โดย กลิ่น สระทองเนียม
การที่ประเทศไทย ต้องมาคิดปฏิรูปการศึกษากันอีกครั้ง ต้นเหตุกหลักก็น่าจะมาจาก ปัญหาคุณภาพการศึกษา ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ ก็คือ ผลการประเมินไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือนานาชาติที่ออกมาสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ที่เพิ่มช่องว่างห่างจากนานาชาติออกไปทุกขณะ หรือแม้แต่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเองก็ยังตามหลังหลายชาติไปแล้ว ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาของชาตินั้นผู้เขียนเองได้นำเสนอความเห็นไปหลายต่อหลายครั้งแต่ด้วยขาดพลังที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้ ครั้งนี้จึงอยากให้ฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งอาจจะ ช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนไปได้บ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่านี้ คือ คุณโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. ที่ได้ให้ความเห็นเรื่องของคุณภาพการศึกษาไว้ดังนี้
ตามที่ได้กล่าวกันว่าการศึกษาของไทยด้อยคุณภาพ ส่วนใหญ่น่าจะหมายถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งที่มีระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาอยู่ด้วย หน่วยงานนานาชาติที่ประเมินคุณภาพการศึกษาของไทย เช่น ธนาคารโลก สถาบัน IMD องค์กร WEF ฯลฯ จะอ้างถึงผลการประเมินคุณภาพการศึกษา ด้วยวิธีการของ PISA ( Programme for International Student Assessment) ของประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ที่ใช้ทดสอบนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่ง PISA เป็นข้อสอบแบบ "อัตนัย" ที่นักเรียนไทยไม่คุ้นเคย เพราะการเรียนการสอนของไทย รวมทั้งข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยใช้ข้อสอบแบบ "ปรนัย" อีกทั้ง สพฐ.ไม่ได้ใช้ PISA เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษา นักเรียนจึงไม่ตั้งใจสอบกันอย่างจริงจัง ผลการประเมิน PISA จึงออกมาไม่ดี ดังนั้นหน่วยงานนานาชาติที่นำไปวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย กล่าวว่าคุณภาพการศึกษาของไทยด้อยกว่าของประเทศอื่น จึงได้ทำให้มีความคิดที่จะ "ปฏิรูปการศึกษา" ได้มีการจัดตั้งสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ ขึ้นมาทำการทดสอบระดับชาติที่เรียกว่า "โอเน็ต" ที่ข้อสอบเป็นแบบปรนัยที่นักเรียนคุ้นเคยกัน แต่เป็นการประเมินศักยภาพนักเรียนตามมาตรฐานหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ผลการประเมินจึงออกมาว่าศักยภาพนัก เรียนยังไม่ถึงมาตรฐานแกนกลาง ทำให้ยิ่งชี้ย้ำลงไปว่าการศึกษาไทยจะต้องมีการปฏิรูป
เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษามีหลากหลาย โดยเฉพาะถ้าต้องการให้องค์กรนานาชาติประเมินว่า การศึกษาของไทยมีคุณภาพดี ก็จะต้อง "ปฏิรูปวิธีการเรียนการสอน" ให้นักเรียนคุ้นเคยกับการสอบแบบอัตนัย ซึ่งจะต้องปฏิรูปจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และ "การสอบคัดเลือกเข้ามหา วิทยาลัย" เป็นแบบอัตนัยด้วย การเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการทดสอบระดับชาติ โอเน็ต ก็จะปฏิรูปตาม นักเรียนไทยก็จะมีความคุ้นเคยกับวิธีการประเมินแบบอัตนัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ข้ออ้างที่ว่ามีนักเรียนจำนวนมากสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย จึงต้องใช้ข้อสอบแบบปรนัยนั้น เป็นการอ้างความสะดวกแทนการยึดหลักการของคุณภาพ จึงเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้มีผลเฉลี่ยของประเทศออกมาต่ำกว่านานาชาติคุณภาพของนักเรียนไทย ครูไทย และหลักสูตรการศึกษาของไทย "ไม่ด้อย" กว่าประเทศอื่น ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะเห็นได้จากตัวชี้วัด PISA ในปี 2012 ที่ค่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ ติดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก ในการประเมิน 3 เรื่อง คือ
การรู้เรื่องการอ่าน เรียงผลตามคะแนนเฉลี่ย ได้ดังนี้
- เซี่ยงไฮ้ (จีน) 570
- กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (ไทย) 554
- ฮ่องกง 545 สิงคโปร์ 540
- ญี่ปุ่น 538 และ
- เกาหลีใต้ 536
โดยค่าเฉลี่ยของสมาชิก OECD 34 ประเทศ อยู่ที่ 496 ประเทศไทยอยู่ที่ 444 (ลำดับที่ 47) โดยโรงเรียนขนาดใหญ่ ได้คะแนนเฉลี่ย 461 โรงเรียนขนาดกลาง 423 และ โรงเรียนขนาดเล็ก 426
เรื่องที่ 2 การรู้เรื่องคณิตศาสตร์
- เซียงไฮ้ (จีน) 613 สิงคโปร์ 573
- กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (ไทย) 570
- ฮ่องกง 561
- ไต้หวัน 560 และ
- เกาหลีใต้ 554
ค่าเฉลี่ยของสมาชิก OECD อยู่ที่ 494 ประเทศไทย อยู่ที่ 423 (ลำดับที่ 50) โดยโรงเรียนขนาดใหญ่ ได้คะแนนเฉลี่ย 442 โรงเรียนขนาดกลาง 390 และ โรงเรียนขนาดเล็ก 403
ด้านที่ 3 คือ การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์
- เซี่ยงไฮ้ (จีน) 580
- กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (ไทย) 565
- ฮ่องกง 555
- สิงคโปร์ 551
- ญี่ปุ่น 547 และ
- ฟินแลนด์ 545
ค่าเฉลี่ยของสมาชิก OECD อยู่ที่ 501 ค่าเฉลี่ยของประเทศไทย อยู่ที่ 441 (ลำดับที่ 48) โดยโรงเรียนขนาดใหญ่ 454 โรงเรียนขนาดกลาง 440 และโรงเรียนขนาดเล็ก 418
แต่หากเปรียบเทียบกับจังหวัดชุมพรเพียงจังหวัดเดียว ด้าน การรู้เรื่องการอ่าน เฉลี่ยอยู่ที่ 442 การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ เฉลี่ยอยู่ที่ 420 และด้านการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เฉลี่ยอยู่ที่ 438 มีมิติหลากหลายในการปฏิรูปการศึกษาของไทย แต่ในมิติคุณภาพระดับนานาชาติ จะต้อง "ปฏิรูปตัวชี้วัดคุณภาพ" ก่อน และให้มียุทธศาสตร์เน้นพัฒนาวิธีการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก สร้างเครือข่ายในแต่ละเขตพื้นที่เพื่อยกค่าเฉลี่ยระดับจังหวัดเหมือนโรงเรียนในจังหวัดชุมพร ด้วยมีโรงเรียนขนาดดังกล่าวประมาณ 90%ของประเทศ จำนวนโรงเรียนขนาดที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นจากการลดลงของประชากร มีจำนวนนักเรียนประมาณ 20 คนหรือน้อยกว่าต่อห้องเรียนตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว อยู่ใกล้บ้าน เป็นจิตวิญญาณของชุมชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจการบริหารจัดการ และลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสการได้รับการศึกษาที่ดีอย่างทั่วถึง
เรื่องราวทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์คุณภาพการศึกษาอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งหลายประเด็น อาทิ การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หากใช้วิธีการอย่างที่ว่ามาน่าจะส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามหลักสูตรได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของคุณภาพที่ว่านี้ ผู้เขียนเองอยากให้มุ่งไปที่คุณภาพชีวิตผู้เรียนเป็นหลัก เพราะการศึกษาคือ ชีวิต คือ ความเจริญงอกงาม คือ กระบวนการทางสังคม คือการสร้างประสบการณ์แก่ชีวิต คุณภาพจึงไม่น่าจะอยู่แค่เก่งเนื้อหาวิชาการอย่างเดียวแต่ต้องเกิดคุณภาพทั้งด้าน พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และ หัตถศึกษา เพื่อชีวิตจะได้อยู่ดี มีสุข เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องตีโจทย์ให้แตก เพราะหากมุ่งสร้างแต่คนเก่งจนลืมรากฐานสำคัญอื่น คนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็คงหนีวงจร " โง่ จน เจ็บ" ไม่ได้การศึกษาจึงต้องสร้างรากฐานทั้ง 4 ด้าน ให้แข็งแกร่งพร้อมส่งเสริมคนเก่งให้ไปสู่ความเป็นเลิศ กลุ่มปานกลางต้องให้ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ ส่วนกลุ่มอ่อนก็ต้องมีทางเดินไปได้หากทำได้เช่นนี้ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาระหว่างคนเมืองกับชนบทก็จะลดน้อยลงได้.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 ธ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)