ชื่อเรื่อง การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นกิจกรรม
เกมการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้ศึกษา นางสมหมาย วุฒิสาร
สถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านบะยาวพัฒนาศึกษ
สังกัดเทศบาลตำบลบะยาว อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาผลการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย 2) เปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กชั้นปฐมวัยปีที่ 2 ศูนย์พัฒนาเด็กโรงเรียนบ้านบะยาวพัฒนาศึกษา สังกัดเทศบาลตำบลบะยาว อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวนเด็ก 24 คน ได้มาด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ เกมการศึกษาเพื่อส่งเสริมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัย จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วยเกมการศึกษา จำนวน 18 เกม แผนการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย จำนวน 18 แผน แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัย จำนวน 20 ข้อ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย
ผลการศึกษา พบว่า
1.1 ผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ก่อนการจัดประสบการณ์โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา มีพัฒนาการทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้ ด้านการสังเกต มีค่าเฉลี่ย 3.08 ด้านการจำแนก มีค่าเฉลี่ย 2.88 และด้านการสื่อความหมายข้อมูล มีค่าเฉลี่ย 3.13 ซึ่งจะเห็นได้ว่าพัฒนาการทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสื่อความหมายข้อมูลมีค่าเฉลี่ยสูงสุดและด้านการจำแนกมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ส่วนผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย หลังการจัดประสบการณ์โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา มีพัฒนาการทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้ ด้านการสังเกต มีค่าเฉลี่ย 5.83 ด้านการจำแนก มีค่าเฉลี่ย 5.79 และด้านการสื่อความหมายข้อมูล มีค่าเฉลี่ย 5.54 ซึ่งจะเห็นได้ว่าพัฒนาการทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตมีค่าเฉลี่ยสูงสุดและด้านการสื่อความหมายข้อมูลมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
1.2 ผลเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา พบว่าทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา มีคะแนนความก้าวหน้า ดังนี้ ด้านการสังเกต มีค่าเฉลี่ย 2.75 ด้านการการจำแนก ค่าเฉลี่ย 2.92 และด้านการสื่อความหมายข้อมูล มีค่าเฉลี่ย 2.42 ซึ่งจะเห็นได้ว่าความก้าวหน้าทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการจำแนกมีค่าเฉลี่ยสูงสุดและทักษะด้านการสื่อความหมายข้อมูลมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
กล่าวโดยสรุป การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยการปฏิบัติกับสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 จากการมอง การฟัง การได้กลิ่น การชิมและการสัมผัส เน้นให้เด็กได้ฝักทักษะการสังเกต การจำแนก และการสื่อความหมายข้อมูล โดยครูจะสอดแทรกความรู้ด้านทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ดังนั้นเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยเน้นกิจกรรมเกมการศึกษาจึงมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น