ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย ผกาชาติ รักผกาวงศ์
สถานศึกษา โรงเรียนนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การดำเนินงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 75/75 (E1/E2) (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา2558 โรงเรียนนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 6 ห้อง รวม 221 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม (Sampling Unit) จากการจับฉลากห้องเรียนจากนักเรียนทั้งหมด 6 ห้องเรียนซึ่งทางโรงเรียนได้จัดผู้เรียนของแต่ละห้องแบบคละความสามารถ ได้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 46 คนและเป็นกลุ่มที่ได้รับมอบหมายให้สอน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ (1) ชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 6 ชุด (2) แผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน (ค33102) เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 18 แผน (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน (ค33102) เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 30 ข้อ (4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้รายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน(ค33102) เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะ การเรียนรู้ E1/E2 และการทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1.ชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 6 ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 79.72/78.19 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 75/75
2.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยชุดฝึกทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมเท่ากับ 4.52 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.56 แสดงว่านักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านสื่อการเรียนรู้ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.54 รองลงมาได้แก่ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.52 ด้านเนื้อหา ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.50 และด้านการวัดและประเมินผล ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.50 ตามลำดับ