บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย การพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน
สถานศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแคนดง
จังหวัดบุรีรัมย์
ผู้วิจัย นายณัฐพงษ์ ทองหล่อ
ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแคนดง
จังหวัดบุรีรัมย์
วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย 2562
การพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน
สถานศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ในครั้งนี้
เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อสร้างกลยุทธ์เพื่อส่งเสริม
การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 2) เพื่อดำเนินการและศึกษา
ผลการดำเนินการใช้กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามวงจรของเคมมิสและแม็คทักการ์ท
3) เพื่อประเมินผลการพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม 4) เพื่อศึกษาขวัญกำลังใจของครู
และความพึงพอใจของผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การสร้างกลยุทธ์เพื่อส่งเสริม
การมีส่วนร่วม ระยะที่ 2 การนำกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมไปใช้ตามวงจรของเคมมิสและ
แม็คทักการ์ท (Kemmis & Mc Taggart) ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน (Planning)
การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผลการปฏิบัติการ (Reflection)
ระยะที่ 3 เพื่อประเมินผลการพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม ระยะที่ 4 ศึกษาขวัญกำลังใจของครูและความพึงพอใจของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
เครื่องที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบประเมินผลการดำเนินการโครงการ แบบสอบถามการมีส่วนร่วม แบบสอบถามขวัญกำลังใจของครู และแบบประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง
และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักศึกษา ครู ผู้ปกครอง
และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการวิจัย
การพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์
สามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์
คือ กลยุทธ์ที่ 1 กลยุทธ์การสร้างเสริมความรู้และประสบการณ์ กลยุทธ์ที่ 2 กลยุทธ์การสร้างความรัก
ความศรัทธา กลยุทธ์ที่ 3 กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และกลยุทธ์ที่ 4 กลยุทธ์การสร้าง
ความเป็นหุ้นส่วนขององค์กร
2. การประเมินผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามกลยุทธ์เพื่อส่งเสริม
การมีส่วนร่วม จำนวน 14 โครงการ พบว่า ผลการดำเนินโครงการในวงจรที่ 1 ทั้ง 14 โครงการ
มีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.49 และในวงจรที่ 2 ทั้ง 14 โครงการ
มีค่าเฉลี่ยของการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.82 โดยมีค่าเฉลี่ยของวงจรที่ 2 มากกว่า
วงจรที่ 1 ทุกโครงการ
3. ผลการศึกษาการมีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษาทั้ง 4 ด้าน ของครู ผู้ปกครอง
และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนและหลังการใช้กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ที่พัฒนาขึ้น พบว่า หลังการใช้กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ มากกว่าก่อนการใช้กลยุทธ์
เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยมีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.67
ขึ้นไปทุกด้าน
4. การเปรียบเทียบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ปีงบประมาณ 2561
และปีงบประมาณ 2562 พบว่า สถานศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ มีผลการประเมินการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ปีงบประมาณ 2562 ดีขึ้นกว่า ปีงบประมาณ 2561 ทุกมาตรฐานและตัวบ่งชี้
5. ผลการศึกษาขวัญกำลังใจของครูในการดำเนินการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา หลังการใช้กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม พบว่า ครูมีขวัญกำลังใจในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.72
6. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่มีต่อคุณภาพการบริหารจัดการ คุณภาพการเรียนการสอน และคุณภาพผู้เรียน หลังการใช้กลยุทธ์
เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมพบว่า ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจ
ต่อคุณภาพการบริหารจัดการศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.76 คุณภาพการจัดการเรียนการสอน
อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.62 และคุณภาพผู้เรียน อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.52 โดยภาพรวมผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริหารจัดการ
คุณภาพการจัดการเรียนการสอน และคุณภาพผู้เรียน อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.63