ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ค้นหากระทู้
ตั้งกระทู้คำถามใหม่ กลับหน้าที่แล้ว
 
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคซินเนคติกส์ในการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์

บทความวิชาการ

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคซินเนคติกส์ในการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์

นางสาวศิรินันท์ สุรสันติวรการ

บทนำ

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 มุ่งเน้นให้ผู้เรียนรู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 24 ระบุให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการคิด คือ มีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้การจัดการศึกษายังมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่งและมีความสุข จะเห็นได้ว่าการศึกษาไทยให้ความสำคัญและมีจุดเน้นในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตนเอง เพียงแต่เปิดโอกาสให้ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ มีนักจิตวิทยาหลายท่านได้พยายามคิดค้นหาวิธี หรือเทคนิคในการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคซินเนคติกส์ เป็นเทคนิคที่ Gordon (1961) ได้พัฒนาขึ้นมาจากทฤษฎีซินเนคติกส์ ซึ่งเทคนิคซินเนคติกส์ มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียน เป็นการนำเอาการเปรียบเทียบมาให้ผู้เรียนได้พิจารณาและเปรียบเทียบอย่างละเอียดและเป็นระบบ เมื่อการเปรียบเทียบมาถึงจุดหนึ่ง ผู้เรียนจะสามารถนำเสนองานในมิติที่แตกต่างไปจากกรอบแนวคิดเดิมๆได้อย่างเกิดผล โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา หรือการคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมาโดยใช้การเปรียบเทียบมาเป็นเครื่องมือในการคิดสร้างสรรค์ซึ่งประกอบด้วยการเปรียบเทียบทางตรง (direct analogy) การเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งอื่น (personal analogy) และการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน (compressed conflict) เพื่อทำให้ผู้เรียนมีโอกาสในการพิจาณางานในมุมมองที่แปลกออกไปและชัดเจนยิ่งขึ้น และจากการศึกษางานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ (จริญญา จักรกาย, 2539; Meador, 1994) พบว่า นักเรียนที่ได้รับการฝึกแบบซินเนคติกส์ มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05นอกจากนี้ได้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ที่มีต่อการเขียนและการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์ (กฤษณา ศิลปนรเศรษฐ์, 2553 ; ชัยวาฤทธิ์ สร้อยเงิน 2553, อุษา ขุนทอง, 2551 ; ประยงค์ เลพล, 2546) พบว่า นักเรียนที่ได้รับการฝึกแบบซินเนคติกส์ มีการเขียนและการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05

ในการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ เป็นการใช้การเปรียบเทียบในลักษณะคำพูดที่เป็นนามธรรม ซึ่งจากทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา Piaget (1971) กล่าวว่า ในขั้น Formal Operations เด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาและความคิดเห็นของเด็กวัยนี้เป็นผู้ที่คิดเหนือไปกว่าสิ่งปัจจุบัน สนใจที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง และมีความพอใจที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ครูจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้ริเริ่ม คอยดำเนินการตามขั้นตอน คอยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองให้มากที่สุด และต้องเปิดกว้างต่อแนวความคิดของผู้เรียน ยอมรับแนวคิดของผู้เรียนที่แสดงออกมา ดังนั้นผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ คือ มีอิสระในการคิด การที่ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นมากเท่าใด การมองเห็นสิ่งใหม่ๆ ก็ย่อมมีมากขึ้น ทำให้ลักษณะการเรียนรู้เต็มไปด้วยความสนุกสนานไม่น่าเบื่อ ซึ่งเนื้อหาวิชาที่สามารถนำเทคนิคซินเนคติกส์ไปใช้ได้ค่อนข้างสะดวก เหมาะสม คือ เนื้อหาวิชา หรือหัวข้อที่ต้องการให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆออกมาให้แตกต่างไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับการเขียนความเรียงแบบสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาต่างๆ และการสร้างงานประดิษฐ์ เป็นต้น

การสร้างงานประดิษฐ์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจากตัวอย่างมีผลงานจำนวนมากในอดีตที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น เช่น ผลงานของทอมัส อัลวา เอดิสัน ที่สามารถประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์มีความใฝ่ฝันที่จะส่งเสียงของมนุษย์ไปตามสายลวด เป็นการพัฒนาเครื่องมือขึ้นแทนโทรเลขซึ่งเป็นจุดกำเนิดเริ่มแรกที่ทำให้บุคคลทั่วโลกสามารถสื่อสารด้วยเสียงผ่านทางโทรศัพท์ถึงกันได้ในทุกวันนี้ หรือการประดิษฐ์คิดค้นในเรื่องการบินของสองพี่น้องตระกูลไรท์ เป็นต้น ซึ่งอารี รังสินันท์ (2532) กล่าวว่า กิจกรรมการประดิษฐ์เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างดี ส่งเสริมให้เกิดการคิดจินตนาการ และสร้างจินตนาการออกเป็นผลงาน บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์จะไม่เพียงคิดแล้วนิ่งเฉย แต่คิดแล้วพยายามหาหนทางให้ความคิดเกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับ Perkins (1984) กล่าวว่า เกณฑ์การวัดความคิดสร้างสรรค์ที่แน่นอนที่สุดคือ ผลงานที่บุคคลสร้างขึ้นมา เราจะเรียกบุคคลนั้นว่ามีความคิดสร้างสรรค์ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้ผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ การฝึกให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์จึงไม่ควรเน้นเรื่องกระบวนการคิดคล่องเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ผู้เรียนสามารถออกแบบหรือประดิษฐ์ผลงานออกมาได้ด้วย ซึ่งการสร้างงานประดิษฐ์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จากทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติ ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดเกิดจินตนาการ และดึงเอาจินตนาการมาสร้างสานต่อความฝันให้เป็นจริงด้วยการลงมือทำ ไม่เพียงแต่จะคิดแล้วปล่อยให้ผ่านเลยไป พยายามคิดวิเคราะห์หาหนทาง เพื่อให้จินตนาการนั้นเป็นสิ่งที่ธรรมดาในสายตาของผู้อื่น ให้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ได้อย่างที่อาจคาดไม่ถึง นอกจากนี้ยังพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา หมายถึง ความคิด ความเข้าใจ ด้านจิตใจ อันได้แก่ ความรู้สึก เจตคติ ความพอใจที่จะทำงานที่ยากและซับซ้อน และประการสุดท้าย คือ ด้านปฏิบัติ คือ การนำความรู้ ความเข้าใจไปปฏิบัติหรือสร้างให้เกิดผลงาน ดังนั้นผู้สอนควรมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึก จิตใจ และเจตคติในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความมั่นใจ รู้จักพัฒนาตนเอง และเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าลอง กล้าใช้จินตนาการของตนให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนพัฒนาให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น หรือพัฒนาผลงานอย่างสร้างสรรค์

คำสำคัญ : การจัดการเรียนการสอน/ เทคนิคซินเนคติกส์ / ผลงานสร้างสรรค์

ทฤษฎีและแนวคิดพื้นฐานของการสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์กับความคิดสร้างสรรค์

ทฤษฎีซินเนคติกส์

ทฤษฎีซินเนคติกส์คิดขึ้นโดยศาสตราจารย์วิลเลียมเจ เจ กอร์ดอน Gordon (1961) กล่าวว่า Synectics เป็นคำในภาษากรีก หมายความว่า การรวมกันของสิ่งที่แตกต่างกันและมีลักษณะที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ โดยการใช้การอุปมาเป็นพื้นฐานของการคิด และมีแนวความคิดสำคัญ คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับความหลากหลายของความชำนาญ ความรู้และประสบการณ์ที่น่าสนใจของแต่ละบุคคล ผลทางปฏิบัติของความคิดสร้างสรรค์ย่อมบังเกิดขึ้นบนพื้นฐานเดียวกันในทุกสาขาวิชาชีพ เกณฑ์ในการรวมกลุ่มของบุคคลนั้นเน้นลักษณะภูมิหลังทางอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญกว่าทางสติปัญญา เพราะกลไกทางอารมณ์นั้นจะเกิดปฏิกิริยาโดยตรงได้รวดเร็วและง่ายเมื่อเผชิญต่อปัญหาทันทีทันใด วิธีการของกอร์ดอนเกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการระดมสมองบางส่วนแล้วเพิ่มกระบวนการสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์เชิงปฏิบัติการ” ขึ้นมา วิธีนี้แตกต่างจากวิธีการระดมสมองตรงที่ว่า จะไม่มีการชี้แจงปัญหาอย่างละเอียดก่อนล่วงหน้า ปัญหาจะให้ในแนวกว้างๆ ในลักษณะนามธรรม ต่อมาจึงทำปัญหาหรือคำถามให้แคบลงแล้วให้ผู้เรียนระดมหาทางแก้ปัญหา วิธีนี้เชื่อว่าการเริ่มแก้ปัญหาด้วยคำถามกว้างๆจะทำให้ได้คำตอบตามปกติคนจะนึกไม่ถึง ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

แนวคิดพื้นฐานของการสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์

เทคนิคซินเนคติกส์เป็นเทคนิคที่กอร์ดอนได้พัฒนาขึ้นมาจากทฤษฎีซินเนคติกส์ เทคนิคนี้อาจเรียกว่าเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย (analogy) แต่มีลักษณะพิเศษตรงที่จะต้องเพิ่มกลไกทางจิตวิทยาในการวิเคราะห์ปัญหาเข้าไปก่อน ซึ่งกลไกในทางจิตวิทยาที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหามีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย กับการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก (Gordon, 1961) การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย คือ การทำความเข้าใจต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ โดยการเทียบเคียงกับประสบการณ์เดิมในอดีตและการแยกแยะปัญหาออกเป็นส่วนประกอบย่อยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก คือ การที่จะให้ได้คำตอบในเชิงสร้างสรรค์นั้นจำเป็นต้องมองปัญหาในแนวใหม่ คือ ทำปัญหาที่คุ้นเคยอยู่แล้วให้แปลกไปจากความเคยชินหรือสามัญสำนึก เช่นจิตรกรมองรูปคน สัตว์ ต้นไม้เป็นรูปลูกบาศก์ และสถาปนิกมองหลังคาอาคารที่ตนเองออกแบบเหมือนกลีบดอกชบาพลิกคว่ำ เป็นต้น การกลับมองปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก เป็นหลักการเบื้องต้นที่จะให้ได้ผลลัพธ์คำตอบเป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์ การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย กับการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลกเป็นกลไกทางจิตวิทยาโดยธรรมชาติซึ่งจะเห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นในขั้นตอนที่สอง คือ การทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก ซึ่งขั้นตอนนี้จะสมบูรณ์จะต้องใช้หลักการเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปไมยเข้ามาช่วย

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์มีลักษณะที่สำคัญ คือ การนำเอาการเปรียบเทียบมาให้ผู้เรียนได้คิดพิจารณา เปรียบเทียบกันอย่างละเอียดและเป็นระบบที่ดี เมื่อการเปรียบเทียบมาถึงจุดหนึ่ง ผู้เรียนจะสามารถเสนอบทเรียนหรือผลงานของบทเรียนในมิติที่แตกต่างไปจากรอบแนวคิดเดิมได้อย่างเกิดผล

เป้าหมายหลักของการสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ คือ การฝึกให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในบทเรียนในการแก้ปัญหา หรือการคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมาโดยใช้การเปรียบเทียบมาเป็นเครื่องมือในการคิดสร้างสรรค์

วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้โดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์

1. ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ว่าในการแก้ปัญหาใดๆนั้น สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องหลายวิธี

2. ต้องการให้ผู้เรียนฝึกการใช้ความคิดหลากหลายแง่มุม

3. ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะยอมรับแนวความคิดที่แตกต่างจากแนวคิดเดิมๆที่ตนเองเคยมีอยู่

รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์ “Synectics Instructional Model” เป็นรูปแบบที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่ง Joyce และ Weil (1992) กล่าวว่า ซินเนคติกส์เป็นวิธีสอนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง ซึ่งกอร์ดอนและผู้ช่วยของเขามีความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ 4 ประการ คือ

1. ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นอยู่เสมอ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์

2. กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่สิ่งลึกลับซับซ้อน แต่สามารถอธิบายและฝึกฝนคนให้มีระดับความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้

3. ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดในศาสตร์สาขาวิชาการต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ศาสตร์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องในการคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น

4. การคิดสร้างสรรค์ของคนคนเดียวหรือกลุ่มคนมีลักษณะใกล้เคียงกันมากทั้งกระบวนการคิดและผลงานที่ได้

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ ดังนี้

1. การนำกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์มาใช้อย่างรู้ตัวผนวกกับการให้เครื่องมือเพื่อใช้ในการคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้บุคคลหรือกลุ่มคนเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นได้

2. องค์ประกอบด้านความรู้สึกสำคัญมากกว่าด้านสติปัญญา และการไม่มีเหตุผลสำคัญเท่ากับการใช้เหตุผล กล่าวคือ การไม่มีเหตุผลทำให้คนไม่ติดอยู่กับกรอบแนวคิดและทำใจให้เปิดกว้างยอมรับสิ่งต่างๆเป็นอย่างมาก ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของการใช้อารมณ์มากกว่าการใช้สติปัญญา

3. ผู้เรียนต้องรู้จักใช้อารมณ์และความไม่มีเหตุผลของตน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาโดยวิธีการแปลกใหม่ยิ่งขึ้น

ประเภทของการคิดด้วยเทคนิคซินเนคติกส์

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ เป็นรูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์จากแนวคิดของกอร์ดอน ที่กล่าวว่าบุคคลทั่วไป มักยึดติดกับวิธีคิดแก้ปัญหาแบบเดิมๆของตน โดยไม่ค่อยคำนึงถึงความคิดของคนอื่นทำให้การคิดของตนคับแคบและไม่สร้างสรรค์แตกต่างไปจากเดิม หากมีโอกาสได้ลองคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรือคิดโดยสมมติตนเองเป็นคนอื่น และถ้ายิ่งให้บุคคลจากหลายกลุ่มประสบการณ์มาช่วยกันแก้ปัญหา ก็จะยิ่งได้วิธีการที่หลากหลายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นกอร์ดอนจึงได้เสนอให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดแก้ปัญหาด้วยแนวความคิดใหม่ๆที่ไม่เหมือนเดิม ไม่อยู่ในสภาพที่เป็นตนเอง ให้ลองใช้ความคิดในฐานะที่เป็นคนอื่นหรือเป็นสิ่งอื่น สภาพการณ์เช่นนี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นได้

วิธีการใช้เทคนิคซินเนคติกส์อาศัยกิจกรรมการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยเป็นหลักในการจัดกิจกรรม 3 วิธี คือ (Joyce และ Weil, 1992)

1. การเปรียบเทียบทางตรง (Direct Analogy) เป็นการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ ระหว่างสิ่ง 2 สิ่ง หรือมากกว่า สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบอาจเป็นคน สัตว์ พืช หรือสิ่งของ โดยของที่นำมาเปรียบเทียบไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกประการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาในอีกแนวหนึ่ง หรือเกิดความคิดใหม่ที่อาจนำมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องการได้ เช่น การเปรียบเทียบการเขียนจดหมายกับลักษณะการเคลื่อนที่ของตัวหนอน หรือการที่วิศวกรเฝ้าสังเกตดูหนอนเจาะท่อนไม้เป็นรูปคล้ายอุโมงค์ ทำให้วิศวกรเกิดความคิดสร้างท่ออุโมงค์ทำงานใต้น้ำขึ้นมา

2. การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น (Personal Analogy) เป็นการเปรียบเทียบโดยให้ผู้เรียนเข้าไปมีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้นๆ ผู้เรียนต้องสมมติตนเองเป็นสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบและบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อตนเป็นสิ่งนั้น สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบอาจเป็นคน สัตว์ พืช หรือสิ่งของ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงเรื่องของความรู้สึก ลักษณะสภาพความเป็นจริง (fact) และอารมณ์ (emotion) ในสภาพของสิ่งที่มีชีวิต (a living thing) และสภาพของสิ่งที่ไม่มีชีวิต (a nonliving object) ซึ่งทำให้ผู้เรียนมองเห็นแนวทางในการคิดสร้างสรรค์จากฐานความคิดของตนเองและฐานความคิดจากสิ่งที่เปรียบเทียบ เช่น การสมมติให้ผู้เรียนเป็นเครื่องยนต์ในรถยนต์ เป็นโทรศัพท์ หรือสิ่งอื่นๆ เป็นต้น

3. การเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน (Compressed Conflict) เป็นการใช้คำเปรียบเทียบสองคำที่มีความหมายขัดแย้งกันหรือตรงข้ามกันมาอธิบายลักษณะของคน สัตว์ พืช หรือสิ่งของที่ต้องการ เช่น หน้าชื่นอกตรม ฉลาดในเรื่องโง่ๆ เป็นต้น

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ อาศัยกิจกรรมการเปรียบเทียบ 3 วิธี ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเปรียบเทียบมีดังนี้

1. ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นการเปรียบเทียบทางตรง ได้แก่ ผลส้มเหมือนหรือต่างกับลูกฟุตบอล โรงเรียนเหมือนสลัดผักหรือผลไม้ในแง่ไหน

2. ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ได้แก่ ถ้าท่านเป็นก้อนเมฆขณะนี้ท่านอยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไรอยู่ ท่านจะรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกแสงอาทิตย์เผาจนแห้งผาก หรือสมมติว่าท่านเป็นหนังสือเล่มที่ท่านชอบที่สุดจงบรรยายความรู้สึกนั้น

3. ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน ได้แก่ บอกได้ไหมว่าเครื่องมือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใดที่ชอบยิ้มและทำบึ้งขณะเดียวกัน

ขั้นตอนของการฝึกคิดด้วยเทคนิคซินเนคติกส์

Joyce และ Weil (1992) กล่าวว่า การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ มี 2 วิธีด้วยกัน คือ แบบที่ 1 ใช้เพื่อสร้างผลงานที่แปลกใหม่ และแบบที่ 2 ใช้เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ยังไม่รู้จัก การจะใช้วิธีแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 ย่อมขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการสอน

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์แบบที่ 1 เพื่อสร้างผลงานที่แปลกใหม่มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 บรรยายสถานการณ์ปัจจุบัน ขั้นนี้ผู้สอนให้ผู้เรียนบรรยายสถานการณ์หรือหัวข้อ ตามที่ผู้เรียนมองเห็น

ขั้นที่ 2 การเปรียบเทียบทางตรง ขั้นนี้ผู้เรียนเปรียบเทียบทางตรง แล้วเลือกอันที่ดีที่สุดมาอธิบายให้กว้างขวางขึ้น

ขั้นที่ 3 การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ขั้นนี้ผู้เรียนเปรียบเทียบสิ่งที่เลือกในขั้นที่ 2กับตนเอง

ขั้นที่ 4 การเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน จากการบรรยายในขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ผู้เรียนคิดหาคำคู่ที่มีความหมายค้านกันมาหลายๆคู่ แล้วเลือกคู่ที่ดีที่สุด

ขั้นที่ 5 การเปรียบเทียบทางตรง ขั้นนี้ผู้เรียนคิดหาการเปรียบเทียบทางตรงโดยใช้คำคู่ที่เลือกในขั้นที่ 4

ขั้นที่ 6 ตรวจสอบปัญหาเริ่มแรกอีกครั้ง ขั้นนี้ผู้สอนให้ผู้เรียนกลับมาสำรวจปัญหาเริ่มแรก แล้วใช้การเปรียบเทียบขั้นสุดท้าย โดยใช้ประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากกระบวนการของซินเนคติกส์เข้าช่วย

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์แบบที่ 2 เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ยังไม่รู้จัก

วิธีสอนนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่แปลกใหม่ เป็นการเพิ่มพูนความเข้าใจและสำรวจลึกในสิ่งของหรือสถานการณ์ที่ใหม่และซับซ้อน ซึ่งใช้การเปรียบเทียบช่วยในการวิเคราะห์ ไม่ใช่เพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆที่มีความต่างกันดังเช่นแบบที่ 1 ในแบบที่ 2 จะใช้สิ่งของหรือสถานการณ์ที่ใกล้ตัว เช่น บ้าน รถ ร่างกายคน เปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาแล้วให้วิเคราะห์ปัญหาโดยการศึกษาลักษณะสำคัญของสิ่งที่คุ้นเคยกับลักษณะของปัญหา (สิ่งที่ไม่คุ้นเคย) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 การให้ข้อมูล ผู้สอนให้ข้อมูลผู้เรียนเกี่ยวกับหัวข้อใหม่

ขั้นที่ 2 การเปรียบเทียบ ผู้สอนแนะการเปรียบเทียบทางตรงแล้วให้ผู้เรียนบรรยายถึงการเปรียบเทียบนั้น

ขั้นที่ 3 การเปรียบเทียบกับตนเอง ผู้สอนให้ผู้เรียนเปรียบเทียบหัวข้อใหม่กับตนเอง

ขั้นที่ 4 การบรรยายถึงความสัมพันธ์ในส่วนที่เป็นไปได้ ผู้เรียนอธิบายถึงการเปรียบเทียบในส่วนที่เหมือนกัน

ขั้นที่ 5 การบรรยายถึงความสัมพันธ์ในส่วนที่เป็นไปไม่ได้ ผู้เรียนอธิบายว่าการเปรียบเทียบใช้ไม่ได้ในส่วนใด

ขั้นที่ 6 การสำรวจ ผู้เรียนสำรวจหัวข้อใหม่ที่ต้องการศึกษาอีกครั้ง

ขั้นที่ 7 การเปรียบเทียบ ผู้เรียนเปรียบเทียบระหว่างหัวข้อใหม่กับสิ่งที่คิดขึ้นมาด้วยตนเอง และบรรยายถึงส่วนที่ของสองสิ่งคล้ายกันและส่วนที่การเปรียบเทียบใช้ไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้

อารี รังสินันท์ (2532) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการฝึกการคิดเปรียบเทียบแบบซินเนคติกส์ดังนี้

ขั้นที่ 1 นำเข้าสู่แนวคิด เปรียบเทียบสิ่งที่กำหนดให้ว่าเหมือนอะไร เช่น

คำถาม : ที่เหลาดินสอเหมือนกับอะไร

คำตอบ : รถตัดหญ้า เครื่องบดปลาหมึก กว้านสมอเรือ

ขั้นที่ 2 เปรียบเทียบโดยตรง เปรียบเทียบได้ว่าเหมือนอย่างไร เช่น รถตัดหญ้าเหมือนที่เหลาดินสออย่างไร

ขั้นที่ 3 เปรียบเทียบกับความรู้สึกของตนเอง ใช้ความรูสึกของตนเอง เช่น ถ้าเป็นต้นหญ้าท่านจะรู้สึกอย่างไร

ขั้นที่ 4 เปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างหนึ่ง แต่ไม่เหมือนกับอีกอย่างหนึ่ง เช่น หยดน้ำฝนเหมือนน้ำตา แต่ไม่เหมือนเมฆ เป็นต้น

ทิศนา แขมมณี (2547) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ดังนี้

ขั้นที่ 1 ขั้นนำ เป็นขั้นที่ผู้สอนให้ผู้เรียนทำงานต่างๆที่ต้องการให้ผู้เรียนทำ เช่น ให้เขียนบรรยาย เล่า ทำ แสดง วาดภาพ สร้าง ปั้น เป็นต้น ผู้เรียนทำงานนั้นๆตามปกติที่เคยทำเสร็จแล้วให้เก็บผลงานไว้ก่อน

ขั้นที่ 2 ขั้นการสร้างอุปมาแบบตรง (Direct Analogy) เป็นขั้นที่ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง เช่น ลูกบอลกับมะนาว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร คำคู่ที่ผู้สอนเลือกมาควรให้มีลักษณะที่สัมพันธ์กับเนื้อหา หรืองานที่ผู้เรียนทำในขั้นที่ 1 ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบหลายๆคู่ และจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน

ขั้นที่ 3 ขั้นการสร้างอุปมาบุคคล หรือเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งของ (Personal Analogy) เป็นขั้นที่ผู้เรียนสมมติตนเองเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกออกมา เช่น ถ้าเปรียบเทียบผู้เรียนเป็นเครื่องซักผ้าจะรู้สึกอย่างไร ผู้สอนจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน

ขั้นที่ 4 ขั้นอุปมาคำคู่ขัดแย้ง (Compressed Conflict) เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำคำที่ได้จากการเปรียบเทียบในขั้นที่ 2 และ 3 มาประกอบเป็นคำใหม่ที่มีความหมายขัดแย้งกันในตัวเอง เช่น ไฟเย็น น้ำผึ้งขม เป็นต้น

ขั้นที่ 5 ขั้นอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้ง เป็นขั้นที่ผู้เรียนอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้งที่ได้

ขั้นที่ 6 ขั้นการนำความคิดใหม่มาสร้างสรรค์ เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำงานที่ทำไว้เดิมในขั้นที่ 1 ออกมาทบทวนใหม่ และเลือกนำความคิดที่ได้มาใหม่มาสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อทำให้งานมีความแปลกใหม่มากขึ้น

ขั้นตอน กิจกรรม

ขั้นกำหนดงานหรือบรรยายสถานการณ์ปัจจุบัน - ผู้สอนกำหนดว่าเศษวัสดุเหลือใช้ที่จะนำมาเป็นโจทย์ให้ผู้เรียนออกแบบในแต่ละกิจกรรมคืออะไร เช่น เศษวัสดุเหลือใช้ประเภทกระดาษ พลาสติก เป็นต้น หลังจากนั้นให้ผู้เรียนออกแบบผลงานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ที่ผู้สอนได้กำหนดขึ้นในแต่ละกิจกรรม

ขั้นการเปรียบเทียบทางตรง

(direct analogy) - ผู้เรียนนำเศษวัสดุเหลือใช้ที่ผู้สอนได้กำหนดขึ้นใน

แต่ละกิจกรรม มาเปรียบเทียบทางตรงหลายๆคู่

ขั้นการเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งอื่น (personal analogy) - ผู้เรียนบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อตนกลายเป็นสิ่งนั้น (สิ่งที่เลือกในขั้นที่ 2)

ขั้นการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน

(compressed conflict) - ผู้เรียนนำคำที่ได้จากขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ที่มีความหมายขัดแย้งกัน มารวมกันเป็นกลุ่มคำหรือวลีใหม่ โดยกลุ่มคำหรือวลีที่สร้างขึ้นใหม่อาจเพิ่มคำเชื่อมได้ แล้วเลือกคู่ที่ดีที่สุด

ขั้นการเปรียบเทียบทางตรง

ครั้งที่ 2 - ผู้เรียนนำคำคู่ที่เลือกในขั้นที่ 4 มาคิดเปรียบเทียบโดยพิจารณาในด้านการนำไปใช้งาน

ขั้นการสำรวจงานที่ต้องทำ

อีกครั้ง - ผู้เรียนนำการออกแบบผลงานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ในครั้งแรกออกมาพิจารณาและเลือกนำความคิดที่ได้มามาปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่อีกครั้ง เพื่อทำให้การออกมีความแปลกใหม่มากขึ้น หลังจากนั้นจึงลงมือปฏิบัติสร้างงานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ตามที่ได้ออกแบบไว้ในครั้งสุดท้าย

ผลที่ได้รับจากการใช้เทคนิคซินเนคติกส์

บทบาทของผู้สอนและผู้เรียน

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ผู้สอนจะมีบทบาทเป็นผู้ริเริ่ม และคอยดำเนินการเรียนการสอนตามบทเรียนและขั้นตอนที่จัดเตรียมไว้ มีบทบาทคอยกระตุ้นความคิดของผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา ผู้สอนจะไม่มีบทบาทในการชักนำความคิดของผู้เรียนให้เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่จะต้องคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดของตนเองออกมาให้มากที่สุด ผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน คือ มีอิสระในการคิด แสดงความคิด อภิปรายถกเถียงกันตามบทเรียน ยิ่งผู้เรียนแสดงความคิดมากเท่าใด การมองเห็นสิ่งใหม่ๆจะมีมากขึ้นเท่านั้น

หลักการตอบสนอง

ในการตอบสนองต่อกระบวนการเรียนการสอนตามบทเรียนนั้น ผู้สอนต้องเปิดกว้างต่อแนวคิดของผู้เรียน ยอมรับแนวคิดของผู้เรียนที่แสดงออกมา แม้ว่าความคิดนั้นจะไม่มีเหตุผลหรือไม่เหมาะสมก็ตามที ผู้สอนต้องไม่ตัดสินความคิดของผู้เรียนว่าถูกหรือไม่ถูก หรือดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมแต่อย่างใด ท่าทีของผู้สอนต้องยอมรับความคิดของผู้เรียนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ปิดกั้นความคิดของผู้เรียน

การนำไปใช้

การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ใช้ได้ดีกับบทเรียนที่ต้องการให้ผู้เรียนคิด พัฒนา สร้าง หรือมองบทเรียนไปในแนวทางใหม่ เนื่องจากการนำเอาการเปรียบเทียบที่แตกต่างกันมาให้ผู้เรียนได้คิดพิจารณาและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ลักษณะการเรียนก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อหน่าย บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความพึงพอใจของทั้งผู้สอนและผู้เรียน นอกจากจะช่วยฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้ดีแล้ว สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือ ความสัมพันธ์ในกลุ่มซึ่งเป็นจุดที่การศึกษาไทยปัจจุบันค่อนข้างให้ความสำคัญมาก

เอกสารอ้างอิง

กฤษณา ศิลปะนรเศรษฐ์. (2553). การพัฒนาความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซินเนคติกส์กับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบแผนผังความคิด. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาหลักสูตรและการสอนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

จริญญา จักรกาย. (2539).ผลของการใช้วิธีซินเนคติกส์ควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคมที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ชัยวาฤทธิ์ สร้อยเงิน. (2553). การพัฒนาความสามารถการเขียนเชิงสร้างสรรค์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กิจกรรมซินเนคติกส์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.

ทิศนา แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพี่อการจัดระบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.

พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : ด่านสุทธราการพิมพ์.

ประยงค์ เลพล. (2546). ผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเขียนเรียงความเชิงสร้างสรรค์โดยใช้กิจกรรม ซินเนคติกส์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.

อารี รังสินันท์. (2532). ความคิดสร้างสรรค์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง.

อุษา ขุนทอง. (2551). การเปรียบเทียบทักษะการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์และเจตคติต่อการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ที่เรียนรู้ตามรูปแบบซินเนคติกส์กับตามรูปแบบซิปปา.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

Gordon, W.J.J. (1961). Synectics : The development of creative capacity. New York : Harper & Row.

Joyce, Bruce and Weil, Marsha. (1992). Model of Teaching. 4th ed. Boston : Allyn and

Bacon.

Piaget, J. (1971). The Theory of Stages in Cognitive Devlopment. In D.R. Green (Ed.), Measurement and Piaget. New York : McGraw-Hill.

โพสต์โดย ปุ๊ก : [13 ก.ค. 2565 เวลา 12:44 น.]
อ่าน [3261] ไอพี : 124.120.7.97
หากข้อความนี้ไม่เหมาะสม คลิก คลิกปุ่มนี้ หากเห็นว่าข้อความนี้ไม่เหมาะสม
 
 

โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความเห็น
1. ข้อความของท่านจะขึ้นแสดงโดยอัตโนมัติทันทีที่ได้รับข้อมูล
2.
ห้ามโพสต์ ข้อความยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทางสังคม ข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสียต่อบุคคลที่สาม, เบอร์โทรศัพท์,
รูปภาพที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนหรือภาพลามกอนาจาร หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
ขอให้ผู้ตั้งกระทู้รับผิดชอบตัวเอง
และรับผิดชอบต่อสังคม ถ้ารูปภาพ หรือข้อความใดส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น ทีมงานพร้อมจะส่งรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่
เพื่อตามจับตัวผู้กระทำผิดต่อไป

3.
สมาชิกที่โพสต์สิ่งเหล่านี้ อาจถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากผู้เสียหายได้
4. ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. ทุกความคิดเห็นเป็นข้อความที่ทางผู้เยี่ยมชมเข้ามาร่วมตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ ทางเว็บไซต์ kroobannok.com ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
6. ทางทีมงานขอสงวนสิทธิ์ในการลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสมได้ทันที โดยไม่ต้องมีการชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความเห็นนั้นทั้งสิ้น

7. หากพบเห็นรูปภาพ หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งมาที่อีเมล์ kornkham@hotmail.com เพื่อทำการลบออกจากระบบต่อไป


 ** พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐**

ขออภัยในความไม่สะดวก เนื่องจากเราประสบปัญหา
มีผู้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่และไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก
ครูบ้านนอกดอทคอมจึงขอความร่วมมือสมาชิก
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความเห็นครับ


  

สมัครสมาชิกใหม่
 

 

Advertisement

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เปิดอ่าน 29,197 ครั้ง
สัมภาษณ์ ดร.พิษณุ ตุลสุข เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. "ปัญหาหนี้สินครู"
สัมภาษณ์ ดร.พิษณุ ตุลสุข เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. "ปัญหาหนี้สินครู"

เปิดอ่าน 1,202 ครั้ง
ฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร
ฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร

เปิดอ่าน 28,335 ครั้ง
แตงกวา พืชใช้น้ำน้อย ปลูกข้างบ้านได้
แตงกวา พืชใช้น้ำน้อย ปลูกข้างบ้านได้

เปิดอ่าน 3,738 ครั้ง
ไฟฟ้ามาจากไหน ใช้อะไรในการผลิต
ไฟฟ้ามาจากไหน ใช้อะไรในการผลิต

เปิดอ่าน 9,598 ครั้ง
ไอ้หยา!ด.ญ.ร้องพิธีเปิดโอลิมปิกก็ลวง
ไอ้หยา!ด.ญ.ร้องพิธีเปิดโอลิมปิกก็ลวง

เปิดอ่าน 21,790 ครั้ง
สมจิตร จงจอหอ
สมจิตร จงจอหอ

เปิดอ่าน 22,799 ครั้ง
ตัวหนังสือไทยต่างๆ นอกราชอาณาจักรไทย
ตัวหนังสือไทยต่างๆ นอกราชอาณาจักรไทย

เปิดอ่าน 12,036 ครั้ง
จากหัวใจดวงน้อยๆ ที่อยากบอกรักพ่อหลวง ผ่านบทเพลง "เล่าสู่หลานฟัง"
จากหัวใจดวงน้อยๆ ที่อยากบอกรักพ่อหลวง ผ่านบทเพลง "เล่าสู่หลานฟัง"

เปิดอ่าน 8,980 ครั้ง
ประวัติความเป็นมา วันแม่
ประวัติความเป็นมา วันแม่

เปิดอ่าน 9,430 ครั้ง
10 วิธีปลูกผักสวนครัวในกระถาง
10 วิธีปลูกผักสวนครัวในกระถาง

เปิดอ่าน 64,375 ครั้ง
หลักภาษาไทย ฉันทลักษณ์
หลักภาษาไทย ฉันทลักษณ์

เปิดอ่าน 18,327 ครั้ง
อาร์คิมีดีส
อาร์คิมีดีส

เปิดอ่าน 12,264 ครั้ง
แนะปรับกระจก-ท่านั่งเหมาะสม ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ
แนะปรับกระจก-ท่านั่งเหมาะสม ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ

เปิดอ่าน 14,608 ครั้ง
8 วิธีถนอมหลังห่างไกลอาการปวด
8 วิธีถนอมหลังห่างไกลอาการปวด

เปิดอ่าน 4,022 ครั้ง
คู่มือสำหรับเกษตรกร การผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม
คู่มือสำหรับเกษตรกร การผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม

เปิดอ่าน 13,589 ครั้ง
ทำไมตรุษจีน จึงจุดประทัดและเชิดสิงโต
ทำไมตรุษจีน จึงจุดประทัดและเชิดสิงโต
เปิดอ่าน 16,318 ครั้ง
"อะเจย์ ปุริ" เด็กอัจฉริยะไอทีระดับโลกในเมืองไทย
"อะเจย์ ปุริ" เด็กอัจฉริยะไอทีระดับโลกในเมืองไทย
เปิดอ่าน 32,867 ครั้ง
ดร.อาจอง เผยหิมะตก ในประเทศไทย ม.ค. ปีหน้า
ดร.อาจอง เผยหิมะตก ในประเทศไทย ม.ค. ปีหน้า
เปิดอ่าน 21,189 ครั้ง
เตือน "5 โรคร้าย" อันตรายต่อ "ครู" แนะเทคนิคดูแลสุขภาพ
เตือน "5 โรคร้าย" อันตรายต่อ "ครู" แนะเทคนิคดูแลสุขภาพ
เปิดอ่าน 74,528 ครั้ง
รวมกฏกระทรวงศึกษาธิการ
รวมกฏกระทรวงศึกษาธิการ

รายการหลัก

หน้าแรก
ข่าว/บทความ
สมุดเยี่ยม
กระดานสนทนา
เว็บลิงค์
ผู้จัดทำเว็บครูบ้านนอก
ข้อมูลบุคคล
ภาพกิจกรรม
ผู้สนับสนุน

สมาชิก

เข้าสู่ระบบ
คุณครูต้องรู้ไว้
รวมแบบฟอร์มต่างๆ

เว็บน่าสนใจ

เว็บไซต์ สพฐ.
กระทรวงศึกษาธิการ
เครื่องมือวิทยาศาสตร์
เครื่องมือวัด
เครื่องมืออุตสาหกรรม
เกมส์
แหล่งรวมเกมส์

แหล่งรวมเกมส์
สพป.มุกดาหาร



 เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ คลายเครียด

เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้
      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ