การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนรู้วิชาเคมีตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
(Constructivist Theory) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการแก้ปัญหา
เรื่อง เคมีอินทรีย์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา 2) ศึกษาประสิทธิผลเชิงประจักษ์ของรูปแบบการเรียนรู้และความคิดเห็นของนักเรียน
ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยกำหนดรูปแบบการทดลองแบบสองกลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ทดสอบ
ก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 140 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา แบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย (x ̅) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (Independent t - test และ dependent t - test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
พัฒนารูปแบบการเรียนรู้วิชาเคมีตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist Theory)
เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง เคมีอินทรีย์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อว่า
อาร์พีทีเอสอี (RPTSE Model) จากการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญรูปแบบการเรียนรู้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันทุกองค์ประกอบ รูปแบบการเรียนรู้มี 8 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ รูปแบบ
การเรียนรู้ หลักการตอบสนอง ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน สาระความรู้และสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนรู้มี 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม (Reviewing Knowledge) ขั้นให้ความรู้และทักษะพื้นฐาน (Providing Fundamental Knowledge and Skill) ขั้นฝึกทักษะการคิด (Thinking Skill) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing) ขั้นตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ (Enumeration)
ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ อาร์พีทีเอสอี (RPTSE Model) พบว่าความสามารถใน
การคิดวิเคราะห์วิชาเคมีของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนเห็นด้วยต่อการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนรู้ในระดับมาก โดยเห็นด้วยมากที่สุด ด้าน
กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ รองลงมาด้านบรรยากาศในการจัดการเรียนรู้ และประโยชน์ที่ได้รับ