เปิดเทอมแล้วค่ะ ตอนนี้เด็ก ๆ หลายคนอาจกำลังเห่อชุดนักเรียนใหม่ กระเป๋าใหม่ ถุงเท้ารองเท้าใหม่ ตลอดจนกล่องดินสอ สมุด ปากกา ยางลบใหม่ ฯลฯ ที่คุณพ่อคุณแม่ ตลอดจนญาติ ๆ ซื้อมาฝาก เพื่อให้เอาไปใช้เรียนหนังสือที่โรงเรียนกันอยู่ก็เป็นได้
และก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกนะคะ ว่าเด็ก ๆ มักจะชอบของใช้น่ารัก ๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ถ้าขอมี เจ้าดินสอลายการ์ตูน ยางลบสีชมพู หรือไม้บรรทัดห้อยตุ้งติ้งน่ารัก ๆ เอาไว้สักชิ้นในกล่องดินสอ ก็อาจรู้สึกเหมือนห้องเรียนมันช่างสดใสเสียจริง ส่วนเด็กผู้ชายก็อาจแตกต่างกันออกไป บางคนก็ชอบกล่องดินสอหุ่นยนต์ กดนั่น นู่น นี่ หรือแปลงร่างได้ บางคนก็ชอบยางลบลวดลายแปลก ๆ กบเหลาดินสอไฮเทค หรือไม่ก็เตรียมพกตุ๊กตุ่นตุ๊กตา ของใช้ที่ไม่เหมือนใครไปโรงเรียน เพราะมีแล้วรู้สึกชีวิตมันเฟี้ยวฟ้าวดีจัง
แต่ทั้งหมดนี้ บางทีก็นำไปสู่ปัญหาที่พาพ่อแม่ปวดหัวได้ค่ะ เพราะทันทีที่เด็กเปิดกล่องดินสอ เขาก็พร้อมจะหยิบ "เครื่องเขียนสุดกิ๊บ" ขึ้นมาอวดกัน และก็มีเด็กหลายคนเหมือนกันค่ะ ที่ไม่สามารถ "รักษา" อุปกรณ์เครื่องเขียนน่ารัก ๆ เหล่านั้นเอาไว้กับตัวได้นาน บางทีตกเย็น คุณพ่อคุณแม่ไปรับจากโรงเรียน เปิดกล่องดินสอดูอาจพบว่า กล่องดินสอว่างเปล่า ยางลบน่ารัก ๆ หายไปเสียแล้ว ส่วนดินสอลายการ์ตูนที่อุตส่าห์เหลาไว้ดิบดี ก็เหลืออยู่ไม่กี่แท่ง
ถามไปถามมาอาจได้คำตอบว่า เพื่อนเห็นแล้วชอบเลยแย่งไปบ้าง หรือไม่ก็เพื่อนขอไปบ้าง ตลอดจนลูกใจดี แจกเพื่อน (เอง) บ้าง แม้เราจะยังไม่มีเทคนิครักษากล่องดินสอ หรือเครื่องเขียนให้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยที่แน่นอนตายตัว แต่เราก็มีเทคนิคในการรักษาจิตใจของครอบครัว ไม่ให้หงุดหงิด หรือเศร้าไปกับการสูญเสีย "สิ่งของ" ค่ะ เริ่มจาก
1. ยอมรับและเข้าใจความแตกต่างของแต่ละครอบครัว ทุกคนที่เคยผ่านวัยเด็กมาก่อนคงเข้าใจกฎข้อนี้ดี ไม่มีเด็กคนไหนไม่ชอบของน่ารัก ๆ หรือของแปลก ๆ หรอกค่ะ เหมือนพ่อแม่เอง สมัยเด็ก ๆ ก็อาจเคยมี หรือไม่มี ดินสอปากกาน่ารัก ๆ เหล่านี้ และเคยเกิดความรู้สึกเห็นดินสอของเพื่อนสวยดี ก็อยากได้บ้าง
กรณีที่คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนมีใจหงุดหงิด โมโห ลงโทษลูก โทษฐานไม่รู้จักรักษาของ นอกจากเด็กจะเสียใจแล้ว ยังอาจทำให้เด็กมีความรู้สึกในแง่ลบกับการแบ่งปันของต่าง ๆ ให้กับคนอื่นด้วยค่ะ
2. สร้างกฎในการใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างคุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น อาจจะกำหนดว่า จะซื้อดินสอการ์ตูนให้แค่ 1 กล่องเท่านั้น (และต้องใจแข็ง) ถ้าใช้ไม่รักษา หรือให้เพื่อนยืมไปหมด ก็จะไม่ซื้อเพิ่มให้แล้ว เป็นต้น
3. แจ้งให้คุณครูทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เพื่อที่คุณครูจะได้คอยสอดส่องเป็นหูเป็นตา ดูแล อบรมสั่งสอนเด็ก ๆ ในทางที่เหมาะสมมากขึ้น
4. หาโอกาสทำขนมให้ลูกนำไปแจกเพื่อน ๆ บ้างตามโอกาสอันสมควร แต่ไม่ใช่แจกพร่ำเพรื่อ
5. สอนให้ลูกปฏิเสธเพื่อนเป็น การปฏิเสธที่ใช้กับเด็กได้ผลอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคำว่า "ไม่" เสมอไป การเบี่ยงเบนความสนใจของเพื่อนลูกให้ไปอยู่กับสิ่งอื่นที่เขามีก็อาจช่วยได้ เช่น บอกเพื่อนว่า เธอก็มีดินสอของเธอนี่ สีสวยออก หรือดินสอเธอเขียนตัวหนังสือได้เข้มดีนะ เพื่อที่เพื่อนของลูกจะได้หันไปให้ความสนใจกับสิ่งที่เขามีแทนค่ะ
ส่วนถ้าท่านผู้อ่านเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกชอบไปแย่งของเพื่อนนั้น คุณหมอสินดี จำเริญนุสิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กฝากคำแนะนำ และทางแก้ไขปรับเปลี่ยนมาดังนี้ค่ะ
"ถ้าเหตุการณ์การแย่งของเพื่อนนั้นเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ก็ต้องรีบจับตัวลูกเราเอาไว้แล้วให้เอาของไปคืนเพื่อนทันที ลูกจะได้เรียนรู้ว่าของชิ้นนี้ไม่ใช่ของเรา ต้องคืนเพื่อน ของเราคืออะไรให้ใช้ในส่วนนั้น หรือถ้าอยากจะขอยืม ต้องทำอย่างไร ต้องขอยืมดี ๆ แล้วต้องเอาไปคืนเพื่อนด้วย ตรงจุดนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องสอน และทำให้ดูเป็นตัวเอง เพราะเด็กยังไม่สามารถรับรู้ได้เอง จึงต้องมีแบบอย่างค่ะ"
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดมีวิธีดี ๆ ที่เคยใช้แล้วได้ผลจะนำมาแบ่งปันกับครอบครัวอื่น ๆ ทีมงานก็ขอน้อมรับด้วยความขอบคุณค่ะ
แหล่งข้อมูล โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์