รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
โรงเรียนท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11
นางสาวดำหริ จันทชูโต
รองผู้อำนวยการโรงเรียนท่าชนะ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 669 คน ประกอบด้วยครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 52 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 302 คน และนักเรียนจำนวน 302 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินจำนวน 8 ฉบับ ประกอบด้วย แบบสอบถามด้านบริบทจำนวน 1 ฉบับ แบบสอบถามด้านกระบวนการจำนวน 1 ฉบับ แบบบันทึกการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการจำนวน 1 ฉบับ แบบสอบถามด้านผลผลิตจำนวน 1 ฉบับ แบบบันทึกพฤติกรรมนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการจำนวน 1 ฉบับ และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการจำนวน 3 ฉบับ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการใช้แบบสอบถาม และแบบบันทึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงประมาณด้วยค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS For Windows และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมิน
ผลการประเมินพบว่า ตัวชี้วัดทุกตัว ประเด็นการประเมินทุกประเด็น และภาพรวมของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งหมด
1. ด้านบริบทของโครงการอยู่ในระดับสูงที่สุดและผลของตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด มีดังนี้
1.1 ความต้องการและความจำเป็นในการจัดทำโครงการ อยู่ในระดับสูง
1.2 ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับกิจกรรมในโครงการ อยู่ในระดับสูง
1.3 ความชัดเจนของเป้าหมายและองค์ประกอบของโครงการ อยู่ในระดับสูง
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการอยู่ในระดับสูงและผลของตัวชี้วัด 2 ตัวชี้วัด มีดังนี้
2.1 จำนวนบุคลากรตามเกณฑ์ที่กำหนด อยู่ในระดับสูง
2.2 งบประมาณตามเกณฑ์ที่กำหนด อยู่ในระดับสูง
3. ด้านกระบวนการของโครงการอยู่ในระดับสูงที่สุดและผลของตัวชี้วัด 5 ตัวชี้วัด มีดังนี้
3.1 กระบวนการดำเนินงานตามโครงการ อยู่ในระดับสูง
3.2 การนิเทศ กำกับ ติดตาม อยู่ในระดับสูง
3.3 การประสานงาน อยู่ในระดับสูงที่สุด
3.4 การให้ความสำคัญของผู้บริหารและผู้รับผิดชอบโครงการ อยู่ในระดับสูงที่สุด
3.5 การมีส่วนร่วมของบุคลากรในการดำเนินโครงการ อยู่ในระดับสูง
4. ด้านผลผลิตของโครงการอยู่ในระดับสูงที่สุดและผลของตัวชี้วัด 4 ตัวชี้วัด มีดังนี้
4.1 นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน อยู่ในระดับสูง
4.2 นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการ 4 กิจกรรม อยู่ในระดับสูงที่สุด
4.3 นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการ 4 กิจกรรมได้ถูกต้อง อยู่ในระดับสูง
4.4 ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ อยู่ในระดับสูงที่สุด
จากผลการประเมินตัวชี้วัดและประเด็นการประเมินดังกล่าว ทำให้ผลการประเมินโครงการในภาพรวม อยู่ในระดับสูง
ข้อเสนอแนะ
1. จากผลการประเมินที่พบว่า ผลการประเมินโครงการในภาพรวมผ่านเกณฑ์ในระดับสูง จึงควรดำเนินโครงการต่อไป โดยการพัฒนากิจกรรมในรูปแบบเดิมหรือเพิ่มรูปแบบให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
2. จากผลการประเมิน พบว่าผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าในภาพรวมอยู่ในระดับสูง แต่จากการที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนในฝัน งบประมาณที่มีอยู่มีจำนวนจำกัด โรงเรียนควรจัดหางบประมาณเพิ่มเติมมาช่วยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยอาจประสานความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนหรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. จากผลการประเมินที่ พบว่า ผลการประเมินด้านกระบวนการในภาพรวมอยู่ในระดับสูง ในที่นี้แม้ตัวชี้วัดด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านนั้น โรงเรียนก็ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของบุคลากร รวมทั้งการนิเทศ กำกับ ติดตามด้วย
4. จากผลการประเมินที่ พบว่า ผลการประเมินด้านผลผลิตในภาพรวมอยู่ในระดับสูงที่สุด ในที่นี้มีตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินที่มีคะแนนต่ำกว่าตัวชี้วัดอื่นๆ คือนักเรียนปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการได้ถูกต้อง ดังนั้นโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกคน เพราะผู้เรียนทุกคนย่อมมีความแตกต่างในระดับการเรียนรู้ควรบูรณาการการจัดกิจกรรมรักการอ่านร่วมกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน