ชื่อเรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
โดยใช้ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย
ผู้วิจัย นางวัชราภรณ์ อาสนะ
สถานที่ทำงาน โรงเรียนชุมชนวัดหนองค้อ สังกัดกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี กรมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การสร้างเสริมพฤติกรรมด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัยมีความสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เนื่องจากเป็นพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองของเด็กปฐมวัย ที่อยู่ในช่วงที่มีการพัฒนาสูงสุด ผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการการสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยใช้ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย โดยมีความ มุ่งหมาย ดังนี้ 1) เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยใช้ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา 3) เพื่อประเมินพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย จากการชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของเด็กที่มีต่อการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ โดยใช้ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนชุมชนวัดหนองค้อ สังกัดกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี กรมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 24 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ( Purposive Sampling ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 5 ชนิด ได้แก่ (1) ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา จำนวน 8 ชุด (2) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 8 หน่วยการเรียนรู้ รวม 40 แผน (3) แบบประเมินพัฒนาการด้านสติปัญญา ชั้นอนุบาล ปีที่ 1 (4) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานใช้ t-test ( Dependent Samples)
ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1) ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การ
สร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา มีประสิทธิภาพเท่ากับ 88.88 /94.00 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2) ดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา มีค่าเท่ากับ 0.8871 แสดงว่าผู้เรียนมีพัฒนาการด้านสติปัญญาเพิ่มขึ้น 0.88 หรือคิดเป็นร้อยละ 88.71
3) จากการจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กมีพัฒนาการด้านสติปัญญา อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.84
4) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการร่วมกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัย เรื่อง การสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา จำนวน 8 ชุด อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.76