ยาทุกชนิดมีชื่อของมัน โดยทั่วไปเรามักเรียกชื่อยาตามสรรพคุณที่รักษาอาการป่วยไข้ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่บางคนติดที่จะเรียกชื่อทางการค้า หรือยี่ห้อของยานั้นมากกว่า โดยไม่รู้ว่ายานั้นมีชื่อสามัญว่า อย่างไร
ชื่อสามัญก็คือชื่อจริงของตัวยา ที่เรียกเพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั่วโลก ส่วนใหญ่เรียกตามชื่อสารเคมีที่นำมาทำยา เลยเรียกยาก ไม่คล่องปาก บางทีเป็นคำยาวๆ ไม่สื่อความหมายอะไร แต่สำหรับคนทั่วไปควรรู้จักไว้บ้าง อย่างเช่น ยาแก้ปวดมีชื่อสามัญว่า “พาราเซตามอล” ยาแก้ระบบข้อและกล้ามเนื้ออักเสบ ชื่อสามัญ “ไอบูโพรเฟน” ยารักษาโรคเชื้อรา คือ “คีโตโคนาโซล” เป็นต้น
การที่เราต้องเรียกชื่อยาให้ถูกต้องตรงตามชื่อของเขาเอง โดยไม่เรียกตามอาการนั้นมีข้อดีมากมาย ใน เรื่องนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดทำหนังสือเล่มเล็กๆ ให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องยาชื่อสามัญเอาไว้ ว่า
ยาชื่อสามัญ จะทำให้เราไม่ยึดติดกับยี่ห้อ ป้องกันไม่ให้ใช้ยาซ้ำซ้อน ป้องกันการรับยาเกินขนาด ป้องกันการแพ้ยาซ้ำซาก ลดการสูญเสียเงินจากความไม่รู้ว่าเป็นยาตัวเดียวกัน
ยาชื่อสามัญ ช่วยให้ประหยัดเลือกยาได้เหมาะกับกำลังทรัพย์ที่มี เพราะยาชนิดเดียวกันแต่ต่างยี่ห้ออาจใช้งบโฆษณา ทำตลาด ต่างกัน ส่งผลถึงราคาถูกแพงไม่เหมือนกัน
การเรียกยาด้วยชื่อสามัญ ยังช่วยชาติและส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศ ทั้งยังเปิดโลกทัศน์ ทำให้รู้จัก “ยา” ได้ดียิ่งขึ้น
ถ้าอยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ ลองอ่าน “ยาชื่อสามัญ” หนังสือเล่มเล็ก ฉบับอ่าน ง่าย ติดต่อรับได้ฟรี ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400 โทร. 0-2248-3734-7.
ที่มา ไทยรัฐ