รายงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้บัตรภาพเพื่อสื่อสารความต้องการของตนเองในชีวิตประจำวันสำหรับบุคคลพิการซ้อนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษาครั้งนี้ ได้มาจากการคัดเลือกโดยวิธีแบบเจาะจง โดยเป็นบุคคลพิการซ้อนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย ที่รับบริการแบบตามบ้าน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ใช้เวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ รวม 15 ครั้ง ครั้งละ 40 นาที ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 แผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) ที่ 1-2 จัดกิจกรรม 11.00 น. 11.40 น. และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) ที่ 3-5 จัดกิจกรรม 13.00 น.-13.40 น.
เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) ของบุคคลพิการซ้อน จำนวน 5 แผน บัตรภาพการสื่อสารความต้องการของตนเองในชีวิตประจำวัน จำนวน 5 รูปภาพ ได้แก่ บัตรภาพความต้องการรับประทานอาหาร บัตรภาพความต้องการดื่มน้ำ บัตรภาพความต้องการฟังเพลงจากวิทยุ บัตรภาพความต้องการเล่นลูกบอล และบัตรภาพความต้องการเป่าลูกโป่ง โดยแต่ละภาพจะมีข้อความเขียนบรรยายไว้ด้านหลังภาพทุกภาพ นอกจากนั้นมีการประเมินผลก่อนเรียนและหลังเรียน และแบบบันทึกผลการวัด
ผลการวิจัยพบว่า บัตรภาพการสื่อสารความต้องการของตนเองในชีวิตประจำวันของบุคคลพิการซ้อนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย สามารถใช้เป็นสื่อในการพัฒนาความสามารถทักษะการสื่อสารให้ดีขึ้นได้ โดยบุคคลพิการซ้อนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับการฝึกทักษะโดยใช้บัตรภาพการสื่อสารความต้องการของตนเองในชีวิตประจำวัน มีผลการพัฒนาด้านการสื่อสารสูงขึ้น จากการทดสอบก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) เรื่อง ความต้องการรับประทานอาหาร มีผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น (+2) โดยมีระดับคุณภาพก่อนเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 1.33 อยู่ในระดับคุณภาพพอใช้ หลังเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 3.33 อยู่ในระดับคุณภาพดีมาก เรื่อง ความต้องการดื่มน้ำ ผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น (+2.67) โดยมีระดับคุณภาพก่อนเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 1.33 อยู่ในระดับคุณภาพพอใช้ หลังเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 4 อยู่ในระดับคุณภาพดีเยี่ยม เรื่อง ความต้องการฟังเพลงจากวิทยุผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น (+2) โดยมีระดับคุณภาพก่อนเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 1 อยู่ในระดับคุณภาพปรับปรุง หลังเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 3 อยู่ในระดับคุณภาพดีมาก เรื่อง ความต้องการเล่นลูกบอล ผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น (+2.30) โดยมีระดับคุณภาพก่อนเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 2 อยู่ในระดับคุณภาพดี หลังเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 4.30 อยู่ในระดับคุณภาพดีเยี่ยม เรื่อง ความต้องการเป่าลูกโป่ง ผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น (+1.66) โดยมีระดับคุณภาพก่อนเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 2 อยู่ในระดับคุณภาพดี หลังเรียนมีน้ำหนักค่าเฉลี่ย 3.66 อยู่ในระดับคุณภาพดีมาก สรุปผลรวมผลการทดสอบ ทั้ง 5 เรื่อง มาคิดหาค่าเฉลี่ย พบว่า ก่อนเรียนมีผลรวมน้ำหนักค่าเฉลี่ย 1.53 อยู่ในระดับคุณภาพพอใช้ คิดเป็นร้อยละ 30.60 หลังเรียนมีผลรวมน้ำหนักค่าเฉลี่ย 3.65 อยู่ในระดับคุณภาพดีมาก คิดเป็นร้อยละ 73 มีผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น (+2.12) คิดเป็นร้อยละ 42.40
คำสำคัญ: การใช้บัตรภาพ, การสื่อสารความต้องการของตนเองในชีวิตประจำวัน, บุคคลพิการซ้อน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงราย