ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ปฏิรูปการศึกษา : มุ่งการขยายโครงสร้าง คือเลือกทางสู่ความล้มเหลว โดย ประเสริฐ ตันสกุล


บทความการศึกษา 7 มี.ค. 2560 เวลา 15:18 น. เปิดอ่าน : 12,682 ครั้ง

Advertisement

ปฏิรูปการศึกษา : มุ่งการขยายโครงสร้าง คือเลือกทางสู่ความล้มเหลว โดย ประเสริฐ ตันสกุล

“ต้องเฟ้นคนเก่งมาเป็นครู แทนการสร้างโครงข่ายการบริหารเพิ่มความรกรุงรัง เพราะความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ส่วนบริหารกลางมีอำนาจมาก แต่อยู่ที่ครูเก่งและสอนเป็น”

นับจากวันที่มีการกล่าวถึงแผนการพัฒนาประเทศให้พร้อมสำหรับยุค 4.0 เป็นต้นมา มีข่าวว่านักวิชาการและนักต่างๆ ได้ผลักดันให้ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการศึกษาตามจินตนาการเสร็จเป็นผลงานชิ้นเอกไปแล้วส่วนหนึ่ง คือ

ให้แยกสายการบังคับบัญชางานบริหารการศึกษาออกเป็น 12 ภาค ตามภาคภูมิศาสตร์ แต่ลืมกรุงเทพมหานคร และให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเร่งร่างกฎหมายเพิ่มอำนาจขึ้นเป็นระดับกระทรวง ชื่อกระทรวงอุดมศึกษา บังคับบัญชาสถาบันอุดมศึกษาทุกชนิดประเภททั่วราชอาณาจักร ขาดจากกระทรวงศึกษาธิการ พยายามใช้มาตรา 44 เป็นทางลัด

กับอีกเรื่องหนึ่งคือการใช้อำนาจมาตราสี่สี่ ส่งหน่วยกล้าตายคล้ายทหารพรานเข้ายึดมหาวิทยาลัยถึง 4 แห่งอ้างว่าเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่กำลังในหน่วยที่เข้ายึดไม่รู้ว่าส่วนไหนของหลักธรรมาภิบาลที่ขาดไปและแก้ด้วยกฎหมายธรรมดาไม่ได้ และสิ่งที่จะสร้างขึ้นมาแทนอย่างเฉียบพลันคืออะไร ตอนนี้มีข่าวว่ากำลังขอใช้อำนาจมาตราสี่สี่เป็นเส้นลัด สำหรับถอนกำลังกลับ ป้องกันราษฎรเขาตามตี

ณ วันนี้ ยังไม่มีใครทราบว่าการปฏิรูปลักษณะนี้จะทำให้คนไทยในยุค 4.0 เป็นอย่างไร มีความสามารถอะไรเพิ่มขึ้นตามความต้องการของยุค 4.0 หรือไม่ จะตามทันสิงคโปร์ กับเวียดนาม เขมร ลาว ได้หรือไม่

มันจึงเป็นข่าวที่น่าเศร้า

แต่…บังเอิญมีข่าวจากมติชนเมื่อเร็วๆนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีดำริเกี่ยวกับเรื่องกรมการฝึกหัดครูที่เคยมีในอดีตว่า สามารถทำให้ไทยได้ครูที่มีคุณภาพ จึงให้ไปคิดทบทวนว่าจะตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้นมาใหม่เพื่อรับผิดชอบการฝึกหัดครูโดยตรงจะทำได้หรือไม่ ซึ่งต้องนับว่าเป็นข่าวดีชิ้นแรกเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาทีเดียว

ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับกรมการฝึกหัดครูหรอก เพราะมันถูกยุบไปนานแล้ว แต่มันเป็นข่าวดีที่ชี้ว่า หัวหน้ารัฐบาลกำลังโยนคำถามอมตะถาวรของการปฏิรูปประเทศให้นักปฏิรูปการศึกษาตอบว่า “ที่พวกคุณกำลังปฏิรูประบบบริหารเพิ่มอำนาจกันและกันอยู่นั้น คนไทย ประเทศไทย จะได้อะไร”

เป็นคำถามอ้อมๆ เชิงแนะนำที่ตรงจุดที่สุด ที่เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวดังทั่วโลกว่า จากการทดสอบ PISA พบว่าเด็กในหลายประเทศที่เคยด้อยกว่าไทย ได้ก้าวไปยืนเด่นนำหน้าไทยแล้ว จึงมีนัยเชิงเตือนสติว่าควรจะหาทางแก้ไขมากกว่าจะแก้ตัว และควรไปดูว่าประเทศอื่นเขาทำได้อย่างไร เช่น ฟินแลนด์ โปแลนด์ เกาหลี สิงคโปร์ อเมริกา ที่เขาก้าวไปอยู่ข้างหน้าเราหลายก้าวนั้น เป็นเพราะการปฏิรูปโครงสร้างเพิ่มอำนาจบริหาร หรือเพราะการปฏิรูปการผลิตครูและการจัดการเรียนการสอนของครูให้มีคุณภาพกันแน่

จากผลการจัดอันดับประเทศตามผลการสอบ PISA ที่ปรากฏว่าเด็กไทยถอยหลัง แต่ฟินแลนด์กับเกาหลียังนำโด่งอยู่อย่างเดิมนั้น Amanda Ripley ได้ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบวิธีการจัดการศึกษาของประเทศที่อยู่ในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะฟินแลนด์ เกาหลี โปแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ที่สรุปได้จากการสัมภาษณ์นักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และเขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Smartest Kids in the World and how they got that way (2013) มีข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจมาก

ซึ่งบังเอิญคล้ายจะมีเฉลยคำตอบต่อคำถามของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้อยู่ด้วย

มีอยู่ตอนหนึ่ง (หน้า 116) เขาเล่าว่า เกาหลีกับฟินแลนด์นั้นมีความแตกต่างกันหลายด้านเกือบจะทุกด้าน แต่ที่เหมือนกันคือ ทั้งสองประเทศถือว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และมวลมหาประชาชนเชื่อเหมือนกันว่าคนที่จะเป็นครูได้จะต้องเป็นผู้มีการศึกษาดีที่สุดและประสบความสำเร็จสูงเท่านั้น และรัฐบาลก็ได้ทุ่มเงินจากภาษีของประชาชนจำนวนมากให้กับการฝึกหัดครู การอบรมครูประจำการเพิ่มเติม และให้วิทยาลัยครูทุกแห่งได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ แทนที่จะนำไปซื้อไอแพดแจกเด็กประถมปีที่หนึ่ง หรือซอยชั้นเรียนให้มีเด็กจำนวนน้อยลง

ในฟินแลนด์ คนที่จะได้บรรจุเข้าเป็นครูต้องเรียนในวิทยาลัยครูมาโดยเฉพาะ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนหกปี ได้วุฒิปริญญาโท โปรแกรมการฝึกหัดครูจะเริ่มในชั้นปีที่ 4 จะต้องฝึกสอนในโรงเรียนอยู่ 1 ปีเต็ม นักเรียนที่จะเข้าเรียนในวิทยาลัยครูได้ ต้องเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งที่สุดเท่านั้น รัฐบาลมีทุนการศึกษาให้

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้บริหารประเทศของเขาเชื่อว่าการศึกษาคือสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้ประเทศของเขาไม่ล้าหลัง และชาวฟินแลนด์เชื่อว่ามีทางเดียวที่จะทำให้สำเร็จได้คือ ต้องเฟ้นหาคนที่ดีที่สุดและเก่งที่สุดในยุคมาฝึกอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทำหน้าที่ครูมืออาชีพในโรงเรียน ซึ่งเขาเริ่มทำในปี 1980 เรื่อยมาและในปี 1990 ก็ประสบความสำเร็จ ขณะนี้มาตรการตรวจ ติดตาม ประเมินครูตามโรงเรียนเพื่อควบคุมการสอน และการบรรจุครู โดยเจ้าหน้าที่ในสำนักงานบริหารส่วนกลางถูกยกเลิก เขาให้โรงเรียนคัดเลือกครูได้เอง ให้ครูมีอิสระในการสอน ให้มีส่วนในการจัดทำหลักสูตรกลางของชาติ และมีสิทธิเลือกตำราเรียนที่ใช้สอนได้ เพราะครูของเขาทุกคนเป็นมืออาชีพ ได้รับการฝึกมาตามแนวทางที่ควรได้รับการฝึก และให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ครูสมควรต้องได้รับ

รัฐบาลทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของโรงเรียนด้วยการสุ่มนักเรียนจำนวนหนึ่งจากโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง ให้ทำข้อสอบมาตรฐานเป็นครั้งคราว แทนที่จะต้องสอบวัดความรู้นักเรียนทุกคนประจำทุกๆ ปี

ฟังดูแล้วที่ฟินแลนด์ทำอยู่ คล้ายกับที่ประเทศไทยเคยทำมาก่อนตั้งแต่ยุคประเทศสยาม ซึ่งเราถือว่าการศึกษาของประชาชนมีความสำคัญสูงสุดในด้านความมั่นคงและการก่อร่างสร้างประเทศ รัฐทำหน้าที่ผลิตครูที่มีความรู้ความสามารถป้อนให้กับโรงเรียนทุกแห่งหน ทุกซอกมุม ทั่วราชอาณาจักรอย่างทั่วถึง ซึ่งเราทำสำเร็จมาทุกยุค แต่วันนี้ เราเลิกไปแล้ว ส่วนฟินแลนด์ยังทำอยู่… ทำไมเขาก้าวหน้า แต่เราถอยหลัง ลองมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น

การศึกษาของไทยที่จัดขึ้นในยุคต้น เป็นการวางรากฐานสำคัญตามพระราชประสงค์ของบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งกรุงสยาม เพื่อนำประเทศออกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเน้นการปลูกฝังทักษะที่จำเป็นสูงสุดเพื่อการนั้นแก่ประชาชนพลเมือง นั่นคือ พุทธิศึกษา พลศึกษากับจริยศึกษา ให้รู้หนังสือ อ่านออก เขียนได้ มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีคุณธรรมจริยธรรม ให้บางส่วนรับใช้ราชการบริการประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งได้เน้นที่การฝึกหัดครู ถึงกับจ้างครูฝรั่งชื่อ Mr. G.H. Greenrod มาสอนในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ที่หลายท่านเคยได้ยินมา

ในยุคต่อมาเมื่อมีข้าราชการเพียงพอกับความต้องการแล้ว ได้มีการเพิ่ม “หัตถศึกษา” เข้าไปในระบบการศึกษาเพื่อวางรากฐานในการประกอบการอาชีพที่ไม่ใช่ข้าราชการสำหรับประชาชน เราก็มีการฝึกหัดครูอาชีวะ และครูพละ

ต่อมาในยุคการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าขายกับต่างประเทศขยายตัวขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การศึกษากลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรแตกต่างกัน รัฐบาลในยุคนั้นไม่ได้พล่ามอย่างเดียว แต่ได้ลงมือทำ เพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นชนบทห่างไกลและกันดารมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาทั้งพื้นฐานและเพื่อการอาชีพ
ได้ด้วย ทั้งได้พยายามให้การศึกษาของชาวชนบทห่างไกลมีมาตรฐานใกล้เคียงกับการศึกษาที่จัดให้คนในเมืองใหญ่ นั่นคือเรายังถือว่าการฝึกหัดครูเป็นหัวใจสำคัญ

ฝ่ายการเมืองก็กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับขึ้น ฝ่ายบริหารในเบื้องต้นต้องจัดโรงเรียนให้เด็กเรียนอย่างเพียงพอในทุกท้องที่ จัดโรงเรียนสอนวิชาชีพ ต้องมีครูเพียงพอกับภารกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยวิทยาลัยครูที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง กับวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในสังกัดกรมการฝึกหัดครู และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เปิดสอนมาแต่ดั้งเดิมเท่านั้น ผลผลิตจึงไม่เพียงพอกับความต้องการอันจำเป็น

นี่แหละครับท่านศาสตราจารย์ทั้งหลาย โรงเรียนฝึกหัดครูจึงเกิดขึ้น และต้องเกิดขึ้นหลายแห่งเพราะยุคนั้นไม่มีเครื่องบินโดยสาร ไม่มีรถทัวร์ นอกเส้นทางรถไฟ ก็มีแต่เกวียนกับเรือพายหรือแจว ถนนบางแห่งรถยนต์ต้องไต่ไปบนสะพานที่ใช้ต้นมะพร้าวพาดข้ามคูคลอง คนที่เขามาเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯได้ ถ้าไม่จำเป็นเขาก็จะขอไปรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนที่สะดวกกว่า และมีโอกาสก้าวหน้ากว่าโรงเรียนบ้านโคกขี้แร้ง

ดังนั้น การเคลื่อนย้ายอาจารย์กลุ่มน้อยๆ ที่ยังหาได้ไม่มาก ให้ไปสอนในพื้นที่ชนบทที่คนกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นชนบท ต้องนับเป็นยุทธศาสตร์การบริหารการศึกษาขั้นยอดนะท่านศาสตราจารย์ ใครบอกว่าหลับหูหลับตาเปิดโรงเรียนฝึกหัดครู เพราะโง่เง่าคิดไม่เป็น อย่าไปเชื่อเขา คนพูดเขาคิดเชิงเดี่ยว ขาดทักษะคิดเชิงบริหาร และรู้ไม่จริง

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ เมื่อรัฐบาลประกาศขยายการศึกษาบังคับจากสี่ปีเป็นเจ็ดปีตามที่รับปากกับยูเนสโกในยุคนั้น สิ่งที่ตามมาในเชิงปฏิบัติคือ ต้องเพิ่มชั้นเรียนจากประถมสี่ปีที่มีอยู่เดิมไปเป็นเจ็ดปี

แปลว่าในปีนั้น ถ้าเรามีครูประจำชั้นประถมสี่อยู่ร้อยคน เราก็ต้องการครูเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งร้อยคนทันที สำหรับสอนชั้นประถมห้า และอีกร้อยคนในปีถัดไป และปีถัดไป นั่นคือกรมการฝึกหัดครูต้องผลิตครูประถมเพิ่มให้ได้ อย่างน้อยอีกหนึ่งเท่าตัวของจำนวนครูประถมทั้งประเทศที่มีอยู่ ณ วันนั้น นะทูนหัว

ในยุคที่ความต้องการครูยังน้อย เราใช้วิธีคัดคนเก่งที่สุดในท้องถิ่นให้รับทุนมาเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครูที่มีคุณภาพในกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อความต้องการครูเพิ่มขึ้นฮวบฮาบตามนโยบายขยายการศึกษาบังคับเร่งด่วน เราต้องสร้างที่เรียนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เราจึงยกทีมอาจารย์ฝึกหัดครูเก่งๆ กลุ่มเล็กๆ ไปจัดการฝึกหัดครูในท้องถิ่นต่างจังหวัด เพื่อให้วิทยาลัยครูแห่งหนึ่งเปิดโอกาสให้คนเก่งที่สุดในท้องถิ่นสองจังหวัดมาเรียนได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลเกิน เสียค่าใช้จ่ายน้อย ได้ฝึกสอนในโรงเรียนในท้องถิ่นตามสภาพจริง และประกันการไม่ทิ้งถิ่นไปหางานอื่นในเมืองหลวง

ปัญหาอุปสรรคของการเปิดสถาบันอุดมศึกษาขึ้นใหม่ในต่างจังหวัดยุคนั้นคือ อาจารย์ที่มีคุณวุฒิตามเกณฑ์มีน้อย ส่วนใหญ่ก็จะไม่สนใจไปประจำทำการสอนในถิ่นชนบท เพราะมันกันดาร ไม่มีที่อยู่ บ้านเช่าก็หายาก อยู่กรุงเทพฯสบายกว่า ยังจำได้ว่า ยุคที่เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องจ้างให้อาจารย์จากกรุงเทพฯบินไปสอนพิเศษแล้วบินกลับ ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดีกว่าหน่อย ได้ใช้บริการของอาจารย์จากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ไปช่วยหลายราย มหาวิทยาลัยอุบลฯยุคก่อนก็ไม่ต่างกัน ขนาดจ้างอาจารย์บินไปและบินกลับ ยังร้างอยู่ตั้งหลายปี

แต่กรมการฝึกหัดครูเข้าใจปัญหาและไม่มองปัญหาเชิงเดี่ยว จึงเน้นการสร้างหอพักและบ้านพักสำหรับอาจารย์ในวิทยาลัยครูต่างจังหวัดแต่ละแห่งอย่างเพียงพอ ทำให้บัณฑิตที่เก่งที่สุดจากทุกมหาวิทยาลัยต่างเลือกที่จะไปอยู่กับวิทยาลัยครูก่อนเป็นอันดับแรก นี่เรื่องจริงนะ… ไม่ได้โม้…

การกำหนดเขตพื้นที่ให้มีวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งรับผิดชอบการผลิตครูให้กับโรงเรียนในพื้นที่สองจังหวัดที่พอมีเส้นทางติดต่อถึงกันได้ โดยการสร้างบ้านพักอาจารย์ให้เพียงพอเป็นสวัสดิการให้กับอาจารย์ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นบุญคุณทำให้การจัดการศึกษาบังคับประสบผลสำเร็จได้

ยุคนั้นมีจังหวัดอยู่ 72 จังหวัด เราจึงมีวิทยาลัยครูอยู่ 36 แห่ง กระจายอยู่ตามจังหวัดชนบทห่างไกลทั่วทุกภาคภูมิศาสตร์ จากยะลา ขึ้นเหนือจรดเชียงราย ทางอีสาน จากเลยไปสุรินทร์ ตะวันออกที่จันทบุรี และตะวันตกที่กำแพงเพชร ซึ่งคนที่จะเข้าใจยุทธศาสตร์นี้ได้ต้องอาศัยทักษะคิดเชิงบริหาร ส่วนที่เป็นบุคลิกภาพ คือความมุ่งมั่น ทักษะคิดใคร่ครวญไตร่ตรองเชิงสร้างสรรค์ ไม่มักง่ายใช้ความรู้วิชาการเชิงเดียว ถ้าขาดไปก็จะตามยุทธศาสตร์เช่นนี้ให้ทันค่อนข้างยาก

ในบรรดาวิทยาลัยครู 36 แห่งนั้น ที่สร้างขึ้นใหม่หลังสุดแปดแห่งตามแผนเป็นโครงการที่ผ่านการศึกษาวิจัย ตรวจสอบ ประเมินทั้งเชิงเอกสารและเชิงประจักษ์จากคณะนักวิชาการ ที่ประกอบด้วยนักสถิติ นักเศรษฐศาสตร์ และนักการศึกษา ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก (IMF) เป็นโครงการแรกของ ADB ในประเทศไทย

ต่อมาได้มีการปฏิรูปการศึกษาใหม่อีก เพื่อสนองนโยบายทำให้ไทยเป็น “นิค” นักปฏิรูปการศึกษาได้เน้นการผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และอาชีวศึกษา โดยให้ยกเลิกการฝึกหัดครู ให้วิทยาลัยครูทุกแห่งหันมาช่วยผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์ ยุบกรมการฝึกหัดครู ปรับโครงสร้างการบริหารอุดมศึกษาให้มีอำนาจควบคุมชี้สั่งกำหนดกรอบและขอบเขตงานบริหาร งานวิชาการและงานวิจัย ตลอดจนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาทุกชนิดประเภท ภายใต้อาญาสิทธิ์แห่งตราประทับของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ทุกมหาวิทยาลัยจนมุมออกนอกแถวไม่ได้ โครงการคุรุทายาทของกรมการฝึกหัดครูถูกยกเลิก

มาวันนี้ผล PISA ที่ไม่ได้วัดความรู้ แต่เน้นวัดความสามารถคิดใช้ประโยชน์จากความรู้ บอกว่าความสามารถของเด็กไทยถดถอยด้อยลงจนล้าหลัง ถึงเวลาละเส้นทางอำนาจนิยม เดินออกจากเขาวงกตกันได้แล้วหรือยังล่ะขอรับ ท่านผู้มีวิชากล้าแกร่ง ท่านนายกฯชี้ให้คิดแล้วว่าการวนอยู่ในเขาวงกตหลายๆรอบไม่ใช่คำตอบ ควรคิดขยับหมากรุกตัวไหนไปทางไหน บ้านเมืองคือขุน จึงจะไม่จนกลางกระดาน

ประเสริฐ ตันสกุล


ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 7 มี.ค. 60 เวลา: 13:00 น.

 


ปฏิรูปการศึกษา : มุ่งการขยายโครงสร้าง คือเลือกทางสู่ความล้มเหลว โดย ประเสริฐ ตันสกุลปฏิรูปการศึกษา:มุ่งการขยายโครงสร้างคือเลือกทางสู่ความล้มเหลวโดยประเสริฐตันสกุล

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

:: เรื่องปักหมุด ::

ลดการสอบเพื่ออะไร ?

ลดการสอบเพื่ออะไร ?

เปิดอ่าน 9,723 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
8 วิธีปรับโฉม "โรงเรียน" ใหม่ จัดอย่างไรให้เด็กเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
8 วิธีปรับโฉม "โรงเรียน" ใหม่ จัดอย่างไรให้เด็กเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
เปิดอ่าน 20,189 ☕ คลิกอ่านเลย

กรณีตัวอย่างการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ
กรณีตัวอย่างการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ
เปิดอ่าน 49,306 ☕ คลิกอ่านเลย

การศึกษาไทยจะเอา "คุณภาพ" หรือ "คุณธรรม"
การศึกษาไทยจะเอา "คุณภาพ" หรือ "คุณธรรม"
เปิดอ่าน 23,312 ☕ คลิกอ่านเลย

7 คำถามที่ควรถามลูก...หลังลูกจากกลับจากโรงเรียน
7 คำถามที่ควรถามลูก...หลังลูกจากกลับจากโรงเรียน
เปิดอ่าน 9,915 ☕ คลิกอ่านเลย

การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตเป็น‘ผู้นำสังคม’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร
การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตเป็น‘ผู้นำสังคม’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร
เปิดอ่าน 16,560 ☕ คลิกอ่านเลย

หนี้การศึกษา
หนี้การศึกษา
เปิดอ่าน 7,911 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

5 เทคนิคเริ่มอาชีพเสริมอย่างมั่นใจ
5 เทคนิคเริ่มอาชีพเสริมอย่างมั่นใจ
เปิดอ่าน 21,738 ครั้ง

ประโยชน์ของการสื่อสารข้อมูล
ประโยชน์ของการสื่อสารข้อมูล
เปิดอ่าน 175,494 ครั้ง

การแรเงา
การแรเงา
เปิดอ่าน 72,038 ครั้ง

13 สไตล์การกินระบายอารมณ์
13 สไตล์การกินระบายอารมณ์
เปิดอ่าน 18,502 ครั้ง

อยากลดน้ำหนักได้เร็วขึ้น อย่าพลาดผัก-ผลไม้เหล่านี้นะ
อยากลดน้ำหนักได้เร็วขึ้น อย่าพลาดผัก-ผลไม้เหล่านี้นะ
เปิดอ่าน 29,803 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ