ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว
ผู้วิจัย พรรณวษา บานเย็น
ปีการศึกษา 2557
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพ ของชุดกิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว และ 3) เพื่อศึกษาความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัย จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนอนุบาลช้าง สังกัดเทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา จำนวน 28 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว จำนวน 8 ชุด และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ชนิด 3 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว มีประสิทธิภาพ 83.93/85.64 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลช้าง ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มิติสัมพันธ์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 สาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว มีทักษะด้านมิติสัมพันธ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลช้าง มีความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ในด้านการจำภาพความเหมือนและความแตกต่างของวัตถุ ด้านการรับรู้ตำแหน่งของวัตถุที่สัมพันธ์กับพื้นที่ และด้านการมองวัตถุกับการเคลื่อนไหว หลังเรียนและก่อนเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01