ในการพัฒนาครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัยได้แก่ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 2) เพื่อประเมินประสิทธิผลการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้
2.1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กับการเรียนแบบปกติ 2.2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นระหว่างการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกับการเรียน
แบบปกติ 2.3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ และ 3) เพื่อประเมินการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) การวิจัย (Research) 2) การพัฒนา (Development) 3) การวิจัย (Research) และ 4) การพัฒนา (Development) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลคือ ครูที่ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาสังคมศึกษา จำนวน 5 คน นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีสร้างความรู้ จำนวน 32 คน การสอนแบบปกติ จำนวน 30 คน และครูที่ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาสังคมศึกษา จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตชั้นเรียน คู่มือครูสำหรับการใช้รูปแบบการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินแผนฯ แบบสอบถามความพึงพอใจ มีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.45-0.76 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.83 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.25-0.75 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.83 แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา มีค่าความสอดคล้องอยู่ระหว่าง 0.71-1.00 และแบบประเมินรูปแบบการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ t-test (Independent system)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. การสร้างรูปแบบการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น มีองค์ประกอบที่พัฒนาขึ้น 6 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนรู้ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรียกว่า PPSSE Learning Model ซึ่งคำว่า PPSSE ซึ่งมาจากพยัญชนะ ตัวแรกของแต่ละขั้นของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียม (Preparation) ขั้นที่ 2 ขั้นนำเสนอเนื้อหาหรือสร้างสถานการณ์ (Presentation) ขั้นที่ 3 ขั้นเรียนรู้ (Study) ขั้นที่ 4 ขั้นสรุป (Summary) และขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล (Evaluation) ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบจากผู้เชี่ยวชาญมีคุณภาพเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.38
2. ผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ผลที่ปรากฏดังนี้
2.1 ประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) เท่ากับ 85.29 และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) เท่ากับ 84.48 ดังนั้น แผนการจัดการเรียนรู้แบบ PPSSE กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (สาระหน้าที่พลเมือง) เรื่อง กฎหมายในชีวิตประจำวัน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.29/84.48 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2.2 ผลการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนระหว่างกลุ่มทดลองที่เรียนรู้ด้วยแผนและกลุ่มควบคุม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุม
2.3 ผลการทดสอบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยรวมมีความแตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มทดลองที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีสร้างความรู้ มีระดับคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ อยู่ในระดับดี ส่วนกลุ่มควบคุมที่เรียนตามแบบปกติจะมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ อยู่ในระดับปานกลาง ทุกด้าน
2.4 นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้แบบ PPSSE กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (สาระหน้าที่พลเมือง) เรื่อง กฎหมายในชีวิตประจำวัน มีความพึงพอใจต่อ การเรียนรู้โดยรวมและเป็นรายด้านอยู่ในระดับมาก
3. ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมมีความคิดเห็นต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก