บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้
เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพรูปแบบการเรียนการสอน ตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอน ตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้
เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนและหลังเรียน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอน ตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยกำหนดรูปแบบการทดลองแบบหนึ่งกลุ่มทดสอบก่อนเรียนและ หลังเรียน (OneGroup Pretest Posttest Design) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/4 โรงเรียนบัวขาว จำนวน 46 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณวิชาพระพุทธศาสนา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการจัดการเรียนรู้ ตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณวิชาพระพุทธศาสนา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แบบประเมินความสอดคล้องของรูปแบบการเรียนการสอน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนกาสอนที่พัฒนาขึ้นนี้มีชื่อว่า MARCA Model โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนองและสิ่งสนับสนุน รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ 1) ทบทวนความรู้/นำเสนอตัวอย่าง (Modeling : M ) หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่ครู เป็นผู้เสนอตัวอย่าง โดยครูผู้สอนเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อกระตุ้นเร้าความสนใจของผู้เรียนได้แสดงออกถึงความเข้าใจเดิมที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียนโดยการใช้เทคนิคที่หลากหลาย เช่น ระดมสมอง อภิปรายกลุ่ม หรือ ใช้สถานการณ์จำลอง ข่าว เหตุการณ์ กรณีตัวอย่าง 2) ขั้นวิเคราะห์ปัญหา (Analysis : A ) หมายถึง ความสามารถของนักเรียนในการใช้ความรู้ความเข้าใจและทักษะในคิดการวิเคราะห์ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ ตามลักษณะการคิดวิเคราะห์ มี 3 ลักษณะ ดังนี้ (1)วิเคราะห์ความสำคัญ เป็นการคิดแบบแยกแยะประเด็นหรือจำแนกว่าชิ้นใด ส่วนใด เรื่องใด เหตุการณ์ใด ตอนใด สำคัญที่สุด หรือหาจุดเด่น จุดประสงค์สำคัญ สิ่งที่ซ่อนเร้น (2) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นการคิดค้นหาความเกี่ยวข้องระหว่างลักษณะสำคัญของเรื่องราว เหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ว่าสองชิ้นส่วนใดสัมพันธ์กัน สอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร รวมถึงการอุปมาอุปไมย และ(3) วิเคราะห์หลักการ เป็นการคิดพิจารณาดูชิ้นส่วน หรือส่วนปลีกย่อยต่างๆว่าทำงานหรือเกาะยึดกันได้ หรือคงสภาพเช่นนั้นได้เพราะให้หลักการเป็นแกนกลาง โครงสร้าง หรือหลัก หรือวิธีการที่ยึดถือ 3) ขั้นสะท้อนความคิด (Reflection : R) คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนกับเพื่อน หรือครูกับนักเรียน ซึ่งเป็นการอธิบายสิ่งที่ตนเองคิด จากการปฏิบัติ หรือจากการได้สังเกต และฟังเพื่อนพูด สิ่งที่จำได้จากกระบวนการคิด ความรู้สึก ภาพจินตนาการ เจตคติ ทักษะ ความคิดที่เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้อะไรบ้าง 4) ขั้นสรุป (Conclusion : C ) เป็นขั้นที่ผู้เรียนสรุปผลจากการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันมาสรุป เป็นผังความคิด หรือโครงงาน โครงการ เขียนตอบ บรรยาย เขียนรายงาน 5) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ (Application :A ) เป็นขั้นนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
2.ประสิทธิภาพ (E1/E2) ของ รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้
เพื่อส่งเสริมความสามารถการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณวิชาพระพุทธศาสนา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เท่ากับ 86.52 /85.00 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80 / 80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. ความสามารถการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณวิชาพระพุทธศาสนา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณวิชาพระพุทธศาสนา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด