บทคัดย่อ
ชื่อรายงาน การพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษากลุ่มเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียน
วิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
ผู้วิจัย นางศิริวรรณ เหมะจันทร ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร
ปีที่ศึกษา 2560
การวิจัยนี้มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาลักษณะแรงจูงใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ตอนปลาย 2) เพื่อศึกษาองค์ประกอบของแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษากลุ่มเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ 4) เพื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่ม ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และหลังการติดตามผล และ 5) เพื่อเปรียบเทียบระดับแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่มกับนักเรียนกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่มก่อนการทดลอง หลังการทดลองและหลังการติดตามผล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาองค์ประกอบแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร ซึ่งได้มาจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จำนวน 240 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองรูปแบบการให้คำปรึกษากลุ่ม เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนชุมชนป้อมเพชร ที่มีคะแนนแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษจากผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดขึ้นมาตามลำดับ และสมัครใจเข้ารับการให้คำปรึกษา จำนวน 16 คน แล้วสุ่มอย่างง่ายโดยวิธีการจับฉลากเป็นคู่ตามคะแนนแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 8 คน โดยกลุ่มทดลอง ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่ม ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ รูปแบบการให้คำปรึกษากลุ่มเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และแบบสอบถามแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง .27 .74 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .93
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร มีแรงจูงใจในการเรียนวิชา
ภาษาอังกฤษโดยรวมอยู่ในระดับสูงและเมื่อพิจารณาตามลักษณะของแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษอังกฤษเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ด้านการตั้งเป้าหมายในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ด้านความสนใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และด้านความพยายามและอดทนในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับสูง สำหรับความต้องการมีความสามารถในการเรียนภาษาอังกฤษ และด้านความเชื่อมั่นในการเรียนอยู่ในระดับปานกลาง
2. การศึกษาองค์ประกอบของพฤติกรรมด้านแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ พบว่า
แรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความสนใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความเชื่อมั่นในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความต้องการมีความสามารถในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษและความพยายามและอดทนในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ โดยองค์ประกอบแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษมีความพอดีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีน้ำหนักองค์ประกอบขององค์ประกอบทั้ง 5ประกอบ อยู่ในเกณฑ์สูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. รูปแบบการให้คำปรึกษากลุ่มเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ
ประกอบด้วย 3 ขั้น ตอน ได้แก่ ขั้นเริ่มต้นการให้คำปรึกษา ขั้นดำเนินการให้คำปรึกษา และขั้นยุติการให้คำปรึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีและเทคนิคการให้คำปรึกษากลุ่มเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ
4. ผลของการใช้รูปแบบการให้คำปรึกษากลุ่มเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชา
ภาษาอังกฤษโดยเปรียบเทียบแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และหลังการติดตามผล พบว่า
4.1 การเปรียบเทียบแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น
มัธยมศึกษาตอนปลายกลุ่มทดลองที่ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่มเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และหลังการติดตามผล
4.1.1 นักเรียนกลุ่มทดลอง มีคะแนนแรงจูงใจในการเรียนวิชา
ภาษาอังกฤษโดยรวม หลังการทดลองกับก่อนการทดลอง และก่อนการทดลองกับหลังการติดตามผล แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนคะแนนแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษหลังการทดลองกับหลังการติดตามผลไม่แตกต่างกัน
4.1.2 นักเรียนกลุ่มทดลอง มีคะแนนแรงจูงใจในการเรียนวิชา
ภาษาอังกฤษในด้านความสนใจในการเรียน ความเชื่อมั่นในตนเอง ความต้องการมีความสามารถและความพยายามและอดทนในการเรียนหลังการทดลองกับก่อนการทดลอง และก่อนการทดลองกับหลังการติดตามผล แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนด้านการตั้งเป้าหมายในการเรียน มีคะแนนเฉลี่ยแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษไม่แตกต่างกัน สำหรับคะแนนแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษในแต่ละองค์ประกอบ หลังการทดลองกับหลังการติดตามผล ไม่แตกต่างกัน
4.2 การเปรียบเทียบแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น
มัธยมศึกษาตอนปลายระหว่างกลุ่มทดลองที่ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่ม และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการให้คำปรึกษากลุ่ม ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และหลังการติดตามผล
4.2.1 ก่อนการทดลอง แรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษโดยรวมและ
รายองค์ประกอบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ไม่แตกต่างกัน
4.2.2 หลังการทดลอง แรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษโดยรวมของ
นักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ด้านความสนใจในการเรียน ความต้องการมีความสามารถและความพยายามและอดทนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนด้านการตั้งเป้าหมายในการเรียนและด้านความเชื่อมั่นในตนเองในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ทั้งสองกลุ่มมีแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษไม่แตกต่างกัน
4.2.3 หลังการติดตามผล แรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษโดยรวม
ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ด้านความสนใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และด้านความต้องการมีความสามารถในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนด้านการตั้งเป้าหมายในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความเชื่อมั่นในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และด้านความพยายามและอดทนในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ทั้งสองกลุ่มมีแรงจูงใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษไม่แตกต่างกัน