ชื่อเรื่องที่วิจัย การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดของนักเรียนโรงเรียนสองครพิทยาคม
สถานที่วิจัย โรงเรียนสองครพิทยาคม อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปีที่วิจัย 2558
ชื่อผู้วิจัย นายสุเมธ พรมสีดา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อพัฒนาสมรรถนะ การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดของนักเรียนโรงเรียนสองครพิทยาคม และเพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดของนักเรียนโรงเรียนสองครพิทยาคม การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยศึกษาตามแนวคิดการนิเทศภายใน ร่วมกับกรอบ การวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน Research and Development และตรวจสอบความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎีและความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการบริหารไปใช้จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัย จำนวน 12 ฉบับ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว จากนั้นนำมาเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครู จำนวน 20 คน และนักเรียน จำนวน 148 คน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผล ซึ่งผู้วิจัยนำเสนอข้อสรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะตามลำดับ ดังนี้
1. รูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model เพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดของนักเรียนโรงเรียนสองครพิทยาคม ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ประกอบด้วย A (Assessing) : การประเมินเบื้องต้น, P (Planning) : การวางแผนนิเทศ, I (Informing) : การให้ความรู้ก่อนดำเนินการนิเทศ, D (Doing) : การดำเนินงานนิเทศ, C (Coordinating) : การประสานงาน และE (Evaluation) : การประเมินผลการนิเทศ มีการตรวจสอบความสมเหตุสมผลและความเป็นไปได้ของรูปแบบการนิเทศภายในโดยผู้เชี่ยวชาญและปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือที่ใช้และเตรียมการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน
2. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model เพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดของนักเรียนโรงเรียนสองครพิทยาคม ผู้วิจัยสรุปผลได้ดังนี้
2.1 สมรรถนะการสอนตามเทคนิคการดำเนินการนิเทศภายใน พบว่า ครูมีมีสมรรถนะการสอนตามเทคนิคการดำเนินการนิเทศภายใน หลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model โดยรวมอยู่ในระดับสูงมาก (ร้อยละ 88.95) เมื่อแยกพิจารณาพบว่า มีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับสูงมาก (ร้อยละ 86.20) และความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับสูงมาก (ร้อยละ 94.68) เช่นกัน และสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model อย่างมีนัยสำคัญ (p-value < 0.05) และมีความสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ เมื่อสิ้นสุดการทดลองรูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model โดยรวมอยู่ในระดับสูง ( X = 21.04)
2.2 สมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิด พบว่า ครูโรงเรียนสองครพิทยาคมมีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดหลังจากการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model โดยรวมอยู่ในระดับสูงมาก (ร้อยละ 83.39) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ครูมีความรู้ในการเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ส่งเสริมการคิดอยู่ในระดับสูงมาก (ร้อยละ 81.66) และครูมีสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญ (p-value < 0.05)
2.3 ความพึงพอใจต่อรูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model พบว่า ครูโรงเรียนสองครพิทยาคม มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( X= 4.54) เมื่อพิจารณาโดยรวมในแต่ละด้าน พบว่า ด้านองค์ประกอบของรูปแบบมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ( X= 4.61) รองลงมา คือ ด้านกระบวนการ( X= 4.60) ด้านการนำไปใช้ ( X= 4.53) และด้านผลของการใช้รูปแบบ (X = 4.45) ตามลำดับ
2.4 ทักษะกระบวนการคิดของนักเรียน พบว่า นักเรียนโรงเรียนสองครพิทยาคมที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้โดยครูผู้สอนที่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะโดยใช้รูปแบบการนิเทศภายใน APIDCE Model มีทักษะกระบวนการคิดหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ (p-value< 0.05)