ชื่อเรื่อง : รายงานผลการพัฒนาชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง ส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ชั้นเตรียมความพร้อม ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
ชื่อผู้วิจัย : นางสุภาวดี บุญช่วย
ปีที่ศึกษา 2560
ประเภทผลงานวิชาการ : ผลงานวิจัย
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 2) เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 3) เปรียบเทียบทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ก่อนและหลังการใช้กิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุงเพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวที่มีต่อชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ชั้นเตรียมความพร้อม ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ปีการศึกษา 2560 อายุระหว่าง 4-10 ปี จำนวน 8 คน เลือกแบบเจาะจง และผู้ปกครองของเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ ชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ จำนวน 10 กิจกรรม แบบประเมินชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุงเพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของผู้ปกครองเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวที่มีต่อชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
1. ผลการพัฒนาชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว พบว่า ชุดกิจกรรมที่สร้างขึ้นมีจำนวน 10 กิจกรรม ดังนี้ 1) การดันตัวลุกจากพื้นในท่านั่ง 2) การเกาะราว 3) การก้มตัว 4) การเขย่งปลายเท้า 5) การยืนเกาะราวย่ำเท้าอยู่กับที่ 6) การเดินแบบสไลด์ข้างทางซ้าย 7) การเดินแบบสไลด์ข้างทางขวา 8) การจับราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เดินไปข้างหน้า 9) การจับราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เดินถอยหลัง 10) การเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าชุดกิจกรรมโดยภาพรวมมีความสอดคล้อง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.90
2. ผลการตรวจสอบชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือสุขภาพหรือการเคลื่อนไหว พบว่า มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 86.84/81.44 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
3. ผลการเปรียบเทียบทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หลังจากใช้ชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหวมีทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หลังฝึกสูงกว่าก่อนฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหลังจากชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว พบว่า ผู้ปกครองของเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวมีความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง เพื่อส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่า X-bar =4.64 , S.D.=0.12
กิตติกรรมประกาศ
รายงานการวิจัยผลการพัฒนาชุดกิจกรรมราวฝึกเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยพยุง ส่งเสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ชั้นเตรียมความพร้อม ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้ด้วยความอนุเคราะห์ให้การช่วยเหลืออย่างดียิ่งจาก นางสุวรรณา นุกูลกิจ นางอุบลรัตน์ นำนาผล นางมยุรา มณีวงศ์ นางสมัญญา โสภาพล และนายสุพล บุญธรรม ที่กรุณาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ตรวจสอบ แนะนำแก้ไขข้อบกพร่อง จนรายงานการวิจัยฉบับนี้สำเร็จสมบูรณ์
นอกจากนี้ ขอขอบคุณผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการวิจัย และให้ความช่วยเหลือในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างดียิ่ง ท้ายนี้ ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณบิดา มารดา ตลอดถึงเพื่อนครู บุคลากร ผู้ปกครอง นักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือ และให้กำลังใจด้วยดีตลอดมา
คุณค่าและประโยชน์ของการวิจัยครั้งนี้ ขอบูชาแด่พระคุณของคุณพ่อ คุณแม่ ครู อาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอน ทำให้ผู้วิจัยได้รับการศึกษาจนประสบความสำเร็จมีอาชีพที่มั่นคงเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และให้ความเมตตาแก่ผู้วิจัยมาโดยตลอด เป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้การศึกษาวิจัยฉบับนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
นางสุภาวดี บุญช่วย