ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฏีคอนสตรัคติวิสต์
เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางสาวลภัสรา ขจรโมทย์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
ปีการศึกษา 1/2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตาม
แนวคิดทฤษฏีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
และ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มี จำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ ร้อยละ 70 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเมืองสมเด็จ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนนักเรียน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตัคติเรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร จำนวน 15 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 การวิจัยครั้งใช้การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และสรุปความเรียง
สรุปผลการวิจัยพบว่า
การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฏีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง
พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนโดยครูแจ้งจุดประสงค์ การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ ทบทวนความรู้เดิมของนักเรียน กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้เนื้อหาใหม่ 2) ขั้นพัฒนาทักษะวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เป็นวิธีการเรียนรู้จากการเผชิญปัญหา โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์เดิม มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา ได้ฝึกทักษะการคิดฝึกทักษะการสังเกต การให้เหตุผลในการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหา ได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองมีทักษะในการแก้ปัญหาตามกระบวนการแก้ปัญหา และสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเองได้ (1) ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหาและแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล เป็นขั้นที่ผู้ศึกษาเสนอสถานการณ์ปัญหา และฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้กับนักเรียน มีกระบวนการ 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นทำความเข้าใจปัญหาหรือวิเคราะห์ปัญหา ต้องอาศัยทักษะคณิตศาสตร์ ทักษะการแปลความหมายทางภาษา ซึ่งผู้เรียนควรวิเคราะห์ได้ว่าโจทย์ต้องการให้หาอะไร ขั้นที่ 2 ขั้นวางแผนแก้ปัญหา ต้องอาศัยทักษะการนำความรู้ หลักการทฤษฏีที่เรียนรู้มาแล้ว ทักษะการเลือกใช้ทฤษฏีที่เหมาะสม เช่น ใช้การเขียนรูปหรือแผนภาพ ใช้ตารางวิเคราะห์ ใช้การสังเกตแบบรูปและความสัมพันธ์ เขียนตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ ทักษะการประมาณค่า คาดเดาคำตอบมาประกอบการวางแผน ขั้นที่ 3 ขั้นดำเนินการแก้ปัญหา ต้องอาศัยทักษะการคิดคำนวณหรือการดำเนินการทางคณิตศาสตร์ ทักษะการพิสูจน์หรือการอธิบายและแสดงเหตุผล ขั้นที่ 4 ขั้นตรวจสอบ ต้องอาศัยทักษะการคำนวณ การประมาณคำตอบ การพิจารณา ความสมเหตุสมผลของคำตอบ (2) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มเป็นวิธีการเรียนรู้ร่วมกัน นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวบรวมวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้อย่างหลากหลาย และอภิปรายร่วมกันในการเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด เป็นวิธีการแก้ปัญหาของกลุ่ม ช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาทั้งด้านความรู้ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการให้เหตุผล กระบวนการคิดและกระบวนการทำงานกลุ่มด้วย ตามกระบวนการแก้ปัญหา 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นทำความเข้าใจปัญหาหรือวิเคราะห์ปัญหา ขั้นที่ 2 ขั้นวางแผนแก้ปัญหา ขั้นที่ 3 ขั้นดำเนินการแก้ปัญหา และขั้นที่ 4 ขั้นตรวจสอบ (3) ขั้นเสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งชั้น เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ปัญหาใหม่ โดยการทำแบบฝึกทักษะที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่หลากหลาย คล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของนักเรียน ผู้เรียนสามารถเลือกแนวทางที่เหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและอธิบายวิธีการแก้ปัญหาของตนตัวแทนกลุ่มนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อชั้นเรียน ตามกระบวนการแก้ปัญหา 4 ขั้นตอน (1) ขั้นสรุป ร่วมกันอภิปรายสรุปสาระสำคัญของบทเรียน (2) ขั้นฝึกทักษะนักเรียนทำแบบฝึกทักษะที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 75.33 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป