อมรรัตน์ โสธารัตน์. (2560). การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การจัดการเรียนรู้ โรงเรียนท่าฉางวิทยาคาร
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนท่าฉางวิทยาคาร มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการ ความจำเป็น ความสอดคล้อง และความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการ ความพร้อมของอาคารสถานที่ ความเพียงพอของงบประมาณ และความเหมาะสมของปัจจัยที่ใช้ในการดำเนินงาน ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการวางแผน การมีส่วนร่วมในการพัฒนา การมีส่วนร่วมในการใช้แหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ครู และการนิเทศ ติดตามโครงการ และประเมิน ผลผลิตของโครงการ เกี่ยวกับปริมาณของแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนา ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของผู้เรียน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อจัดการเรียนการสอนของครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ จำนวน 205 คน ประกอบด้วย นักเรียนจำนวน 129 ครู จำนวน 9 คน และผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 67 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดมาตราประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 7 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .82 ฉบับที่ 2 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .89 ฉบับที่ 3 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .89 ฉบับที่ 4 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .92 ฉบับที่ 5 มีค่าสัมประสิทธิ์ ความเที่ยง.80 ฉบับที่ 6 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .94 และฉบับที่ 7 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ผลผลิต ปัจจัยนำเข้า บริบท และกระบวนการ ผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบท พบว่าโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและ ผ่านเกณฑ์การประเมินเรียงตามลำดับมากไปหาน้อย คือ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ และความต้องการจำเป็นของโครงการ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นตัวชี้วัดพบว่าทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการ ความพร้อมของอาคารสถานที่จัดกิจกรรม ความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงาน ส่วนความเพียงพอของงบประมาณมีเพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 100
3. ผลการประเมินกระบวนการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและ ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การมีส่วนร่วมของนักเรียนเกี่ยวกับ การวางแผนดำเนินงานพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน การนิเทศ ติดตามโครงการ
และการมีส่วนร่วมของครูเกี่ยวกับการวางแผนดำเนินงานการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
4. ผลการประเมินผลผลิต โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ปริมาณของแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนา คิดเป็นร้อยละ 98.30 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของผู้เรียนอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน ครูมีทักษะการสอนโดยใช้แหล่งเรียนรู้ อยู่ในระดับมากที่สุด ที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 71.66 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดย่อยมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความพึงพอใจของนักเรียน ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน และความพึงพอใจของครู
ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เป็นภารกิจหลักที่สถานศึกษาต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดกระบวนการเรียนรู้ จากผลการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนท่าฉางวิทยาคาร พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน จึงควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปและผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพผลยิ่งขึ้น ดังนี้
1. เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนรวมในการพัฒนาเป็นการตอบสนองความต้องการจำเป็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียนอย่างแท้จริง
2. ควรสนับสนุนให้มีการประสานการปฏิบัติงานระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการ ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินการคล่องตัวและบรรลุผลตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ