การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ประเมินความเหมาะสมของโครงการ โดยประยุกต์ใช้วิธีการประเมินตามรูปแบบ CIPP Model ในด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต
2. ประเมินผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจากวัตถุประสงค์ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1) ความมีวินัย ความรับผิดชอบ และปฏิบัติตามหลักธรรมเบื้องต้นของศาสนาที่ตนเองนับถือ 2) ความซื่อสัตย์สุจริต 3) ความกตัญญูกตเวที 4) ความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละเพื่อส่วนรวม 5) ความประหยัด รู้จักใช้ทรัพย์สินของส่วนตนและส่วนรวมอย่างคุ้มค่า 6) ความภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทย นิยมไทยและดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย
3. ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังดำเนินโครงการ
ประชากรที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย คณะครูจำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 137 คน นักเรียน จำนวน 48 คน โดยการสุ่มแบบเจาะจง รวมจำนวนประชากรทั้งหมด 199 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มี 4 ฉบับ คือ แบบบันทึกการประชุมด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม แบบสอบถามความคิดเห็นการดำเนินงานโครงการ ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการและด้านผลผลิตของโครงการ แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการประเมินผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2563
จากการประเมินโครงการสรุปผลการประเมินโดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 สรุปผลการประเมินโครงการ ตามกรอบการประเมินทั้ง 4 ด้าน
ด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม ชุมชนต้องการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักเรียน เพราะในปัจจุบันนี้การขาดคุณธรรม จริยธรรมนับว่าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข โดยการส่งเสริมและสนับสนุน ในการสร้างจิตสำนึก ให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนและเยาวชน ส่วนปัญหาและความต้องการของโรงเรียนคือ ต้องการให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่พึงประสงค์ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งด้านการระดมความคิด การระดมทรัพยากร มีการประชุมชี้แจง สำรวจข้อมูลความต้องการ กำหนดผู้รับผิดชอบ และกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้พร้อมสำหรับการดำเนินงาน
ด้านปัจจัยเบื้องต้นในภาพรวมมีความเหมาะสม ความพร้อมและความเพียงพออยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายข้อ ทั้ง 15 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ผู้รับผิดชอบโครงการมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการดำเนินงานตามโครงการ รองลงมาคือ ผู้รับผิดชอบโครงการมีความเหมาะสมในการดำเนินงานตามโครงการ โรงเรียนมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามโครงการ และกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนเหมาะสมและเป็นลายลักษณ์อักษรตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คืองบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับโครงการเพียงพอต่อการดำเนินงาน
ด้านกระบวนการในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก พิจารณารายข้อทั้ง 15 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานตามโครงการ รองลงมาคือ มีการประชุมชี้แจงและปรึกษาหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการวางแผนในการดำเนินงานตามโครงการ มีการกำหนดกิจกรรมของโครงการไว้อย่างชัดเจน มีการดำเนินโครงการอย่างจริงจังตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความสำคัญของโครงการอย่างเป็นระบบ
ด้านผลผลิตในภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อทั้ง 15 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือนักเรียนมีกิริยามารยาทและมีสัมมาคารวะต่อผู้อื่นมากขึ้น รองลงมาคือ นักเรียนเป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามความต้องการของโรงเรียน การดำเนินโครงการทำให้นักเรียนรู้จักความละอายในการกระทำผิดและเกรงกลัวต่อบาปที่ประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การดำเนินโครงการมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงและปฏิบัติได้
ตอนที่ 2 สรุปผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ในภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับที่ได้ปฏิบัติเป็นประจำ เมื่อพิจารณารายวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ด้าน รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือความกตัญญูกตเวทีและด้านความซื่อสัตย์ มีผลการพัฒนาในระดับได้ปฏิบัติเป็นประจำมากที่สุด รองลงมา ด้านความภูมิใจในความเป็นไทย ความเมตตากรุณา และความประหยัด ตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านความมีวินัย ความรับผิดชอบ
ตอนที่ 3 สรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.32 รองลงมาคือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.92 และกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.61 ตามลำดับ