การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
ที่ตั้งไว้ 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ประชากรได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเชียงกลาง ประชาพัฒนา อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน กลุ่มตัวอย่างได้จากวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยสุ่มห้องเรียนจากทั้งหมด 4 ห้อง มา 1 ห้องเรียน มีจำนวนนักเรียน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 จำนวน 4 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ก่อนและหลังการฝึกทักษะฉบับรวม จำนวน 30 ข้อ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scales) 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย(X-bar) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent Samples Test และการหาค่าประสิทธิภาพ
ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้นสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 83.78/82.50 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการใช้แบบฝึกทักษะสูงกว่าก่อนการใช้แบบฝึกทักษะ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่าโดยภาพรวมนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่องระบบสมการเชิงเส้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด(X-bar=4.53 S.D=0.53)