรมตามโอกาสของคนที่ไม่เท่ากันด้วย กล่าวคือคนที่มีโอกาสน้อยที่สุด อาจสมควรได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมมากที่สุด

จะเห็นได้ว่าประเด็นความยากลำบากทางจริยธรรมของผู้บริหารในการบริหารงานฝ่ายบุคคลเกิดขึ้นเสมอ เมื่อประเด็นปัญหาสองประเด็นขัดแย้งกัน ซึ่งจากการผลการวิจัยพบว่าผู้นำเผชิญกับประเด็นความยากลำบากในเรื่องดังนี้ ความคิดเห็นส่วนตัวกับอำนาจหน้าที่ กฎระเบียบข้อตกลงกับความจำเป็นส่วนบุคคล มาตรฐานชุมชนกับสิทธิส่วนบุคคล และความเท่าเทียมกับความยุติธรรม ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำมาซึ่งวิธีการจัดการและการแก้ปัญหาของผู้บริหารต่อไป

ตอนที่ 2 วิธีรับมือกับประเด็นความยากลำบากทางจริยธรรม สรุปได้ 4 ขั้นตอนดังนี้

1) กำหนดและวิเคราะห์สภาพปัญหา จากผลการวิจัยพบว่าเมื่อเผชิญกับสถานการณ์อันนำไปสู่ความยากลำบากทางจริยธรรม ประการแรกผู้บริหารมองปัญหาผ่านการวิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วน สถานการณ์นั้นเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร ขั้นตอนแรกเมื่อเจอความยากลำบากทางจริยธรรมคือต้องวิเคราะห์ปัญหาให้ถี่ถ้วน กล่าวคือการกำหนดและการวิเคราะห์ประเด็นปัญหา เป็นสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก่อนขั้นตอนอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับ พลันเกต และแอตเนอร์ (Plunkett & Attner, 1994) ได้เสนอลำดับขั้นตอนของกระบวนการตัดสินใจเป็น 7 ขั้นตอนดังนี้ อ้างอิงจากกุลชลี ไชยนันตา(2539) ขั้นที่1 การระบุปัญหา เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการระบุปัญหาได้ถูกต้องหรือไม่ ย่อมมีผลต่อการดำเนินการในขั้นต่อๆ ไปของกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการตัดสินใจด้วย ในขณะที่สุวกจิ ศรีปัดถา (2555) วิเคราะห์ขั้นตอนการตัดสินใจไว้ 5 ขั้นตอน โดย ซึ่งมีความแตกต่างและมีจุดร่วมกับแนวคิดของ พลันเกต และแอตเนอร์ ดังนี้ ขั้นที่ 1 การระบุปัญหา หมายถึง การชี้ชัดถึงปัญหา และการค้นหาวาเหตุของ ปัญหาเหล่านั้นว่าเกิดจากอะไร ซึ่งปัญหาและสาเหตุของปัญหาเป็นสิ่งที่สะสมมาแต่ เวลาในอดีต

2) วิเคราะห์ผลลัพธ์ ผลการวิจัยพบว่าการวิเคราะห์ผลลัพธ์เมื่อเกิดการตัดสินใจหรือเลือกทางใดทางหนึ่ง ผู้ให้ข้อมูลเน้นว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ปัญหาขึ้นผู้นำต้องพยากรณ์ถึงผลที่จะตามมาเมื่อตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งไป ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารโรงเรียนท่านอื่นยังได้ยกวิธีการนี้เป็นวิธีในการรับมือกับความยากลำบากที่เกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นเสมือนกันคิด และจำลองสถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้ได้มาซึ่งการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ดังนั้นการวิเคราะห์ผลลัพธ์จึงเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้บริหารแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นซึ่งสอดคล้องกับ ศิริพร พงศ์ศรีโรจน์ (2540) กล่าวว่า การตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการ หมายถึง การเลือกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ หรือการเลือกทางดำเนินการที่เห็นว่าดีที่สุดทางใดทางหนึ่ง จากทางเลือกหลายๆ ทาง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการหรือการวินิจฉัยสั่งการ คือ การชั่งใจ ไตร่ตรองและตัดสินใจเลือกทางดำเนินงานที่เห็นว่าดีที่สุดทางใดทางหนึ่งจากหลายๆ ทางเพื่อให้ บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ ในขณะที่ บรรยงค์ โตจินดา (2548) กล่าวว่า การวินิจฉัยสั่งการหรือการตัดสินใจ หมายถึง การที่ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาพิจารณาตัดสินใจและสั่งการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การวินิจฉัยสั่งการ หรือการตัดสินใจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะการวินิจฉัยสั่งการจะเป็นการ เลือกทางเลือกดำเนินการที่ดีที่สุดในบรรดาทางเลือกหลายๆทาง

3) ทบทวนจริยธรรม นโยบาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า ประเด็นนี้ผู้บริหารให้ความเห็นที่สอดคล้องกันโดยเนื่องจากการทำงานในระบบราชการต้องคำนึงถึงจริยธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายและกฎระเบียบ จึงต้องมีการทบทวนเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน กล่าวคือ ขั้นทบทวนหลักจริยธรรม นโยบายองค์กร และระเบียบที่เกี่ยวกับองค์กร เป็นขั้นตอนการรับมือต่อสถานการณ์ความยากลำบากที่มีผลอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งสอคล้องกับคู่มือการพัฒนาและส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้าราชการพลเรือน (2555) ระบุไว้ว่าจรรยาบรรณหรือจรรยาในการปฏิบัติงาน หมายถึง คุณความดีที่บุคคลที่ทำงานยึดเป็นข้อปฏิบัติ โดยกฎหมายใช้เป็นสิ่งบังคับบุคคลโดยทั่วไป ส่วนผู้ประกอบอาชีพควรมีมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพว่าควรปฏิบัติหน้าที่อย่างไรจึงมีประสิทธิภาพสูงสุดควรดำรงตนในสังคมอย่างไรจึงมีความเหมาะสมเพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งอาชีพ

4) ตัดสินใจเลือกวิธีจัดการปัญหา ผลการวิจัยพบว่าเมื่อพิจารณาทางเลือกแต่ละทางเลือกแล้ว การตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดเพื่อนำไปปฏิบัติ โดยผู้บริหารจะคำนึงผลการตัดสินใจจะคาดว่าจะตามมาเสมอ และมองหาแนวทางเพื่อปรับปรุงต่อไป โดยเฉพาะการตัดสินใจในภาวะความยากลำบากทางจริยธรรมผลลัพธ์ที่ตามทีตามมานั้นอาจทำให้เกิดผลกระทบ หรือความขัดแย้ง กล่าวคือขั้นตอนการตัดสินใจแก้ปัญหาในขั้นสุดท้ายนี้เมื่อได้พิจารณาเลือกทางที่คาดว่าจะได้ผลดีที่สุดแล้ว ขณะเดียวกันต้องมีความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับ สุวกจิ ศรีปัดถา (2555) กล่าวว่าการตัดสินใจ ถือเป็นความสามารถหลักของผู้บริหารทุกคน ผู้บริหารที่ตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ คือ เหมาะสม เวลา โอกาส ศักยภาพ และความต้องการของทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้อง ย่อมจะทำให้การบริหารงานดำเนินไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผู้บริหารที่ดีจึงต้องมีทักษะและมีความสามารถในการตัดสินใจที่ดีการตัดสินใจจึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้บริหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสอดคล้องกับรังสรรค์ ประเสริฐศรี (2548) ให้ความหมายว่าการตัดสินใจ เป็นขั้นตอนการตัดสินใจเลือกจากทางเลือกหลาย ๆ ทางเลือก โดยมีความคาดหวังว่าจะนําไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ หรือเป็นกระบวนการในการเลือกรูปแบบของการปฏิบัติ เพื่อจัดการกับปัญหาและโอกาสที่เกิดขึ้น

สรุปผลการวิจัย

ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารเผชิญกับประเด็นความยากลำบากทางจริยธรรมในการบริหารงานฝ่ายบุคคล ดังนี้ 1) ความคิดเห็นส่วนตัวกับอำนาจหน้าที่ 2) กฎระเบียบข้อตกลงกับความจำเป็นส่วนบุคคล 3) มาตรฐานชุมชนกับสิทธิส่วนบุคคล และ 4) ความเท่าเทียมกับความยุติธรรม โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้บริหารมีแนวทางในการแก้ไขและรับมือกับประเด็นที่เป็นปัญหาตามลำดับขั้นดังนี้

1) กำหนดและวิเคราะห์ปัญหา 2) วิเคราะห์ผลลัพธ์ 3) ทบทวนจริยธรรม นโยบาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 4) ตัดสินใจเลือกวิธีจัดการปัญหา

ข้อเสนอแนะ

1. ผลการวิจัยประเด็นความยากลำบากทางจริยธรรม (Ethical Dilemma) ในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารโรงเรียนนั้น พบประเด็นที่เด่นชัด 4 ประเด็น และการพบวิธีการในการรับมือกับปัญหาของบุคคลากร 4 ขั้นตอน อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ในการวิจัยครั้งต่อไปผู้วิจัยอาจขอบเขตการวิจัยออกเป็นการบริหารโรงเรียนทั้ง 4 ฝ่ายงาน

2. การบริหารงานบุคคลนั้น ผู้บริหารโรงเรียนย่อมเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากอยู่เสมอ ดังนั้นผลจากการวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจสถานการณ์ยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อ่านที่เป็นผู้บริหาร อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิธีการรับมือกับปัญหาเหล่านนั้นอีกด้วย

3. ความยากลำบากทางจริยธรรมในการบริหารงานบุคคลนั้น ผู้บริหารจะต้องมีภาวะความเป็นผู้นำอย่างสูง และอาศัยหลักการบริหารทั้งศาสตร์และศิลป์มาใช้ในการบริหารบุคคลและการตัดสินใจตามสถานการณ์ด้วยอำนาจหน้าที่โดยชอบของผู้นำตามกฎหมาย

โพสต์โดย น้ำ : [25 พ.ค. 2565 เวลา 10:45 น.]
อ่าน [2331] ไอพี : 171.7.223.175
หากข้อความนี้ไม่เหมาะสม คลิก คลิกปุ่มนี้ หากเห็นว่าข้อความนี้ไม่เหมาะสม
 
 

โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความเห็น
1. ข้อความของท่านจะขึ้นแสดงโดยอัตโนมัติทันทีที่ได้รับข้อมูล
2.
ห้ามโพสต์ ข้อความยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทางสังคม ข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสียต่อบุคคลที่สาม, เบอร์โทรศัพท์,
รูปภาพที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนหรือภาพลามกอนาจาร หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
ขอให้ผู้ตั้งกระทู้รับผิดชอบตัวเอง
และรับผิดชอบต่อสังคม ถ้ารูปภาพ หรือข้อความใดส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น ทีมงานพร้อมจะส่งรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่
เพื่อตามจับตัวผู้กระทำผิดต่อไป

3.
สมาชิกที่โพสต์สิ่งเหล่านี้ อาจถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากผู้เสียหายได้
4. ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. ทุกความคิดเห็นเป็นข้อความที่ทางผู้เยี่ยมชมเข้ามาร่วมตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ ทางเว็บไซต์ kroobannok.com ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
6. ทางทีมงานขอสงวนสิทธิ์ในการลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสมได้ทันที โดยไม่ต้องมีการชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความเห็นนั้นทั้งสิ้น

7. หากพบเห็นรูปภาพ หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งมาที่อีเมล์ kornkham@hotmail.com เพื่อทำการลบออกจากระบบต่อไป


 ** พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐**

ขออภัยในความไม่สะดวก เนื่องจากเราประสบปัญหา
มีผู้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่และไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก
ครูบ้านนอกดอทคอมจึงขอความร่วมมือสมาชิก
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความเห็นครับ


  

สมัครสมาชิกใหม่
 

 

Advertisement

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เปิดอ่าน 16,090 ครั้ง
การพิจารณาค่าความจริง (Truth value)
การพิจารณาค่าความจริง (Truth value)

เปิดอ่าน 16,528 ครั้ง
ฮือฮา พญานาคโผล่รับเครื่องสักการะ หลังพิธีบุญกฐินน้ำ
ฮือฮา พญานาคโผล่รับเครื่องสักการะ หลังพิธีบุญกฐินน้ำ

เปิดอ่าน 1,733 ครั้ง
ประโยชน์ของโหระพา
ประโยชน์ของโหระพา

เปิดอ่าน 2,872 ครั้ง
"พริกด่างญี่ปุ่น" พืชผักสวนครัว ผลทานได้
"พริกด่างญี่ปุ่น" พืชผักสวนครัว ผลทานได้

เปิดอ่าน 13,893 ครั้ง
ว่าด้วยกรณีมหาวิทยาลัยปิดเปิดเทอมตามอาเซียน??? โดย สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
ว่าด้วยกรณีมหาวิทยาลัยปิดเปิดเทอมตามอาเซียน??? โดย สุพจน์ เอี้ยงกุญชร

เปิดอ่าน 12,763 ครั้ง
เทคนิคการจัดการชั้นเรียนด้วยโมเดล 3 C"s
เทคนิคการจัดการชั้นเรียนด้วยโมเดล 3 C"s

เปิดอ่าน 9,072 ครั้ง
โอเน็ต!ยัง โอเค?
โอเน็ต!ยัง โอเค?

เปิดอ่าน 18,465 ครั้ง
"เขียนไลน์แบบไหน คนชอบอ่าน" โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
"เขียนไลน์แบบไหน คนชอบอ่าน" โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เปิดอ่าน 32,979 ครั้ง
ลายมือมหาเศรษฐี
ลายมือมหาเศรษฐี

เปิดอ่าน 443,936 ครั้ง
     กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘  พร้อมตัวอย่าง ง่ายต่อการจดจำ
กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ พร้อมตัวอย่าง ง่ายต่อการจดจำ

เปิดอ่าน 16,322 ครั้ง
เม็ดแมงลัก สมุนไพรเด็ด ช่วยให้หุ่นสวย สุขภาพดี
เม็ดแมงลัก สมุนไพรเด็ด ช่วยให้หุ่นสวย สุขภาพดี

เปิดอ่าน 8,403 ครั้ง
เทคนิคการทำตลาดบน Social Media
เทคนิคการทำตลาดบน Social Media

เปิดอ่าน 19,985 ครั้ง
จังหวัดไหนมีความสุขมากที่สุดในประเทศไทย ปี 2557?
จังหวัดไหนมีความสุขมากที่สุดในประเทศไทย ปี 2557?

เปิดอ่าน 15,843 ครั้ง
แนวทางการสร้างคอร์สแวร์
แนวทางการสร้างคอร์สแวร์

เปิดอ่าน 30,574 ครั้ง
ยิมนาสติก
ยิมนาสติก

เปิดอ่าน 32,286 ครั้ง
ข้อปฏิบัติสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ( สปช. 105/29 ) ( สปช. 2/28 3ชั้น ) ( สปช. 2/28 4 ชั้น)
ข้อปฏิบัติสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ( สปช. 105/29 ) ( สปช. 2/28 3ชั้น ) ( สปช. 2/28 4 ชั้น)
เปิดอ่าน 11,010 ครั้ง
วิธีถนอม Handy drive สุดรัก
วิธีถนอม Handy drive สุดรัก
เปิดอ่าน 29,624 ครั้ง
อาหารมงคลในงานแต่งแบบไทย
อาหารมงคลในงานแต่งแบบไทย
เปิดอ่าน 12,115 ครั้ง
มัลเบอร์รี่ ผลไม้สุดเทรนดี้ ประจำปี 2013
มัลเบอร์รี่ ผลไม้สุดเทรนดี้ ประจำปี 2013
เปิดอ่าน 2,994 ครั้ง
การฝังเข็ม ดีอย่างไร
การฝังเข็ม ดีอย่างไร

รายการหลัก

หน้าแรก
ข่าว/บทความ
สมุดเยี่ยม
กระดานสนทนา
เว็บลิงค์
ผู้จัดทำเว็บครูบ้านนอก
ข้อมูลบุคคล
ภาพกิจกรรม
ผู้สนับสนุน

สมาชิก

เข้าสู่ระบบ
คุณครูต้องรู้ไว้
รวมแบบฟอร์มต่างๆ

เว็บน่าสนใจ

เว็บไซต์ สพฐ.
กระทรวงศึกษาธิการ
เครื่องมือวิทยาศาสตร์
เครื่องมือวัด
เครื่องมืออุตสาหกรรม
เกมส์
แหล่งรวมเกมส์

แหล่งรวมเกมส์
สพป.มุกดาหาร



 เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ คลายเครียด

เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้
      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ