การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาครูโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น 2) พัฒนาครูโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ให้มีความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) ติดตามและประเมินผลการนำแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ ของครูโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research) ตามหลักการและแนวคิดของ Kemmis and McTaggart ซึ่งประกอบด้วย ขั้นการวางแผน (Planning) ขั้นการปฏิบัติตามแผน (Action) ขั้นการสังเกต (Observation) ขั้นการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มเป้าหมายคือ ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่6 โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 38 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ชุดฝึกอบรมการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น 2) แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) แบบบันทึกการนิเทศการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น 4) แบบสอบถามความพึงพอใจครูที่มีต่อการอบรมเชิงปฏิบัติการ 5) แบบทดสอบก่อน-หลังการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านกลยุทธ์การศึกษาเอกสาร ทำให้ครูกลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ ความเข้าใจ ด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มมากขึ้นและมีแนวทางในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้หลากหลายและครอบคลุม
2. การอบรมเชิงปฏิบัติการ พบว่า ครูโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เข้ารับการอบรมเชิงการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความรู้ ความเข้าใจด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น หลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรม เพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.4128 หรือคิดเป็น ร้อยละ 41.28
3. การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านกลยุทธ์การนิเทศติดตาม พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจ ด้านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น นำไปสู่การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้แหล่งเรียนรู้และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้จริงใน ระดับดี เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับชั้นเรียนละ 1 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ปราชญ์ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน ผลการนิเทศติดตามโดยรวมอยู่ใน ระดับดีมาก