ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ไม่มีอะไรได้...ไม่มีอะไรเสีย ..


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 6,240 ครั้ง
ไม่มีอะไรได้...ไม่มีอะไรเสีย ..

Advertisement

 

ไม่มีอะไรได้...ไม่มีอะไรเสีย

            ต่อไปพากันตั้งใจฟังธรรม การฟังธรรม ฟังให้เกิดประโยชน์ ฟังเพื่อให้เข้าอกเข้าใจให้มันเป็นประโยชน์ สำรวมอายตนะทั้งหลาย ให้เหลือไว้แต่จิต พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ฟังธรรม การปฏิบัติธรรม ให้สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กายอายตนะของเรามีหก ปิดไว้ห้า เหมือนบุรุษจะจับเหี้ยๆ มันอยู่ในโพรงจอมปลวก จอมปลวกมีรูอยู่หกรูปิดไว้ห้ารู เหลือไว้รูเดียว คอยดักจับเหี้ยมันจะออกมา ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือไว้แต่ใจ ทำใจให้เป็นหนึ่งไว้คอยจับอารมณ์อาการกิเลสทั้งหลายมันจะเข้าไปจิตใจมนุษย์เราทั้งหลาย มันไม่แปลกอะไรกับเทปถ้าเราเปิดเครื่องบันทึกเสียงอะไรต่างๆ มันจะเข้าไปวุ่นว่ายนเทปนั้น เปิดฟังก็ไม่รู้เรื่อง ใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างพูดเสียงอึงคะนึง เลยไม่รู้เรื่อง ว่าท่านเทศน์อะไร ถ้าเราเงียบๆ ทำจิตให้เป็นหนึ่ง นั่งหลับตาดีๆ สำรวมไว้ มันก็จะเหมือนกันกับเราอัดเทปในที่เงียบๆ มันจะไม่มีเสียงอะไรเข้าไปปะปนในเทปนั้น จะมีความรู้สึกสงบ ระงับ ธรรมก็จะเข้าถึงจิตใจของเรา เหมือนเทปอัดไว้ในที่ไม่มีเสียงรบกวนเวลาเราต้องการจะเปิดฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชัดเจนน่าฟังจิตมนุษย์เรานี้ก็เหมือนกันฉันใด เมื่อเราฟังถึงยังไม่รู้เรื่องก็ฟังให้จิตเป็นหนึ่ง มันจะป้อนเนื้อธรรมเข้าไปอัดเข้าไว้ บางคนก็ไม่รู้จักไม่เข้าใจ ได้แต่ความสงบค่อยฟังไป ค่อยบำเพ็ญไป ค่อยปฏิบัติไป ค่อยศึกษาไปเรื่อยๆ ต่อไปอนาคตข้างหน้า มันจะปรากฏเหตุการณ์ขึ้นมาในมโนภาพเหมือนกันกับม้วนเทป การพิจารณาธรรมจะเกิดขึ้นมาเพราะความสงบเป็นเหตุเป็นนิสัย เป็นปัจจัยปฏิบัติไปมันจะพ้น ขึ้นมา

            พระบรมศาสดาตรัสว่า นิสัยปัจจัย คำที่ว่านิสัยปัจจัยนั้นไม่รู้มันอยู่ที่ไหน? ไม่เห็น แต่มันก็มีอยู่ บางคนสอนได้ง่ายๆ บางคนฟังยาก สอนยาก มันก็ใจเหมือนกันทำไมมันไม่เหมือนกัน นิสัยปัจจัยมันไม่เหมือนกัน เหมือนกันกับเรื่องอัดเทป ถ้าอัดในที่สงบมันก็อย่างหนึ่ง อัดในที่วุ่นวายมันก็อย่างหนึ่ง อัดเหมือนกันแต่ก็ไม่เหมือนกัน คนเราก็เช่นเดียวกัน ฟังเทศน์กัณฑ์เดียวกัน แต่มีความเห็นต่างกันมีความเข้าใจต่างกัน ฉะนั้นกาฟังธรรมในครั้งพุทธกาล กับในสมัยนี้ก็ไม่แปลกกัน พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายท่านให้เคารพในการฟังธรรม ทำไมท่านจึงให้เคารพในการฟัง เพราะสมัยปัจจุบันนี้ พุทธบริษัทเราก็ยังอยู่ข้ออรรถ ข้อธรรม ก็ยังมีอยู่ ธรรมที่ให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็ยังอยู่
ไม่ได้หายไปไหน ถ้าพวกเราตั้งใจฟังให้ดีแล้วนำมาพิจารณา ก็เกิดมรรคเกิดผลได้ในปัจจุบันนี้เองไม่ ต้องสงสัยแต่ว่าโดยมากพวกเราทั้งหลายพากันเข้าใจผิดอยู่อย่างหนึ่งว่า การประพฤติธรรม การปฏิบัติธรรม การทำกรรมฐาน การทำภาวนาให้บรรลุธรรมเข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของพระสาวกก่อนโน้น พากันเข้าใจไปอย่างนั้น ดังนั้น การฟังเทศน์ฟังธรรมในสมัยนี้จึงไม่เป็นกิจลักษณะ ฟังเพื่อตลกคะนองเล่นต่างๆ นานา เลยไม่เข้าใจ จะเอาคุณงามความดีเอามรรคเอาผลอันเกิดขึ้นจากการฟังไม่ได้ เหมือนกับการฟังเทศน์บุญมหาชาตินั่นแหละ ใครว่าได้อะไรบ้าง? ไม่เห็นได้อะไร ฟังไปๆ อย่างนั้นเอง พระก็เทศน์เรื่องนก พรรณนาไป... “นกกก นกแกง ชุมแซง คอก่าน ห่านฟ้าและสังกา” ว่าไปอย่างนั้นไม่รู้เรื่องไปพูดเรื่องนก เรื่องต้นไม้ เรื่องภูเขาเลากาไปโน้น สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเปลืองข้าวต้มขนมเปล่าๆ ไม่ได้การไม่ได้งานมาถึงบ้านแล้วจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง วันนี้ฟังเทศน์แล้วได้อะไรบ้าง เข้าใจอะไรบ้าง? เงียบ (มิดสี่หลี่) ยิ่งฟังยิ่งไม่รู้เรื่อง มีแต่ความประมาท ฝนโบกขรพรรษ ก็หว่านข้าวตอกข้าวสาร หว่านกันไปกันมากลายเป็นกะลาเป็นก้อนอิฐขว้างไปขึ้นศาลา เลยเป็นเรื่องทำเล่น เอาคำพระพุทธเจ้าไปทำเล่นเอาเรื่องท่านไปพูดเล่น...บาป...สร้างบาปกันขึ้นตรงที่ทำบุญนั้นแหละ ทำไม? เพราะไม่รู้เรื่องในการฟังธรรม ว่าการฟังธรรมคืออะไร? การฟังธรรมก็คือเรื่องท่านสอนเราโดยตรงนี้แหละ ท่านสอนเราให้รู้จักบาป ให้รู้จักบุญ ให้รู้จักคุณให้รู้จักโทษ รู้จักผิดรู้สึกถูก เราพากันฟังแต่ก็ไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจฟังแล้วกลับไปถึงบ้าน ก็ทำอย่างเก่า การประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในครอบในครัว ในบ้านในเมือง ก็อย่างเก่า เคยแช่ง เคยด่า ก็แช่งก็ด่าอย่างเก่าเคยโลภก็โลภอย่างเก่า เคยโมโหก็โมโหอยู่อย่างเก่า เคยเป็นอีกเป็นผี เคยเป็นเปรตก็เป็นเปรต อยู่อย่างเก่า ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จักบาป บาปเป็นอย่างไร..ไม่รู้บาปทางกาย ทางวาจาก็ไม่เท่าไหร่หรอก ใจของเรานั่นซิ วันหนึ่งบาปหลายครั้งนะ คราวใดใจมันโกรธไม่พอใจ นั้นแหละบาปเกิดขึ้นแล้วที่ใจของเจ้าของมาวัดทำไม? มาวัดก็มาทำบุญนั่นแหละ มาเห็นพระเจ้าพระสงฆ์ ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมใจมันก็สบาย ไม่ขุ่นไม่มัวเรียกว่ามาสร้างบุญใจสบายไม่ขุ่นมัวได้ทั้งบุญและกุศล ถ้าทางใจมันเป็นบุญแล้ว ทางวาจาก็ไม่ต้องไปพูดมันมากหรอกไม่ต้องไปควบคุมมัน ท่านจึงว่ามาวัดเพื่อสร้างบุญสร้างกุศล บางคนอาจจะคิดว่าเอาของมาถวายพระนั้นแหละจึงเป็นบุญ ไม่ใช่อย่างนั้น ตาเราได้มาเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นเห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ หูก็ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมใจก็สบาย ถ้าอยู่บ้านเดี๋ยวลูกตีกันแล้ว หมาขโมยกินของในครัวแล้ว ควายกินต้นกล้วยแล้ว เดี๋ยวก็หมูร้องเดี๋ยวก็เป็ดร้อง เราเลยตกนรกขุมเล็กขุมใหญ่อยู่ตลอดเวลาท่านจึงว่าอยู่ที่บ้านบาปมันเยอะ ใจของเรามันเป็นบาป มันขุ่นมัว นรกขุมเล็กๆ เรียกได้ว่าตกเป็นนิจกาล แต่ไม่รู้ว่าตัวเองตกนรก ถ้าใจเศร้าหมองเมื่อไรเวลาใดนั้นแหละท่านเรียกว่าบาป ใจไม่ผ่องใส

            ถ้าเรามาวัดได้ฟังเทศน์ฟังธรรมรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ท่านประกาศธรรม ประกาศศีลธรรมไว้ ก็ล้วนแต่เรื่องดีๆทั้งนั้นล่ะท่านไม่ให้เบียดเบียนกันไม่ให้อิจฉาพยาบาทกัน ให้สามัคคีกันไม่ให้นอกใจกันท่านสอนเราแต่เรื่องดีๆ แต่เราฟังไม่ชัดฟังไม่เข้าใจเฉยๆ ถ้าฟังเป็นมีแต่เรื่องดีๆ มีแต่เรื่องถูกๆ ทั้งนั้น ผู้รู้จักธรรมรู้จักอดรู้จักกลั้นรู้จักข้อประพฤติปฏิบัติแม้ว่าจะทำไร่ทำนาทำสวน ไร่นาสวนของคนนั้นก็เจริญแม้จะปฏิบัติในครอบครัวหรือในบ้าน บ้านคนนั้นก็สะอาดสะอ้าน อยู่กันด้วยความสงบสุข เป็นมงคล รู้จักผิดรู้จักถูกมันจะทะเลาะกันจะเถียงกันขึ้นมาก็รู้จักไม่ทำอย่างนั้นไม่คิดอย่างนั้น มันก็เป็นการตัดบาปตัดกรรมเท่านั้นแหละพวกเราทั้งหลาย

            ถ้าหากว่าพวกเราทั้งหลายไม่พากันฝึกไม่พากันหัดพวกเราจะไม่แปลกอะไรกับพวกสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์เราทั้งหลายจะต่างจากสัตว์ก็ตรงที่รู้จักอาย ถ้าไม่มีความอายความกลัวต่อความชั่วแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ ถ้าพูดถึงความคิดอยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากได้โน่นได้นี่ มันก็เหมือนกันนั่นแหละกับสัตว์ทั้งหลายไม่ได้แปลกกัน ถ้ารู้จักอดไว้กลั้นไว้ ยับยั้งไว้ มีความละอาย มันอยากได้อยู่แต่ก็อายไม่เอา หาอะไรแลกเอาเปลี่ยนเอา มนุษย์เราถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็ไม่ผิดอะไรกับไก่ พอเห็นข้าวสารก็กินเลย ไม่รู้ข้าวสารใครมันไม่รู้จัก ควายก็เหมือนกัน เข้านาเข้าสวนใครก็กินเลยไม่รู้จัก มันจึงมีความรู้สึกต่างกันกับมนุษย์ อย่างนี้

           พูดถึงคนไม่รู้เรื่อง ก็ไม่รู้เรื่องจริงๆ อยากให้เป็นอย่างโน้น อยากให้เป็นอย่างนี้ จะไม่ให้บาปได้อย่างไร ก็ไม่รู้เรื่องนี่ ของมันเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้นแหละจะร้องไห้กับสิ่งเหล่านั้นมันก็ใช้ไม่ได้ ของมันเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา เราก็ไม่รู้จัก นี้ของฉันนั่นของคุณ นี่ของเรานั้นของเขา นึกว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ ถึงเวลามันจากไปเลยไม่มีที่พึ่ง ไม่มีพระพุทธเป็นที่พึ่ง ไม่มีพระธรรมเป็นที่พึ่งไม่มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ก็ร้องไห้โฮเท่านั้นแหละ บางคนข้าวก็ไม่กิน มันทุกข์ มันจะตายไปด้วยกันก็ยังไม่รู้จัก นี่แหละคือคนโง่...รู้จักไหม

            สมัยก่อนธรรมะยังไม่เปิดหูเปิดตาของสัตว์ทั้งหลายทุกวันนี้ชาวบ้านก่อบ้านน้ำคำเหล่านี้สบาย คนตายก็ตายไปช่วยกันทำเมรุ หัวเราะกันได้ อยู่ง่ายอยู่สบายไม่มีอะไรคนเราก็มาอย่างนี้ ก็ไปอย่างนี้แหละ ถ้าไม่ไปอย่างนั้นจะได้มาอย่างนี้หรือ มาอย่างนี้ก็ไปอย่างนั้น ก็เพราะหนทางมันเป็นอยู่อย่างนี้ จะไปห้ามโลกไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะไปห้ามอย่างไร พวกเราไม่ได้คิดกันอย่างนี้ นั่นแหละการฟังธรรมให้รู้เรื่อง สิ่งเหล่านี้ ให้รู้เรื่องความเป็นจริงอย่างนี้ ใครรู้เรื่องอย่างนี้ ผู้นั้นก็เข้าใจธรรม ใครเข้าใจธรรมก็เข้าใจเรื่องนี้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันทุกวันพระก็เพื่อให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ถ้าเข้าใจดีแล้ว ทุกข์ไม่มีทุกข์ไม่เกิด ถ้าเราพลัดจากกันก็ให้นึกเสียว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านที่ละไปท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้ ท่านสบายแล้ว ยังเหลือแต่พวกเรานี่แหละยังสาระวนอยู่กับเป็ดกับไก่กับหมูกับหมากับวัวกับควายอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านที่เสร็จแล้วท่านสบายแล้วยังเหลือแต่พวกเรานี่แหละ จะให้สร้างคุณงามความดี ก็บอกว่ายุ่งกับสิ่งนั้นสิ่งนี้

            พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกทั้งหลายก็ดี ท่านตรัสรู้ธรรมก็คือมารู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงมารู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มารู้เรื่องวิมุติสมมุติ เหล่านี้มารู้เรื่องสมมุติ สังขารเหล่านี้ มารู้จักสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขา สังขาร คือสกนธ์ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่ของเราตามธรรมชาติ เพราะเราบอกมันไม่ได้ ใช้มันไม่ฟัง เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ถึงเราจะร้องไห้กับมันมันก็เป็นอย่างนั้นถึงเราจะหัวเราะกับมัน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นของมันเป็นอยู่ อย่าง นั้น

            ดังนั้นพวกเขาจึงมาเรียนให้มันรู้จัก พดถึงเรื่องนี้ต่างกันมากกับญาติโยม จะให้มาวัด บอกว่าโลภหลายโกรธหลาย หลงหลาย บาปหลาย มายังไม่ได้หรอกไม่ได้ใจว่ามาวัดเพื่ออะไร มาเพื่อศึกษาให้มันรู้ความจริงตามธรรม ถ้ารู้แล้วมันจะหมดทุกข์ รู้แล้วมันจะหมดอยากรู้แล้วมันจะหายลำบาก จะไม่มีไม่โศกาปริเทวนารำพัน มันจะรู้เสมอภาคว่า สภาพทั้งหลายของสังขารที่มันเป็นอยู่นี้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้ว พวกเราจะไม่พากันเป็นทุกข์ จะพากันสบาย ของมันได้มาก็ได้มาอย่างนี้ ได้มาอย่างนี้มันก็ไปอย่างนั้น ใจเราดูจะไม่ยึด ไม่มั่น มีลูกก็ให้รู้ว่าสมมุตินะนี่นะ มีบ้านมีเรือนก็รู้แต่ว่ามันเป็นเพียงสมมุติ เลยไม่มีของเราจริงๆ มันก็จะได้คิด

            ถ้าคนไม่รู้จักก็มีแต่ของกูๆ ลูกกู เมียกู หลานกูกู๊...กูๆๆ อยู่อย่างนั้นเหมือนกันกับนกเขา อยู่บนต้นมะขามร้อง กูๆ กูๆ มีแต่ของกูของกู หรือเหมือนบ่างตาโตกินมะขามจะว่าของกูอยู่นั้นเหรอ... พากันดูหน่อยดูข้างหน้าข้างหลังหน่อย ดูข้างล่างดูข้างบนหน่อย โยมไม่เคยเห็นหมอลำเขารำหรือ โยมพ่อออกแม่ออกหมอลำเขาว่าอย่างไร? เขาว่า“เอา...จึ๊กเข้าไปเข้าไปข้างในข้างนอก”ได้ยินไหมล่ะไม่รู้อะไร? ไม่รู้ข้างในไม่รู้ข้างนอก รู้ไหมล่ะ ข้างในก็เหมือนข้างนอกข้างนอกก็เหมือนข้างใน เขาก็เหมือนเรา เราดูเหมือนเขามันไม่ได้แปลกอะไรกัน ลูกท่านหลานท่านก็เหมือนกับลูกเราหลานเรา พ่อท่านแม่ท่านก็เหมือนพ่อเราแม่เรา ของเราก็เหมือนของท่าน นี่แหละท่านจึงว่า ให้รู้เข้าไปข้างในข้างนอกยังจะพูดเล่นอยู่นั้นหรือ อย่าว่าของเราของเขา ต้องมีเมตตา กรุณา ดูให้มันทั่วให้มันถึง ถ้าเรามีธรรม รู้จักธรรมแล้วเราจะสบายกันมาก จะพากันถอนความโลภออก ถอนความโกรธออก ถอนความหลงออก หลงว่าของคนโน้นหลงว่าของคนนี้ หลงว่าของกูหลงว่าของมึง หลงยึดหลงหมาย หลงทุกข์หลงยาก หลงลำบาก แต่ที่สุดก็ไม่มีอะไร ให้พากันเข้าใจเอาไว้ให้พากันรู้เรื่องเอาไว้ ถ้ารู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ข้างนอกก็ดีข้างในก็ดี ข้างนอกคือต้นไม้ภูเขาเครือเขาเถาวัลย์ก็ดีทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนเป็นของไม่แน่นอน เกิดมาแล้วก็ละลายไปเป็นธรรมดา เห็นไหมล่ะ? ต้นไม้บ้าง ดินบ้าง มันมีที่สูงที่ต่ำ ต้นไม้ก็มีต้นคดต้นงอ เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น เป็นธรรมชาติของสังขารข้างในเราก็เหมือนกัน ตาบ้าง ห้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ก็ไม่เหมือนกัน เป็นของไม่แน่นอน เป็นไปตามสภาพของมัน หูมันอยากหนวกวันไหนมันก็หนวก ตามันอยากบอดวันไหนมันก็บอด กายมันอยากเจ็บตรงไหนมันก็เจ็บ อยากพิการตรงไหนมันก็พิการมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น จะไปร้องขอยอมือกับมันก็ไม่ได้ถึงคราวมันจะเป็นมันก็เป็น อันนั้นมันเป็นของเขาแท้ๆ เป็นสังขารแท้ๆ ไม่ใช่เป็นของเราตามเป็นจริง เป็นของเราโดยฐานสมมุติ ดังนั้น พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดีท่านพ้นจากทุกข์ จากความยากลำบาก ก็เพราะท่านมารู้ตามความเป็นจริง รู้อะไร? ก็คือรู้เจ้าของรู้ว่ามันไม่แน่ “อัชฌัตตา ธัมมา พะหิทธา ธัมมา” อัชฌัตตา ธัมมา ก็คือภายใน พะหิทธา ธัมมา ก็คือภายนอก “จึ๊กเข้าไป ข้างในข้างนอก” ภาษาพระพุทธเจ้าว่า อัชฌัตตา ธัมมา พะหิทธา ธัมมา ธรรมภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอน มีความเกิดเป็นเบื้องต้น มีความแก่เป็นท่ามกลาง มีความตายเป็นที่สุดเหมือนกันหมดจะเป็นข้างในก็ดี ข้างนอกก็ดี หนุ่มก็ดี แก่ก็ดี ทุกข์ก็ตามรวยก็ตามจะเป็นเจ้าพระยาไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ก็ตาม ก็เป็นอยู่อย่างนี้ เวลาจะไป (ตาย) ใครมีมากก็ทิ้งไว้มาก ใครมีน้อยก็ทิ้งไว้น้อยตายก็เห็นหมดทุกคนนั้นแหละไม่เว้นใครนี้ท่านเรียกว่า ข้างในก็เหมือนข้างนอก ข้างนอกก็เหมือนข้างใน...เหมือนกัน...

            เราทั้งหลายต้องมาเรียนธรรมไว้ในปัจจุบันให้มันรู้จักถ้ารู้จักแล้วมันสบาย..สบายอย่างไร?เหมือนเราเห็นรังต่อเราก็ไม่เข้าไปใกล้ ตรงนั้นมีเสือ ตรงนั้นมีงู เรารู้จักอย่างนี้เราก็หนีไม่เข้าไปใกล้ ถ้าคนไม่รู้จักก็เดินสวบๆ ตกลงไปหลุมต่อมันก็ต่อยหัวเอาเท่านั้นแหละ คนไม่รู้จักอนิจจัง ทุกขขัง อนัตตา ก็เสกคาถาว่าของกูๆ อยู่อย่างนั้น ถ้าคราวมิใช่ของกู ก็ร้องไห้โก๊กๆ เท่านั้นแหละ นั่นเป็นเครื่องหมายของคนบาป ถ้ามาฟังธรรมแล้วมันก็จะหายบาปแล้วก็ดีด้วย เป็นผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่ใกล้กันไม่ทะเลาะกันไม่ทุ่มเถียงกัน สงเคราะห์กัน สบายนั้นท่านเรียกว่าคนมีบุญ คนมีบุญอยู่ที่ไหนก็เป็นบุญกุศลอยู่ที่ไหนก็เย็น ก็เป็นสุคโต อยู่ก็เป็นสุข ไปก็เป็นสุขมีแต่เรื่องเป็นสุขมีแต่เรื่องสบาย

            ถ้าเราฟังธรรมพิจารณาถูกต้องแล้วรู้สิ่งทั้งหลายหล่านี้แล้ว ตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้าท่านว่าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ซึ่งอริยสัจจ์ นี้เรียกว่า เรารู้ความจริง รู้ตามความเป็นจริง ว่าโลกมันเป็นอยู่อย่างนี้ หลายชาติ หลายตระกูลมาแล้ว ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราท่านก็เป็นมาเหมือนเรานี่แหละ ผลที่สุดท่านก็ไป ไปในรูปนี้แหละ เราเกิดมาก็จะไปในรูปเดียวกันนี้แหละไม่มีใครอยู่ ฉะนั้นควรศึกษาธรรมศึกษาให้มันพ้นทุกข์

            ทุกวันนี้เราทั้งหลายถ้ามาวิจัยตามเหตุการณ์แล้วถึงเรากินก็กินเพื่อความพ้นทุกข์ ถึงเราเดินก็เดินเพื่อความพ้นทุกข์ ถึงแม้จะนอนก็นอนเพื่อความพ้นทุกข์ จะไปในที่ไหนๆ ก็ไปเพื่อความพ้นทุกข์ ถ้าดูให้ดีแล้วถึงแม้กินข้าวก็กินเพื่อจะไม่กินอีกถึงแม้เดินก็เดินเพื่อจะไม่เดินอีกนั้นแหละคืออยากให้มันเสร็จ แต่มันก็ไม่เสร็จ เดินแล้วก็เดินอีก นั่งแล้วก็นั่งอีก นอนแล้วก็นอนอีก กินแล้วก็กินอีก พูดแล้วก็พูดอีก อยู่อย่างนี้ ความเป็นจริงก็ไปตรงที่มันหมดนั่นแหละ มุ่งไปที่มันจริง ดังนั้นท่านจึงให้พิจารณาซึ่งอนัตตา... เอามันจนหมดเนื้อหมดตัวโน้นแหละ ถ้ามันมีของกูของมึงไม่หมดล่ะ เอาให้หมดเนื้อหมดตัว หมดอัตตา ไม่มีใคร ดินน้ำ ไฟ ลม ถ้ามันแตกก็พวกดิน พวกน้ำ พวกไฟ พวกลมมันแตกไป ตัวสัตว์ตัวบุคคลนั้นไม่มี ถ้าไม่มีก็ไม่มีอะไรเสีย ถ้าไม่มีก็ ไม่มีอะไรได้ เลยเป็นคนผู้ไม่ได้ไม่เสีย เป็นคนที่ไม่รวย เป็นคนที่ไม่จน เป็นคนผู้ไม่สุข เป็นคนผู้ไม่ทุกข์อย่างนี้ อยู่ตรงที่มันหมดเหตุหมดผลท่านจึงให้พิจารณา พวกเราทั้งหลายก็จะมุ่งไปตรงนั้นแหละ แต่ว่าความรู้สึกของปุถุชนเราทั้งหลาย เหมือนกันกับเด็กน้อย มันชอบเล่นอะไรมันเปรอะเปื้อน ที่ไหนสกปรกชอบเล่น ตอนเย็นแม่จับไปอาบน้ำ... มันกลัวน้ำ.. วิ่งหนีแม่ตามไปจับมามันร้องไห้ มันกลัวจะสะอาดให้หน้ามันมอมอยู่อย่างนั้น ให้ขี้มูกมันย้อยอยู่
อย่างนั้น ให้มันเหม็นอยู่อย่างนั้น เด็กมันเป็นอย่างนั้นมันกลัวความสะอาด..(ซั่นแหลว)

            พวกเราก็เหมือนกันนั่นแหละ พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาสิ่งเหล่านั้นให้ดีไม่อยากพิจารณา... หัดพิจารณากันหน่อย ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นั่นมรณะสติคือความตาย ยิ่งคนมีสุขมากๆ ยิ่งไม่รู้จัก พอมีใครพูดถึงความตาย อย่าพูด อย่าพูด..ฉันไม่อยากได้ยินฉันไม่อยากทำอะไรแล้วถ้าพูดถึงความตาย เหมือนกับว่าเขาจะหนีไปพ้น.... งานของเรายังไม่เสร็จ น่าจะมาทำให้มันแล้วให้มันเสร็จอันนี้งานยังไม่เสร็จ กลัวแต่งานมันจะเสร็จทุกข์ดองใจตัวเองอยู่ ควรมาศึกษาให้มันรู้จัก ไม่อยากศึกษาเหมือนเราเป็นไข้หนัก แพทย์จะช่วยรักษาไม่ยอมให้รักษา อยากให้มันหายเหมือนกัน แต่ไม่อยากรักษาไม่อยากกินยามันเป็นเรื่องอย่างนี้ ความจริงเป็นเรื่องทุกข์ใหญ่ที่เราจะต้องศึกษาเพราะเราจะต้องพบ ทุกคนเกิดมานี้จะต้องพบทุกคน จะไปในรูปนี้เหมือนกันทุกคน ถ้าใครไม่รู้สิ่งเหล่านี้ในปัจจุบัน เป็นคนที่ขาดทุนเหลือเกินไม่ รู้เรื่อง

            พระศาสดาท่านตรัสว่า จำเป็นจะต้องศึกษา ศึกษา ธรรมให้รู้จัก ถ้าศึกษาให้รู้จักเหมือนอย่าง สกนธ์ร่างกายสังขารของเรานี้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สมมุติบัญญัติ สมมุติวิมุติศึกษาให้รู้จักบางคนไม่รู้จักนะ ถ้าว่าของเราก็ของเราจริงๆอะไรๆ ก็ของเราจริงๆ ความเป็นจริงไม่มีอะไรหรอก มันเป็นสมบัติของโลก เราอยู่นี่ก็อยู่ชั่วคราว เมื่อเราไปก็เป็นสมบัติของโลกใครมีอะไรได้อะไรก็เอาไปไม่ได้อยู่กับโลกนี้แหละไม่ได้ไปไหน พิจารณาดูให้ดีซิ ใครหาบอะไรไปได้ ใครหามอะไรไปได้ ถ้าได้ ถ้าดี ถ้ามี ถ้าได้ ก็สร้างขึ้นในปัจจุบันนี้ มีทรัพย์สินเงินทอง ก็ซื้อความชั่วออกจากเราเสีย ซื้อบาป ซื้อกรรมออกจากเรา ด้วยการสร้างน้ำทำบุญให้เจ้าของ พยายามเอาตัวเข้ามาฟังมาฝึกหัดจิตใจ ให้มันอยู่ให้มันนิ่งให้ได้ จะรอให้มันเสร็จเสียก่อนมันไม่เสร็จหรอก มันไม่พอหรอกอยากมันหยุดอยากไม่เป็น แต่อิ่มมันอิ่มเป็นเหมือนกัน อิ่ม...นั่นเป็นเรื่องของท้อง แต่คำว่ อยาก....มันไม่มีท้องใส่ ไม่มีที่ใส่ไปตั้งที่ไหนก็อยาก มีมันก็อยาก ไม่มีมันก็อยาก รวยมันก็อยาก อยากนี้ไม่มีที่พอ ท้องเรามันอิ่มเป็นอย่างกินข้าวเมื่อเช้านี้....อิ่ม แต่อยากมันยังมีอยู่นะ อิ่มมันอิ่ม เหมือนกันกับสุนัข เอาข้าวให้มันกินปั้นหนึ่งก็หมด สองขั้นก็หมด สามปั้นสี่ปั้น หลายปั้นเขามันก็อิ่ม ท้องมันตึง ที่เหลือกินไม่ได้..ก็ดม... ยิกแยกๆ.....อยากไม่หยุด แต่ท้องมันเต็มแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร นอนเฝ้าอยู่นั่นแหละไม่หนี ทำตาปริบๆอยู่นั่นแหละ สุนัขตัวอื่นจะมากินก็ขู่ โฮ่ง ไม่ให้เพื่อนกินหวงไว้ ไก่จะมากิน ก็....โฮ่ง จะกัดไก่ ท้องจะแตกตายอยู่แล้ว อิ่มแล้วแต่อยากมันก็ยังอยาก หวงอยู่อย่างนั้น นี้แหละท่านว่า อิ่มอันหนึ่งมัน

            เรื่องของท้อง อยากมันเป็นของไม่มีท้อง เอาจักรวาลมาใส่มันไม่พอ คำที่ว่าอยากนี้เดี๋ยว บัดนั้นก่อน เดี๋ยวบัดนี้ นี่ล่ะตัวสำคัญ จะผลัดไปถึงไหนหือ.... ประเดี๋ยวบัดนั้นประเดี๋ยวบัดนี้ถึงเวลามันเฒ่ามันแก่มันเจ็บมันไข้ที่นี่ไม่เอาแล้วไม่อยากจะได้อะไรแล้วน้ำก็บ่แซ่บข้าวก็บ่แซ่บ ไม่เอาอะไรสักอย่าง เอาแต่ทุกข์ เอามือปิดหูยังกะลิงถุงแล้วทีนี้ กินอะไรก็ไม่อร่อย ไม่เอา อะไรก็ไม่เอาเอาไปให้บ่อยๆ เดี๋ยวก็อารมณ์เสียเท่านั้นแหละ มันกลับกันอย่างนี้นะ เรื่องของมัน

            ฉะนั้นให้เราพิจารณา เรื่องของคนรู้ กับเรื่องของคนไม่รู้ มันต่างกันมาก ถึงแม้ทุกข์มี มันก็ไม่ทุกข์ เมื่อมาถูกท่านผู้รู้ทั้งหลายแล้วมันจะละลายหายไปหมด เรื่องสิ่งทั้งหลายจะจากเราไป เรื่องเราจะจากเพื่อนฝูงไป เหล่านี้...ไม่มีปัญหา เพราะพิจารณาแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ลูกจะพรากจากเรา เราจะพรากจากลูก พ่อแม่จะพรากจากเรา เราจะพรากจากพ่อแม่ เพื่อนฝูงจะพรากจากเรา เราจะพรากจากเพื่อนฝูง พิจารณาแล้วทุกอย่าง ใครจะไปก็ไป ใครจะมาก็มา สบาย... ไม่มีทุกข์ทำไม? เพราะไม่ไปมั่นหมายมันนายพรานเขาดักแร้วอยู่ตรงนั้น เห็นแล้วนไม่เอาคอยื่นเข้าใส่แร้วก็ไม่หนีบคอเรา ทุกข์ฉันพิจารณาแล้ว เห็นทุกข์ รู้จักเหตุที่ทุกข์จะเกิด ไม่ไปทำเหตุตรงนั้น ทุกข์มันก็ไม่เกิดทุกข์มันก็ไม่มี เราก็ไม่ทุกข์ ภายนอกก็ตาม ภายในก็ตาม ที่ใกล้ก็ตาม ที่ไกลก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตามมันเป็นอยู่อย่างนี้ ใจข้าพเจ้าจะไม่หวั่นไหว เพราะเห็นว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ เอามันพอควรพออยู่ก็สบาย มีน้อยก็ใช้น้อยมีมากก็ใช้มาก อยู่อย่างไรก็อยู่ได้ มันสบาย สงบ ระงับ มีมากก็ไม่เป็นไรให้รู้เรื่องของมัน มีน้อยก็ไม่เป็นไรถ้ารู้เรื่องของมัน นั่นแหละเรื่องคนจะสบาย คือมีปัญญา เรื่องคนจะไม่สบาย เรื่องคนจะลำบากนั้น โอ๊ย! มันยากทุกอย่าง ถึงทำงานอยู่มันก็ยาก ให้อยู่เฉยๆ มันก็ยาก ถึงแม้จะให้นอนมันก็ยาก ให้ทำก็ยาก ไม่ให้ทำก็ยาก มันไม่แน่สักอย่างจะว่าอย่างไร แม้จะรวยมันก็ทุกข์ แม้จะจนมันก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น เรื่องมันทุกข์

            ท่านอุปมาเหมือนกับลิงตัวน้อยๆก็เรียกลิงน้อย ใหญ่ก็เรียกลิงใหญ่ เฒ่าก็เรียกลิงเฒ่า ตายก็เรียกลิงตาย เหลือแต่กระดูกก็ไม่พ้น เรียกว่ากระดูกลิง มันจะไปที่ไหนก็เพราะมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเรารู้สิ่งเหล่านั้นมันจะไปไหนจะหอบจะหาบอะไรไปไหน? ให้รีบสร้างคุณงามความดีไว้ในใจเจ้าของ “สวรรค์ในอก นรกในใจ” ใจใครไม่ทุกข์ไม่โศกใจคนนั้นแหละเป็นใจสงบเป็นใจระงับ เพราะพิจารณาเห็นแล้ว อัชฌัตตา ธัมมา พะหิทธา ธัมมา ธรรมทั้งภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ทั้งที่ใกล้ก็ดี ทั้งที่ไกลก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี มันรวมลงที่เดียว คือ อนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นของไม่แน่นอนสังขารทั้งหลายเหมือนกันกับอาหาร อาหารที่เราบริโภคทุกวันนี้ อันไหนมันดีมันชั่ว แม้เราจะแบ่งไวอันนั้นดี อันนี้ไม่ดี เวลารวมลงไปในท้องอันไหนดีกว่ากันมีไหม? อันไหนที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีไหม? ใครจะรวมคะแนนให้ได้ หือ..... เหมือน.....กัน มันเหมือนกันอย่างนั้นสามัญญลักษณะมันเหมือนกันอย่างนั้น

            ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันนี้เป็นญาติกันนะญาติความเกิด ญาติความแก่ ญาติความเจ็บ ญาติความตายฉะนั้นพวกเราอย่าเอารัดเอาเปรียบกัน ให้มีธรรมไว้ในใจ มีธรรมอย่างไร? คนรวยอย่าดูถูกคนจนนี้คือหลักใหญ่ของมันคนจนก็อย่าไปอิจฉาคนรวย เท่านี้ก็พอ.... มันพอ เหมือนกันกับผลไม้ ผลที่มันหวานก็ให้มันหวานไป ผลที่มันเปรี้ยวก็ให้มันเปรี้ยวไปคงไม่มีใครอยากกินหวานอย่างเดียวหรอกบางครั้งแดดเผาหัวนึกอยากกินเปรี้ยวๆ ก็มีเยอะแยะไปอย่าเพิ่งไปโทษว่ามันเปรี้ยวเดี๋ยวจะเรียกหามันหรอกเปรี้ยวมันก็ดีหวานมันก็ดี ของมันดีอยู่อย่างนั้น เวลาเราต้องการเราต้องการอย่างเดียวหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราต้องการหลายอย่าง นี้ก็เหมือนกันให้พิจารณาอย่างนั้น แล้วจะเอาตอนไหน? พวกเรา เอาตอนนี้แหละ ตอนที่ยังไม่เจ็บไม่ไข้นี้แหละควรมาวัดหรือจะรอจนมันเจ็บไข้โน้นหรือถึงจะเข้ามาวัด รอจนหัวเข่ามันบวม คอเหลือเท่าแขนโน้นหรือถึงจะให้เขาพาไปหาครูบาอาจารย์ เอามาทำไม? อย่างนั้นเอาไปทิ้งป่าช้าโน้น.... อย่างนั้นไม่ต้องเอามา....หรือ....ดูซิควรฝึกไว้แต่ไกลๆ ให้มันรู้จักจะอยู่ที่ไหนก็ตามพวกเรา ทุกสิ่งเป็นของไม่แน่นอน มันจะมีอะไรก็ช่างมัน มันจะเป็นเพชรก็ช่างมัน มันจะเป็นพลอยก็ช่างมัน จะเป็นทองคำก็ช่างมัน “ก้อนดิน....ก้อนดินมันเหลือง" มันเขียวมันแดงก้อนขี้ดินทั้งหมดไม่มีอะไร มันเป็นสมมุติ อันนี้สมมุติว่าเพชร อันนี้เป็นพลอย อันนี้เป็นแก้ว อันนี้เป็นทอง ก็พูดกันไปอย่างนั้น อันไหนเหลืองก็ว่ามันเหลือง อันไหนเขียวก็ว่ามันเขียวที่อยู่ตามเรื่องของมัน อันนี้มันมีราคามากราคามันก็มาก อันนี้ไม่มีราคา มันก็ไม่มีราคา ก็เราไปว่ากันเอาเองผลที่สุดก็คือขี้ดินนั้นแหละ พูดง่ายๆ เหมือนกับขุยขี้ไส้เดือนนั้นแหละ เราก็เหมือนกัน จะดีจะเลิศจะประเสิรฐขนาดไหนมันก็ไม่พ้นไปจากธรรมไม่พ้นไปจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตามันไม่พ้นไปหรอก เป็นหนุ่มก็ดีเป็นสาวก็ดีเป็นเด็กก็ดี มาถึงตอนนี้เป็นอย่างไร แต่ก่อนไม่เป็นอย่างนี้หรอก เต้นสามศอก ออกสามวา ถ้าพูดถึงกำลังสนุกสนานมาก ดูตัวเอง เนื้อหนังมังสาก็งามทุกส่วนเหมือนกับว่าความไม่งามจะไม่มีแต่พอแก่มาๆ สิ่งเหล่านี้ไม่รู้มันแอบหนีไปตอนไหน ทิ้งไว้ให้เราแต่ของไม่ดี ดีๆ ไม่รู้ไปไหนหมด นี้เรียกว่ามันเปลี่ยนไป แปรไป มันไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน ผลที่สุดก็เป็นขี้ดินเหมือนเดิม ให้เราพิจารณาไว้แต่ไกล รู้หลักความจริงอย่างนี้ก็คือ รู้ธรรม ผู้ที่รู้ธรรม แม้จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่แก่งแย่งกัน ไม่อิจฉากัน สบาย...โยมพ่อออก (ผู้ชาย) ก็สบาย โยมแม่ออก (ผู้หญิง) ก็สบาย พูดรู้เรื่องกัน อันไหนทุกข์จะเกิดขึ้น ไม่ไปพูดไม่ไปทำมัน มันก็เลิกจากสิ่งทั้งหลาย เหล่านั้น

            เรื่องการประพฤติปฏิบัติในพระศาสนาไม่มีอะไรมากมาย ดังนั้น การมาฟังธรรมให้รู้เรื่อง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ที่มันยังละไม่ได้ ก็ให้พากันอดกลั้นมันอยากจะฆ่าลูก อยากจะด่าหลานอยากจะฆ่าใครคนใดคนหนึ่ง ก็ให้ฆ่าตัวเองก่อนแต่งตัวเองให้ดีเลยก่อนจึงพูดจึงทำ ถึงจะพูดแรงหน่อยก็ได้จะพูดหนักหน่อยก็เป็น แต่ให้รู้จักเสียก่อนให้ดูเราเสียก่อนให้เราดีเสียก่อน ให้เรารู้เสียก่อน สอนเราเสียก่อน ให้มันเป็น เพื่อว่ามันสะท้อนกลับมาก็ไม่มีอะไร จะทำไร่ทำนาก็ได้มีแก้วก็ได้ มีแหวนก็ได้ มีเพชรนิลจินดาก็ได้ ให้มันอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้มันวิบัตไปก็ให้เราสบาย เราได้มาก็ให้สบาย มันจากเราไปก็ให้สบาย เพราะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนั้น นี้เรียกว่า ผู้เห็นธรรมในที่ไกล แล้วมาเห็นในที่ใกล้ เห็นข้างนอกเห็นข้างใน ผู้อื่นก็เป็นอย่างนี้เราก็เป็นอย่างนี้ ข้างนอกเป็นอย่างนี้ข้างในก็เป็นอย่างนี้มันเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าหากรู้ธรรมก้อนเดียวเท่านั้นเองไม่ไปทำเหตุให้ทุกข์เกิดทุกข์ก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ เมื่อฟังธรรมเข้าใจธรรมอย่างนี้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายที่อธิบายมานี้ ทุกกาลทุกเวลายืน เดิน นั่ง นอน เป็นผู้มีสติอยู่สม่ำเสมอ พิจารณาเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ให้มันเสมออยู่ที่ใจของเจ้าของ ให้รู้เท่าสิ่งทั้งหลายว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ จะไปใต้ไปเหนือก็เป็นอย่างนี้ คนทุกข์คนจนก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปที่ไหนก็เป็นอย่างนี้ ตามเรื่องของมันอันนี้ล่ะ ให้เราทำสัญญาเอาไว้ ให้ถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าขาที่เดินอยู่นี่เป็นของเราจริงหรือเปล่า บ้านของเราจริงหรือเปล่า เรานอนอยู่ทุกวัน แม่นบ่ วันไหนเขาจะหามหนีให้พากันคิดไว้หน่อยเน้อ! นอนลงไปก็ให้ถามตัวเองด้วยว่าจะนอนได้กี่วัน “เข้าใจไหมล่ะคนแก่ๆ กลุ่มนั้น” (มีเสียงตอบว่าเข้าใจ) เออ! ให้เข้าใจไว้ อย่านอนกรนอยู่เฉยๆ จะอยู่ได้กี่วันน้อ.....!ใหถามตัวเองอย่างนั้น วันไหนหนอเขาจะหามหนี พูดแค่นี้ก็ได้ภาวนา ภาวนาแค่นี้ก็ได้....นะไม่ต้องพูดมากแค่นี้ก็เกิดอานิสงส์แล้วล่ะ.....เอวัง.....

            ปลาไม่เห็นน้ำ

            อาตมาเคยถามญาติโยม ถามไปถามมา เลยไม่ได้อะไร ไม่รู้จะเอาอะไร ได้แต่ว่า “จั๊กแหลว” จักแหลว นี้มันภาษาไม่รู้เรื่องนะ ถามไปถามมาเลยไม่รู้ จะเอาอะไรไม่มีอะไรจะ
ได้ ทำมาตั้งแต่เล็กจนแก่จนเฒ่า เวลาจะเอาจริงๆไม่รู้จักเอาอะไร ถามมาที่เอาไม่มีใครตอบได้ ว่าจะเอาอะไรเวลาทำทำเต็มมือเต็มเท้า เวลาจะไปกลับไม่ได้อะไร มันน่าสงสารจริงๆ นะ นี้ก็ควรคิด

            มาปีนี้ก็ต่างเก่านะ ต่างแม้กระทั่งอาตมาด้วย แก่ลงหลายคน หัวหงอกหัวขาว สวยกว่าเก่า.... หือ....ควรคิดนะ พากันสร้างบารมี ถ้าไม่ได้ใจตนเองแล้ว ไม่มีอะไรจะได้นะ คิดดูให้ดีซิไม่มีอะไรจะได้ มีแต่ทำแต่ไม่เห็นที่ได้ ถ้าเป็นนักมวยก็มีแต่ชกแต่ไม่มีหมัดล้มหมัดตาย นี้ควรเอาไปคิดดูไปพิจารณาดูให้ดีๆ ว่าเราได้อะไรหนอ?..... ไม่มีอะไรได้อาตมาเคยเล่าให้ฟังว่า คนบางจำพวก อย่างวัดหนองป่าพงเป็นตัวอย่าง ต่างประเทศเขาก็มากัน แม่ออกพ่อออก (โยมผู้หญิงผู้ชาย) บ้านใกล้ๆ ไม่เคยเห็นวัดหนองป่าพงเลยก็มีอย่างนี้นันเป็นเพราะอะไร? เพราะไม่ได้พิจารณา.....หลง.....หลงไปข้างหน้าหลงไปข้างหลังไม่รู้จะทำอะไรให้เราพิจารณาให้ภาวนา ภาวนาก็คือให้คิดให้อ่านให้พิจารณา ทำอะไรก็ภาวนา ทั้งหมดนั้นแหละ ทำไร่ก็ภาวนา ทำนาก็ภาวนาแต่ไม่รู้ตัวเอง มันสั้นไปละมัง มันยาวไปละมัง เหล่านี้ ล้วนแต่ภาวนาทั้งหมดนั้นแหละ แต่เราไม่รู้จัก ภาวนาคือการพิจารณาให้เห็นที่มันถูกต้อง เห็นเป็นที่ถูกต้องเป็นที่พอดีแล้วมาแต่งใจเจ้าของ แต่พวกเราพากันไปดูแต่ที่อื่นไม่ได้ดูตัวเอง ไม่ได้แต่งใจตัวเองสักที ไม่ได้รักษาใจตนเองมันพาทุกข์พายาก พาลำบากอยู่ก็ไม่เห็น คนไม่ดูตนเองไม่รักษาตนเอง มันพาทุกข์พายาก พาลำบากอยู่ก็ไม่ยอมแก้ไขการมาฟังธรรมก็คือมาหาความรู้แล้วไปศึกษา ศึกษาทางกายด้วยทางใจด้วย ให้ไปศึกษา คนเรามันไม่รู้จักตัวเองนะ อาตมาเคยบอกว่า “ปลามันอยู่ในน้ำ แต่ไม่เห็นน้ำ” พ่อแม่ปูย่าตายายมันก็เกิดอยู่ในน้ำแต่มันไม่เห็นน้ำ น้ำแช่ตามันอยู่มันก็ไม่เห็น มันไม่ไกลหรอก มันใกล้เกินไปเลยไม่เห็นความไม่เห็นนี้ อยู่ใกล้ก็ไม่เห็น อยู่ไกลมันก็ไม่เห็น เหมือนไส้เดือนกินดิน ขี้ขวยสูงตั้งศอก แต่มันไม่เห็นดิน กินดินอยู่แต่ก็ไม่เห็นเหมือนคนไม่เห็นตัวเองก็เป็นอย่างนั้น หรือเหมือนสุนัข อาหารของสุนัขก็คือข้าว เหมือนพวกเราข้าวสารข้าวสุกมันก็กิน แต่ถ้าเป็นข้าวเปลือกมันไม่เห็นที่กิน ยามฤดูหนาวเรานวดข้าว มันก็นอนบนกองข้าว....สบาย แต่พอหิวอาหารกลับวิ่งหนีไปหากินที่อื่นที่ตนนอนทับอยู่ นั้นมันไม่เห็นมันใกล้เกินไป เพราะอะไร? เพราะเปลือกข้าวบังไว้อยู่นี้แหละเราหลงตัวเองก็เหมือนกับสุนัข นอนอยู่บนกองข้าว แต่เวลาหิวก็วิ่งไปหากินเศษก้างปูก้างปลาที่เขาเททิ้งโน้นทั้งยากทั้งลำบาก ที่ตัวนอนทับอยู่ไม่รู้ว่าเป็นอาหารของ
ตัวเอง มันไม่รู้วิธีกระเทาะข้าวเปลือก มันไม่มีโรงสี มันซ้อมข้าวไม่เป็นเลยไม่เห็นที่จะกิน

            พระพุทธเจ้าก็เหมือนกันนั้นแหละกับพวกเราทั้งหลายก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้าก็เหมือนพวกเรานี่แหละแต่ท่านรู้จักเจ้าของ รู้จักแก้ไขเรื่องต่างๆ ในเจ้าของ ท่านแนะนำเจ้าของแก้ไขความทุกข์ของตนเองได้ เรามาฟังธรรมก็คือมาฟังเอาความรู้ไปแก้ปัญหา พ่อออกแม่ออกหรือพวกเราทุกคนเกิดมา มัน มีปัญหาติดต่อกันเรื่อยๆอยู่บ้านยิ่งแยะปัญหาเรื่องนาบ้างฝนดีเกินไปบ้างฝนไม่ดีบ้างน้ำท่วมข้าวบ้างดำนาล่าไปบ้าง เรื่องวัว เรื่องความ เรื่องเงินเรื่องทองสารพัดอย่าง ซึ่งเป็นปัญหาถามเรา บางครั้งดึกขนาดนี้ยังนอนไม่หลับ เพราะกำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่คนเราไม่รู้จักการแก้ปัญหา พูดง่ายๆ ว่าถ้ามันร้อนก็เป็นทุกข์ มันหนาวก็เป็นทุกข์แก้ปัญหาไม่ได้ เผลอๆ ด่ากระทั้งแดดด่ากระทั้งลมว่ามันร้อนโคตรพ่อโคตรแม่มัน อะไรอย่างนี้ว่าไปทั่วอ้าว.....เรื่องมันร้อนก็เรื่องธรรมดาเว้ย ให้ดูจิตของตนเองอย่าไปกวนเขา เพราะเขาเป็นอย่างนั้นถึงคราวร้อนเขาก็ร้อนถึงคราวเย็นเขาก็เย็น เพราะธรรมชาติเขาเป็นอยู่อย่างนั้นเราก็ไปวิ่งตามแต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแต่พวกเราไม่รู้จัก ของในโลกนี้มันเรียบร้อยหมดทุกอย่างไม่มีปัญหา มันมีปัญหาก็แต่พวกเรา เรานั้นพยายามไปติเขา อันนั้นเล็กไป อันนั้นใหญ่ไป อันนั้นสั้นไปอันนั้นยาวไป จริงๆ แล้วเขาก็มิได้ว่าอะไร สั้นเขาก็อยู่อย่างนั้นยาวเขาก็อยู่อย่างนั้น เขาไม่ได้ว่าอะไร เราชอบหาเรื่องใส่เขาไม่หยุดไม่หย่อน นี้เรียกว่าไม่ได้แก้ปัญหา เรื่องธรรมชาติมันเป็นอยู่ตามเรื่องของมันแต่เราไม่มีปัญญาเอาธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้ได้

            เหมือนอย่างต้นไม้ในป่า มันมีทั้งต้นทั้งใบทั้งเปลือกนอกคือธรรมชาติของมันเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้นเขาไม่ได้ว่าเขาเล็กเขาใหญ่เขาสั้นเขายาว เขาเป็นอยู่อย่างนั้นผู้มีปัญหาก็นำธรรมชาติเหล่านั้นมาแต่งมาแปลงเอาด้วยปัญญา แปลงมาเป็นขื่อเป็นแป ให้เป็นบ้านเป็นเรือน นี้เรียกว่าปล้อนเอาออกมาจากธรรมชาติ เราเห็นธรรมชาติมันสงบทุกอย่าง ทั้งต้นไม้ภูเขาเถาวัลย์ก็ล้วนแต่เป็นของสงบอยู่ เรานี่แหละไม่ดีเอง เที่ยวติเขาไม่ได้หยุด เดินจากป่ามาบ้านเจอฟืนดุ้นหนึ่ง แบกใส่บ่าเดินมา แบกไปแบกไปมันก็ยิ่งหนัก จะทิ้งก็เสียดายจะแบกต่อไปก็หนัก แต่ก็ทนแบกไปจนยางตายแทบออก พอมาถึงบ้านทิ้งลง....โครม....“โคตรพ่อโคตรแม่มันหนักเหลือเกิน” พูดแล้วก็แล้วไปไม่ได้พิจารณาไม่รู้ว่าใครหนัก ไม้หนักหรือว่าเราหนักก็ไม่รู้ไม่รู้ว่าด่าแม่ใคร หรือด่าแม่ตนเองก็ได้รู้ ใครหนักก็คงจะด่าแม่คนนั้นละมัง...นะ เพราะไม้มันไม่หนักไม่เบามันเป็นอยู่อย่างนั้น นี้คือคนไม่รู้เรื่องไม่รู้จัก.แก้เจ้าของไม่รู้จักเหตุผล

            พวกเราให้พากันสร้างบารมี เพิมพูนบารมีของเราอาตมาเห็นว่า...บุญเด๊อพ่อออก บุญคือการกระทำดีกระทำชอบ เป็นบุญ บุญนี้เกิดขึ้นมาก็เรียกว่ากรรมเก่ามีทั้งบุญและบาป ถ้าเราทำอะไรไป ถ้ากรรมเก่าคือบาปมาเกี่ยวข้องแล้วลำบาก เสียหายมาก เราอยู่ไปหากินไปถ้ากรรมเก่าที่ดีมาพัวพันเป็นเหตุให้ง่ายให้ดีขึ้นมาได้มันเป็นอย่างนั้น

            ฉะนั้นพวกเรานั้นสมควรที่จะพากันศึกษาเรื่องนี้ถ้าใครไม่รู้จักธรรมะ ก็เอาตนหลุดพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้ คำว่าทุกข์คือทุกข์ทางใจ พวกเราอาจจะไม่รู้จักหรือบางคนอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้าตายไปแล้ว อย่างนี้ก็มีนะ พระพุทธเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้นแหละ ท่านตายแล้ว....หยุด ถ้าอาตมาจะพูดว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ตาย โยมพ่อออกจะว่าอย่างไร? ก็ท่านยังไม่ตายทุกวันนี้ท่านยังอยู่ ท่านยังช่วยมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ถ้าทำดีท่านยังช่วยอยู่ตลอดเวลา พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่วพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า ใครเห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นพระธรรมใครเห็นพระธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้าใครเห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นพระสงฆ์ ใครเห็นพระสงฆ์เห็นพระธรรมไม่ได้อยู่ไกลทีไหน อยู่ตรงนี้ เดิมพระพุทธเจ้าก็เป็นสิทธัตถราชกุมาร เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา ยังไม่รู้อะไร เมื่อท่านรู้ธรรมะชัดเจนแล้วก็เรียกท่านว่า พระพุทธเจ้า คนธรรมดาเลยหายไป

            คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มันเป็นปฏิปักษ์ต่อใจของพวกเรา เทศน์ไปๆ ถ้าจะเทศน์ความจริงให้ฟังจริงๆ แล้วทุกสิ่งมีแต่เรื่องขัดใจเราเพราะเหตุใด? เพราะใจเรามันสกปรกมีแต่เรื่องขัดใจทุกอย่าง พวกเรามันเสียดายความชั่ว เสียดายความไม่ดี เสียดายความสกปรก อยากเก็บเอาไว้ท่านว่าทิ้งมันเลย ก็ไม่อยากจะทิ้ง มันชอบของเลว ไม่ชอบของดี อย่างนี้อาตมาถึงว่าธรรมของพระพุทธเจ้ามันขัดใจคนขัดใจปุถุชนทั้งหลาย ขัดจนกลายเป็นอริยชน ถ้าไม่ขัดอย่างนั้นก็ไม่ได้อาตมาเคยไปเทศน์ธรรมะหลายแห่งเข้าไปบางบ้านเทศน์ให้ฟัง บางทีพ่อออกแม่ออกอยู่บ้านเดียวกันก็ยังทะเลาะกัน คนหนึ่งไป อีกคนหนึ่งไม่ไป คนหนึ่งว่าถูก คนหนึ่งว่าผิด แยกกันเลย มันแยกกัน นี้เป็นเพราะอะไร? เพราะกรรมมันบังไว้ ใครมีปัญญาก็เห็น ใครไม่มีปัญญาก็เห็นได้ยาก เห็นไม่ได้ง่ายๆ ของอันนี้มันใกล้ มันไม่ได้อยู่ไกลหรอก

            เรื่องทิฏฐิมานะของคนนั้น ถ้าจะเทียบแล้วจะย้ายภูเขาลูกนี้ไปไว้ที่อื่นก็ยังง่ายกว่า หรือทำให้มันราบเหมือนแผ่นดินก็ยังง่ายกว่าเป็นอย่างนั้น หรือจะเปรียบให้ฟังอีกง่ายๆ
ก็เหมือนพ่อกำนันนี่แหละ สร้างบ้านขึ้นหลังหนึ่งเสร็จเรียบร้อย อยู่มาได้สัก 10 วัน หรือเดือนหนึ่ง อย่างนี้ มีคนหนึ่งพูดว่า “พ่อกำนันบ้านหลังนี้รื้อเสียเป็นไง” ชวนรื้อบ้านหัวขาดก็ไม่รื้อใช่ไหม? ทำไม่ล่ะ ก็บ้านเราเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ๆใครจะยอมรื้อ อีกอย่างหนึ่งก็คงจะยังคิดว่าเพื่อนพูดเล่นอยู่อีกนะ ยังจะนึกว่าคนนั้นมันบ้าหรือไง บ้านเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ มาชวนรื้อ ยังนึกว่าเขาพูดเล่นอยู่อีก ทิฏฐิมานะก็เหมือนกัน เช่นอันนี้มันผิดเลิกเสียนะ โอ๊ย.....ไม่ได้ ถ้าสิ่งใดมันชอบสิ่งใดมันติดแล้ว ไม่กล้าละไม่กล้าถอน ติ๊ดอยู่นั้นแหละ....ยาก ไม่ได้ง่ายๆ ทิฏฐิมานะมันติดมันแน่น มันลึกมันซึ้งเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความเห็นผิดเป็นชอบ พูดให้ฟังไม่เห็นละถอนไม่ได้ง่ายๆคือมันไม่เห็นนั่นเองถ้ามันเห็นแล้วมันก็ง่าย แต่นี่มันไม่เห็น เรื่องคนไม่เห็นอยู่ไกลมันก็ไม่เห็น อยู่ใกล้มันก็ไม่เห็น อยู่ในลูกตานี้มันก็ยังไม่เห็น มันจึงเป็นของยากเป็นของลำบากหลาย

            ที่พระท่านสอนก็เพื่อให้ละทิฏฐิมานะ ที่ยึดไว้ถือไว้ของไม่แน่นอน อาตมาจึงอยากจะขอกับญาติโยม ขอไม่มากหรอกขอเพียงว่า ถึงจะละความผิดก็ได้ก็ไม่ว่า แต่ขอให้รู้จักให้รู้จักว่าอันนี้มันผิดอันนี้มันถูก แค่นี้เสียก่อนให้รู้จักจริงๆเท่านี้...อาตมาก็ดีใจแล้ว ให้รู้จักจริงๆ ไม่ใช่รู้เล่นๆ เท่านี้ก็ได้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าคนรู้ว่าอันนี้มันผิดอยู่ในใจของเขาแล้ว ทำอะไรมันก็รู้ว่าผิดใจมันบอกทำเมื่อไรมันก็บอกว่าอันนี้มันผิด มันทวงไม่หยุดอย่างนี้ ทำตอนไหนก็ผิด เห็นอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็หยุดเองอันนี้ไม่ได้ถามตัวเองสักที มันจึงไม่เห็นชัด มันไม่เห็นชัดอย่างนั้น เช่นเรากินเหล้าอย่างนี้ พอยกแก้วขึ้นมา ก็บอกว่า....บาปนะแต่ก็ยังกินอยู่เพื่อนชวนกินในสังคมอย่างนี้ก็กินไปพอยกแก้วขึ้นตอนไหนก็บอกว่าบาปไม่เห็นว่ามันผิดทันทีมันเลยขวางกันไปกับใจพวกเรายกขึ้นครั้งใดก็นึกอยู่เสมอว่าหลวงพ่อท่านว่ามันบาปนะ ไม่เฉพาะแต่ท่านว่า เห็นคนอื่นกินก็เห็นว่ามันเป็นบ้าเป็นบอเห็นว่ามันผิดอยู่อย่างนั้น แต่ก็กิน แต่ก็ยังคิด เอ๊า เอาแค่นี้ไม่เอาอีกแล้ว เดี๋ยวเขาก็ยกมาให้อีก เอ๊า....ลุงนี้ของหลานนะ เอาสักนิดทั้งๆที่รู้ว่ามันผิดอยู่กินตอนไหนก็รู้ว่ามันผิดอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ประเดี๋ยวมันก็หยุด ไม่หยุดก็ไม่ได้ เพราะมันรู้อยู่ว่ามันผิดอย่างนี้

            การฆ่าสัตว์ก็เหมือนกัน เห็นอยู่ว่าฆ่าเขามันบาปแต่ก็ไม่หยุด ไม่หยุดก็ตามแต่ให้มันเห็น อันนี้ อาตมาเคยพบมาจึงมาพูดให้ฟัง เราสร้างบารมี คือเราฟังแล้วมาพิจารณาใจของเรา เช่นเราไปจับกบแต่ก่อน พอจับได้หักขามันทันที แต่พอบอกว่ามันบาปนะโยม... ได้คิดหักขาเขาก็เหมือนหักขาเราเหมือนกัน ถ้าคิดให้ดีๆ เมื่อไปพิจารณาดูเลยรู้ขึ้นมาที
หลังได้กบมาใหม่ไม่หักขา กลัว....มันกลัว มันลดลงมา ไม่หักขาแต่เอามาใส่ข้องไว้นั้นแหละ เอามาบ้านให้แม่บ้านทำ คิดอย่างนี้ก็ทำไปเรื่อยๆ จับกบมาใส่ข้องทีไรก็ไม่หักขาล่ะทีนี้ ได้แล้วขั้นหนึ่ง คือไม่หักขากบ แต่ก็เอามาเหมือนเดิมนั้นแหละ ทำอยู่อย่างนั้น คิดไม่หยุด นึกไปนึกมา ว้า....เว้ย....อันนี้มันก็ยังไม่ถูกมั้ง....ไม่หักขาแต่ก็ยังเอามาให้เขา มันก็จะเถียงกันอยู่ในใจนั่นแหละ เถียงไปเถียงมาเอาไปเอามา มันสร้างบารมี นึกไปนึกมาก็ยิ่งถูก ว่ามันผิดอยู่เกรงอยู่ กลัวอยู่ แต่ไม่หยุดแต่ก็คิด อันนี้ก็เป็นเหตุประเดี๋ยวก็หยุด บางทีก็หยุดไม่มากหยุดเฉพาะวันพระ มันห่างแล้วทีนี้ หยุดแต่วันพระ วันไม่พระก็ยังเอาอยู่ ทำไปปฏิบัติไป แต่กลัวอยู่ติดอยู่ ทำไมหยุดมันก็มีความรู้เกิดขึ้นมาว่า วันพระหรือไม่พระมันก็คงเหมือนกันละมัง มันสอนอยู่อย่างนี้ จิตเราถ้ามันเห็นแล้ว นั่งอยู่ก็สอน เดินอยู่ก็สอนสอนว่ามันผิด....มันผิด...อยู่อย่างนี้ ผลที่สุดมันจู้จี้มากมันก็หยุดเท่านั้นเอง
สำหรับการสร้างบารมีอาตมาถึงว่า พ่อออกเอ๊ย..รักษาศีลนะรักษาไม่ได้อย่าไปว่านะ “ครับกระผมจะพิารณาจะพยายาม” นี้คือการเปิดประตูเอาตนเองออก ถ้าคิดว่าไม่ได้หรอกครับ นี่คือการปิดประตูไม่มีหนทางจะออกคำว่าไม่ได้คือเราไม่เคยคิดว่าจะออก ถ้าบอกว่ากระผมจะพยายามครับ นี้ยังพอมีหนทาง คำพูดอันนี้เป็นคำพูดออกมาจากจิตใจ ว่าจะพยายามก็พยายามจริงๆ นี้คือ การสร้างบารมีทางด้านจิตใจของเราทำ อะไรก็รู้อยู่เห็นอยู่ว่ามันถูกมันผิด มันเปลี่ยนจากมิจฉาทิฏฐิมาเป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่นานหรอกโยม นี้เรียกว่าการสร้างบารมีทางจิต เห็นไป...เห็นไป ความเห็นมันก็แก่ขึ้นกล้าขึ้น บารมีมันกล้าขึ้น เพิ่มขึ้นอันนี้มันก็เลยมากขึ้น กิเลสมันก็น้อยลง เพราะบารมีมันมากขึ้น เปรียบประหนึ่งว่าเราทุกคนที่นั่งกันอยู่นี้ สมัยก่อนเราเป็นเด็กเล็กๆ ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่ ถามว่าเด็กเล็กมันหายไปไหน? มันไม่หายไปไหนหรอก คือเด็กน้อยเป็นเหตุให้เราใหญ่เวลาเราโตเด็กมันก็เลยหายไปเด็กไม่มีผู้รู้ไปไหนกลายมาเป็นผู้ใหญ่ เลยไม่มีเด็กน้อย จิตใจของเราก็เช่นกันถ้าความรู้เกิดขึ้นความไม่รู้มันก็หายไป ทิ้งไป เหมือนกับเรานี้แหละ แต่ก่อนก็เป็นเด็กแต่พอโตขึ้นมาเด็กก็ไม่มี มันไปไหนล่ะ มันไม่ได้ไปไหนหรอก อยู่ตรงนั้นแหละ คือมันหนีจากเด็กแล้วมาเป็นผู้ใหญ่ มันฆ่าของมันเองหรอกหรือว่าไง? หรือเราคิดว่าเด็กมันไปไหน เด็กน้อยมันวิ่งไปภูเขาโน้นหรือมันไปไหน? หือ...คิดให้คักๆ (ดีๆ) เด๊อ.... นี้เรียกว่าการพิจารณา การสร้างบารมี แต่ก่อนเด็กน้อยมันอยู่กับเราแต่ว่ามันใหญ่มันก็เลยไม่มี มะม่วงก็เหมือนกัน มันเป็นดอกก่อน เวลาเป็นลูกดอกมันไปไหนมันก็มาเป็นลูกนั้นแหละเวลามันเล็กมันก็ยังไม่ใหญ่เพราะอะไร? เพราะมันคา (ติด) ลูกเล็กอยู่ ถ้าอยู่ไป
นานนาน ใหญ่ก็ปรากฏขึ้น เล็กก็ค่อยหายไป ใหญ่ขึ้นมามันก็ห่ามผลดิบมันก็หายไป พอถึงเวลามันสุกแล้ว ผลห่ามผลเล็กดอกมันไปไหน เวลามันหวานความเปรี้ยวมันไปไหน? เวลาเปลือกมันเหลืองความเขียวมันไปไหน? มันเข้ามารวมกันที่มะมวงใบเดียวกันทั้งหมดผลน้อยก็มารวมที่ผลใหญ่รสเปรี้ยวก็มารวมที่รสหวาน สีเปลือกที่เขียวๆ ก็มารวมที่สีเหลืองๆ ของมัน ไม่ใช่มันวิ่งไปไหนมันรวมกันที่เดียวทั้งหมด แต่พวกเราไม่รู้จักไม่ได้พิจารณา ไม่ได้พิจารณาอย่างไร มะม่วงใบนี้เมื่อมันสุกมาแล้วเราจับขึ้นมา ยกขึ้นมา ไม่ได้เข้าใจว่าเรายกต้นมะม่วงยกกิ่งมะม่วงยกรสมะม่วงกลิ่นมะม่วง ไม่เคยเห็น ความเป็นจริงแล้วเวลาเราจับมะม่วงขึ้นมากิน ก็คือเรายกขึ้นมาทั้งต้น ทั้งผลทั้งเมล็ด แต่ในเวลา มันเห็นไม่ได้เพราะมันละเอียดมาก เมื่อเวลาเราเอาไปฝังลงบนดินให้มันถูกสัดส่วนของมัน มันจะถอดลำต้นถอดใบขึ้นมา แล้วเกิดกิ่งขึ้น เกิดดอกออกผล เกิดรสเกิดชาติขึ้นมา แต่ว่าเวลากินมะม่วงเราไม่เห็นเพราะอะไร? เพราะเราไม่ละเอียด มันจึงไม่เห็น เวลาเอาไปปลูกถึงจะเห็นว่าโอ้.... ที่แท้เราแบกต้นมะม่วงกินอยู่แต่ไม่รู้จัก

            ความหลงของสัตว์ก็เหมือนกันฉันนั้น มันเป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงให้สร้างบารมี บารมีก็คือคุณธรรมอันยวดยิ่ง สร้างบารมีทางจิตใจให้พิจารณาให้ภาวนาภาวนาก็คือการพิจารณาเหมือนเราจับเอามาตัด ต้องรู้ว่าตัดตรงนี้มันจะสั้นไปไหมหนอ หรือจะยาวไปไหมหนอ...นี้คือภาวนาล่ะ ไม้นี้มันจะใหญ่ไปหรือมันจะเล็กไปหนอ....พิจารณาว่าจะตัดตรงไหน

            ความจริงทุกคนต้องภาวนา แต่เราไม่รู้เรื่องของเจ้าของถ้าเราพิจารณาเหตุพิจารณาผลแล้วเราก็ทำความชั่วไม่ได้ไม้ถ้าเราพิจารณาแล้วตัดไม่ผิด ถ้าพิจารณาไม่ออกเอาตลับเมตรมาวัดดู ได้ห้าเมตรหกเมตรตามที่เราต้องการค่อยตัดไม่ผิด นี้เรียกว่าการภาวนาทุกอย่างให้ได้ภาวนา

            พระพุทธองค์ท่านจึงสอนว่า การให้ทานร้อยครั้งไม่เท่ารักษาศีลครั้งหนึ่ง รักษศีลร้อยครั้ง ไม่เท่าภาวนาครั้งหนึ่ง ภาวนานี้มันละเอียด เพราะภาวนานี้มันถึงจิต มันปล้อนสารพัดอย่างออกมาได้ เห็นในจิตตนเอง ถ้าเห็นในจิตตนเองแล้ว ต่างจากคนที่ไม่เห็นเหมือนกันกับเราไปเห็นหมูป่าหรืออีเก้งด้วยตนเอง กับการที่เราได้ยินเขาพูดให้ฟังว่าหมูปาเป็นอย่างนี้นะ อีเก้งเป็นอย่างนี้นะ เท่านี้ก็มีความรู้ต่างกันแล้ว ถ้าเราเห็นชัดเจนว่าลักษณะหมูป่าเป็นอย่างนี้ใครมาพูดให้ฟังถูกหมด ตลอดรูปร่างสัณฐานของมันตลอดขนมันขามันแเข้งมันสารพัดอย่าง เราจะมีความสามารถพูดได้อย่างแจ่มแจ้ง แต่ถ้าเราไม่รู้ ได้ยินเขาพูดว่าหมูป่านะก็จะมีปัญหาว่าหมูป่ามันเป็นอย่างไร? อธิบายไม่ถูกเดี๋ยวเขาก็จะสวนกลับมาว่า มึงไม่รู้จักหมูหรือไงว่ะ....ถ้าเราเห็นจริงๆ แล้ว สามารถอธิบายได้ พูดได้เต็มปาก เพราะทางจิตมันเห็นมันเป็นอย่างนั้นการภาวนามันแจ้งขาวกว่ากันสิ่งที่เราเอาไปนั้นมันไม่มีอะไร เราเห็นชัดเจนแล้ว เรื่องมันเป็นวัตถุเป็นเรือนชานบ้านช่องทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เรียกว่ของเรานั้นก็จริงอยู่แต่จริงโดยสมมุติ เป็นของสมมุติ

            อาตมาเคยไปสำรวจตรวจสอบดู ทายกทายิกา พากันอยากได้วัด ร้องขอเอาวัดไปให้แล้วไม่รู้พากันทำขนาดไหนไปเยี่ยมดูไปสำนักไหนก็มีความรู้สึกว่าเหมือนกับหิ้วของหนักพากันแบกของหนัก แบกไปแบกไปมันหนักมาก นึกแต่จะปลงจะวาง มันเหนื่อย....สร้างคุณงามความดีนี้กำลังมันไม่พอมันมีความขี้เกียจมักง่าย ไปที่ไหนๆก็เหมือนกัน ตลอดจนพระเจ้าพระสงฆ์เหมือนกันกับแบกของหนัก มันทุกข์...เมื่อมันทุกข์ ความรู้สึกในใจก็มีแต่อยากจะปลงจะวางอยากปล่อย.... กำลังใจไม่มาก เหมือนคนกำลังไม่มากแบกของหนักคอยแต่จะปลงแต่จะวาง พวกประพฤติธรรมะก็เหมือนกัน ผู้ยังไม่ถึงธรรมยังไม่บรรลุธรรม มันก็อยู่ในความทรมานหิ้วไปดึงไป แต่ก็ยังดี ยังดีกว่าบุคคลที่ยังไม่ได้แบกของ ยังไม่เคยได้ของ ดีกว่า...มีความอดทน

            คณะอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นฆราวาส ความเป็นจริงอยากให้รู้จักหน้าที่การงานของเจ้าของไว้ ทุกๆ คน เพราะว่ามันไม่มีอะไร ไม่มีอะไร จะได้จะดี ไม่มีอะไรที่จะเป็นแก่นเป็นสารสักอย่างหนึ่ง ที่มันเป็นแก่นเป็นสารท่านให้ภาวนา เพื่อให้มันบรรลุถึงความพ้นทุกข์ทั้งหลายเมื่อเฒ่าแก่มาแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรหรือใครว่ายังไง? หมดราคาสภาวะแห่งกายนี้หมดราคา ก้อนฟูมันไม่เที่ยงมันเปลี่ยนไป...เปลี่ยนไปทางจิตใจที่เรียกว่านานมันก็ไม่เหมือนเก่า แต่ว่า เลี้ยงคนโดยธรรมะนั้นเลี้ยงยากมากนะ เลี้ยงลูก เราเอาข้าวเอาน้ำให้มันกิน มันก็รู้จักใหญ่ รู้จักโต เลี้ยงโดยภาษาธรรมให้อาหารธรรม ให้คนใหม่ในธรรม ให้คนดีในธรรม ให้คนมีกำลังในธรรมยาก... ลำบากแท้ๆปฏิบัติไปจนเฒ่าจนแก่ก็ยังไม่โต ยังน้อยยังไม่ใหญ่ มันใหญ่แต่ร่างกาย ร่างกายเราให้อาหารมันกินมันก็ใหญ่ ใหญ่ทางเนื้อทางหนัง ธรรมะความรู้ทางจิตใจมันไม่ใหญ่ ความเป็นจริงการปฏิบัตินักบวชก็ดี เป็นฆราวาสวิสัยก็ดี....นะ.... พวกเรามาอบรมกันตั้งหลายปี ตั้งแต่เด็กจนเฒ่าจนตายก็ยังไม่ใหญ่นะกำลังธรรมะมันน้อย กำลังธรรมะไม่มาก ไม่เห็น เหมือนกันกับปลา ปลาอยู่ในน้ำ มันไม่เห็นน้ำ อันนี้ก็จริง อยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ อันนี้เราอยู่กับกองธรรมอยู่กับพระไตรปิฎกไม่ได้อ่านพระไตรปิฎก ถึงอ่านพระไตรปิฎกก็ไม่ได้เข้าใจในพระไตรปิฎก
ในข้อความอันนั้น เราอยู่กับกองกาย กองรูปกองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ และสวดด้วยเรียนด้วย แต่ไม่เห็น พูดอยู่ สวดอยู่ แต่ไม่เห็น จึงเหมือนกับปลาดำอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ ก็เหมือนกับ พวกเราทั้งหลายพูดธรรมะอยู่แต่ไม่เห็นธรรมเพราะว่ามันมีอะไรปิดบังไว้โดยไม่รู้สึกตัวเอง มองไม่เห็น เช่นการเรียนการสวดหรือการพูดมันเป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรม ใช้ตัวธรรมะไม่ใช่เรื่องธรรมะ นั้นก็ยังไม่ใช่ตัวธรรมะ มันเป็นข้อความบันทึกธรรมะแค่นั้น เราพากันเรียนพากันบ่นพากันสวดเป็นต้นสวดเรื่องธรรมะสวดข้อบันทึกธรรมะไม่ใช่ตัวธรรมะ

            อุปมาเหมือนกับว่า พริกมันเผ็ด เกลือมันเค็ม เราบอกว่าพริกมันเผ็ด...อย่างนี้ ยังไม่เห็นความเผ็ดของมัน ยังไม่รู้จักคำที่ว่ามันเผ็ด มันเค็ม ไม่ใช่ตัวเผ็ดตัวเค็ม การอธิบายธรรมะให้ฟังก็เหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่ตัวธรรมะ เป็นคำพูดของบุคคล เป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรมะ ตัวหนังสือคัมภีร์ต่างๆ ก็เหมือนกันเป็นข้อความบันทึกของธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะอ่านได้ท่องได้แต่ใจยังไม่เป็นธรรมะ พูดรู้เรื่องอยู่ ก็ยังไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เห็นธรรมะ ตัวธรรมะจริงๆ นั้นบอกกันไม่ได้ เอาให้กันไม่เป็นไม่รู้จัก ส่วนที่เราศึกษาเล่าเรียน สิ่งที่เราปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นอุบายเป็นข้อประพฤติปฏิบัติบอกให้เข้าไปถึง เช่นบอกว่าพริกมันเผ็ดนะ ยังไม่รู้จัก ว่าตัวเผ็ดจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร รู้จักแต่เสียงสำเนียงชื่อมันว่าเผ็ด แต่ตัวเผ็ดไม่รู้จัก ส่วนนั้นไม่ใช่ส่วนของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ส่วนของหนังสือ ไม่ใช่ส่วนของคัมภีร์ มันเป็นส่วนของเจ้าของที่ปฏิบัติ มันจึงจะรู้จักว่ามันเผ็ดจริงๆ จึงจะรู้ว่าตัวเผ็ด จึงจะเข้าถึงตัวเผ็ดตัวเค็มเป็นต้น เผ็ด....เค็มมีแต่ชื่อไม่ใช่ตัวมัน ได้ยินแต่ไม่รู้จักส่วนนั้น มันเป็นส่วนของการปฏิบัติ ต้องเอาไปกิน ความเผ็ดความเค็ม ความเเปรี้ยวจึงจะปรากฏขึ้นมาอันนั้นเป็นตัวเผ็ดอันนั้นเป็นตัวเค็ม เราอ่านหนังสือเราฟังธรรมะยังไม่ใช่ธรรมะ ตรัสรู้ธรรมไม่ได้ รู้ได้ด้วยตำราเป็นส่วนของอุปัชฌาย์อาจารย์จะแนะนำโดยอุบายต่างๆ เพื่อให้เข้าไปเห็นความเผ็ด คือธรรมะ อันนี้ก็เหมือนกันเป็นอธิบายให้เข้าไปเห็นธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะ ดังนั้นคนจึงยากที่จะรู้ ยากที่จะเห็นเพราะไม่ได้เข้าใจในการปฏิบัติ เช่นเดียวกับ แพทย์หรือหมอรู้จักสรีระกายของมนุษย์ดีเพราะการศึกษาเล่าเรียนมารู้จัก แต่ก็ไม่รู้จักสรีระอวัยวะของมนุษย์ตามเป็นจริงของหลักธรรม รู้ตามหลักการและวิชาการเท่านั้น ท่านเรียกว่าไม่เห็นเหมือนปลาอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ หมอแพทย์ผ่าตัดสรีระร่างกายของคน รู้จักไปตามหลักการวิชาการแต่ไม่รู้จักในหลักธรรมะตามความเป็นจริง มันเป็นคนละแขนงอย่างนั้น

           ฉะนั้น พุทธบริษัทเราทั้งหลาย ยากที่จะบรรลุธรรมะ เรียกว่าไม่เข้าถึงแก่นของธรรมะ ก็ เพราะมันเป็นอย่างนี้เองไม่ได้น้อมเข้ามา เราตั้งใจปฏิบัติมานมนาน ปฏิบัติได้ 9พรรษา 10 พรรษา 20 พรรษา บุรุษและสตรีทั้งหลาย ถ้เราไปบุกเบิกทำไร่ไถนา คงจะได้มาหลายไร่แล้วนะ นั่น...มันเป็นอย่างนั้น เราเป็นนักบวชตั้งใจมาปฏิบัติแท้ๆ แต่ยังไม่ได้อะไร ยังทำความยุ่งยากใส่ตัวเองอยู่ และใส่ผู้อื่นอยู่ไม่รู้จัก มันไม่รู้จักทั้งๆ ที่จะไปละกิเลสทั้งหลาย แต่ไม่รู้เรื่องถูกนินทากาเลยังมีโกรธมีโมโห ยังถือเราถือเขายังถือทิฏฐิมานะ เป็นหน้าที่ของนักปฏิบัติจะฝ่าฟันลงให้เห็น เช่น เราสวดอาการสามสิบสอง แยกแยะออกหมด ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เห็นเพื่อให้ละสักกายะทิฏฐิ ไม่ให้ถือตัวถือตนว่าเป็นแก่นเป็นสารเป็นเราเป็นเขา สวดแล้วก็ไม่เห็นเพราะธรรมะไม่ได้อยู่ที่นี่ยังไม่เป็นธรรม ยังมีความโกรธมีความขึ้งเคียด ยังมีความเห็นแก่ตัว เป็นสักกายะทิฏฐิ ละวิจิกิจฉายังงี้ได้ มันยังไม่ลงหนทาง จึงเป็นของยากเป็นของลำบาก

            เราอยู่ไปนานๆ มันก็หนัก เหมือนแบกของหนัก คนแบกของหนักคิดพยายามจะปลงจะวางเพราะมันไม่สบายโดยมากนักบวชนักพรตนักปฏิบัติเราชอบจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้อาศัยเจ้าของเป็นอยู่อาศัยคนอื่น เหมือนกันกับพระอานนท์ พระอานนท์เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าได้เป็นพุทธอุปัฏฐาก ไปไหนก็ไปตามติดตามกันไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายด้วยธรรมะ พระอานนท์ก็ได้ยินได้ฟ้ง แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุซึ่งธรรมะ เมื่อถึงคราวพระพุทธเจ้านิพพาน พระอานนท์ร้องไห้ เพราะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายนั้น บัดนี้ท่านมาเสียชีวิตไปแล้ว ต่อไปใครหนอจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของเราน้อยใจ ความน้อยใจทำให้ร้องไห้ปริเทวนาการ คนยังไม่ถึงธรรมะ ยังไม่บรรลุธรรมะเป็นอย่างนี้ เรื่องคิดเอาไม่ได้เพราะพระอานนท์ได้ยินแต่คำท่านเทศน์ธรรมะ ได้ดูตำราข้อความบันทึกของธรรมะ พระอานนท์ยังไม่บรรลุถึงธรรมะตัดความโศกเศร้า ปริเทวนาไม่ได้ เข้าใจว่าเมื่อครูของท่านล่วงลับไปแล้วใครจะเป็นครูเป็นอาจารย์ เราคงไม่เห็นท่านอีกแล้ว คิดไปน้ำตามันก็ไหลออกมา ความรู้สึกเช่นนี้ล่ะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่รู้จักธรรมะ ไม่มีทางพ้นทุกข์ พระเถระทั้งหลายผู้ท่านบรรลุถึงธรรมะชั้นสูง เห็นพระพุทธเจ้านิพพานท่านไม่คิดอย่างนั้น เออ... พระตถาคตท่านไปดีแล้ว ท่านสบายแล้ว ท่านหมดภพหมดชาติของท่านแล้ว สบาย...เกิดความสลดสังเวชในสังขารเท่านั้นก็แล้วไป

            ธรรมดาคนเราทุกวันนี้ลำบาก ไม่เห็นง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น พระธาตุพนมพัง คน
ร้องไห้ก็มี และวิพากษวิจารณ์กันไปหลายๆ อย่าง มันเป็นกรรมเป็นเวร เป็นเสนียดจัญไรแก่บ้านแก่เมือง ว่าไปอย่างนั้น อย่างไรจะเสียใจมันก็คิดไป เพราะคนมันหลง ความเป็นจริงนั้นอันนี้เป็นธาตุท่านพังนะ ท่านนิพพาน ก่อนท่านไป ตัวท่านเองท่านก็ยังไป ท่านไม่อยู่ ท่านยังบอกว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดแล้วไม่แปรผันไปนั้นไม่มี ต้องแตกทำลายเป็นเบื้องหน้าท่านสอนไว้ ตัวของท่านเองท่านก็ไปแล้ว เหลือแต่อัฏฐิอัฏฐิก็กระดูกท่าน แต่ตัวจริงท่านก็ผ่านไปแล้ว ท่านยังสั่งว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง อย่าพากันไปตำหนิก้อนอิฐ อย่าไปตำหนิก้อนหิน อย่าพากันไปถือต้นไม้โลหะต่างๆ เป็นที่พึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ให้เราพ้นจากทุกข์ไม่ได้ แม้ท่านจะนิพพานแล้วก็ตามให้พากันเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม ให้มีรากฐานแน่นหนา ให้มีพระอริยสงฆ์ อันเกิดจากพระสัทธรรมเป็นที่พึ่งอันนั้นเป็นสรณะ ที่พึ่งของเรา ฉะนั้นถ้าเราไปอาศัยภูเขาอาศัยต้นไม้อาศัยก้อนหินอาศัยก้อนอิฐอยู่มันก็พังถ้าพังแล้วก็ร้องไห้เสียใจ นี่ล่ะ....พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว มันทุกข์ มันนำตนพ้นทุกข์ไม่ได้ พ้นจากวัฏฏะสงสารไม่ได้ มันเป็นมงคลตื่นข่าว ฉะนั้นยากที่คนจะเห็น ยากที่คนจะรู้จักพึ่งธรรมะ พูดตามความเป็นจริงความจริงที่มันมีอยู่ตั้งอยู่เสมอ ไม่มีอะไรหวั่นไหว ความจริงยังตั้งมั่นอยู่ ท่านว่ามันพังมันก็พัง ท่านว่ามันแตกมันก็แตก ท่านว่ามันฉิบหายมันก็ฉิบหาย มันก็ถูกอยู่แล้วไม่มีอะไรจะเกิดวิปลาสอีกต่อไป ไม่มีทางแก้ไขความจริงตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ เมื่อพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ท่านก็เทศน์ให้ฟังเมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานแล้วท่านก็สั่งไว้ โดยปริยาย ในเบื้องปลาย เพื่อจะให้ประชาชนทั้งหลายเข้าใจในธรรมะขนาดนี้ก็ยังเข้าใจได้ยาก นี่อะไรมันบัง อะไรมันปิดบังไว้อะไรมันปิดดวงตา เช่นท่านให้พิจารณาสกนธ์ร่างกาย เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่สะอาด เป็นของไม่เป็นแก่นสารสภาพร่างกายตาเรามองเห็น เห็นขน เห็นขาเห็นนิ้วมือนิ้วเท้าเห็นทุกส่วน แต่ว่ามันไม่เห็น เห็นแล้วก็ไม่เห็น เห็นแล้วไม่เห็นลักษณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในรปูอันนี้ เมื่อมันวิบัติมาวิบัติไปก็มีความโศกเศร้าปริเทวนารำพันชื่อว่าเราไม่เห็น ไม่ใช่ตาเนื้ออันนี้ ท่านหมายถึงตาใจคือปัญญาให้พิจารณาทุกสิ่งสารพัดท่านให้ภาวนา ภาวนาคือจิตให้ถูก คิดให้มันแม่น การคิดให้มันแม่น การคิดให้มันถูกนั้นแหละคือยอดธรรมะ ยอดของการภาวนา เราจะเดินจงกรมก็ดี เราจะนั่งสมาธิก็ดีเคลื่อนอิริยาบทต่างๆ ทั้งหลายก็ดี คือพระพุทธเจ้าท่านบังคับให้ มีสติรอบรู้อยู่อย่างนั้น ก็เพราะว่าท่านอยากให้เรามีความเห็นถูกต้องดี ถ้ามีความเห็นถูกต้องดีมันก็เป็นมรรค เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น เมื่อเราทุกข์เราก็จะระบายทุกข์ออก เช่นว่าเราเจ็บไข้ มันเจ็บหัวมัน
ปวดท้องอย่างนี้เป็นต้น หรือมันเฒ่าแก่ชรามาอย่างนี้เราเห็นแล้วเราก็มีความสบายในธรรมะ เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้เอง มันจะไม่เป็นไปอย่างอื่นทุกผู้ทุกนามเกิดมาแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้มันจะมีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่เมา มันจะมีความสุขเกิดขึ้นมาก็ไม่เมา ไม่ได้เมาในสิ่งใดทั้งหลายทั้งปวง เพราะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นตามเหตุตามปัจจัยของมัน เมื่อความเห็นถูกต้องใจก็ไม่ตื่นเต้นไม่หวาดไม่กลัว ไม่สะดุ้งต่อเหตุการณ์ทั้งหลายต่างๆจะเห็นรูปก็ดี จะได้ยินเสียงก็ดี จะได้ลิ้มรสก็ดีถูกต้องโผฏฑัพพะทางกายก็ดี ธรรมมารมณ์อันเกิดขึ้นทางใจก็ดี อนิฏภรมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา อนิฎฐษรมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาก็ดี จิตใจของผู้บรรลุธรรมะ จะตรงจะเที่ยงจะมั่น รู้รอบอยู่ตามเป็นจริงนั้น พ้นจากทุกข์

           อันนี้คือความคิดถูก เมื่อคิดถูกแล้ว มันสงบทุกสิ่งทุกอย่าง นี้คือการประพฤติปฏิบัติของพวกเราชาวพุทธทั้งหลาย ให้เห็นอันนี้คำที่ว่าพ้นจากทุกข์นั้นก็ฟังยากลำบากว่ามันพ้นโดยวิธีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกขืได้ ถ้าภาษาเราง่ายๆ ว่ามันได้อะไรทุกล่สิ่งทุกอย่างตามชอบใจแล้วไม่ทุกข์ว่าอย่างนั้น แล้วไม่คิดว่าอันใดทั้งปวงในโลกนี้ให้มันได้ตามชอบใจนั้นมีไหม? มันไม่มีหรอก หาไม่ได้หาไม่มี นอกจากทำปัญญาสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นให้ได้เท่านั้นเอง

            ฉะนั้นเรื่องประพฤติปฏิบัติของพวกเราทั้งหลายนั้นมันจึงไม่ก้าวหน้า อาตมาเห็นว่ามันเหนื่อยหน่ายมันไม่บรรลุธรรมะอย่างแท้จริง ไม่บรรลุซึ่งธรรม ถ้าบรรลุซึ่งธรรมปฏิบัติไปนานๆ มันจะเบื่อหน่าย เบื่อไป....เบื่อไป....เป็นต้นมันไม่ขี้เกียจ แต่คนเราไม่เป็นอย่างนั้น ปฏิบัติธรรมแล้วขี้เกียจ พอใครว่าหน่อยก็โกรธเลย ของใช้ไม่ได้ไม่ขี้เกียจมันจะเป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเอาออกได้ยาก เพราะไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญาของเจ้าของ ผลของการฏิบัติก็คือโลภ โทสะ โมหะ เต็มอยู่ในใจ เครื่องหมายของผู้ปฏิบัติมันน้อยหรือมันมาก มันเจริญหรือมันเสื่อม ทั้งหลายเหล่านี้จะต้องพากันรู้จักตัวเอง ถ้าเราพากันรู้เรื่องธรรมะแล้วเราทั้งหลายจะเป็นผู้มีกำไร เป็นผู้มีกำไรมากทีเดียว มันจะไม่ตื่นเต้นจะไม่ทุกข์ในสิ่งใดๆทั้งสิ้น เพราะว่าเห็นโลกตามเป็นจริงเช่นว่า “โลกวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง” แต่เราไม่รู้ว่าโลกมันอยู่ตรงไหนมันพ้นจากโลกมันพ้นอย่างไรไม่รู้จักรู้แต่ว่าเออ...ถ้าตายคงสบายหรอก อยู่ในโลกนี้มันยาก พวกเราทั้งหลายเลยเห็นว่าดินฟ้าอากาศนี้เป็นโลก โลกที่อยู่ใกล้ไม่เหนือโลกอันนี้มันโลกคือแผ่นดิน โลกที่ทำให้สัตว์หมุนเวียนอยู่โลกคืออารมณ์ อารมณ์ที่มันเกิดอยู่รอบๆ เราอยู่นี้อารมณ์ที่มันเกิดทางหูข้าง ทางตาบ้างฯ เข้ามารวมที่จิตใจถ้ามันหลงมันก็เกิดโลภและโกรธขึ้นมาอันนี้เป็นเครื่องหมายถ้าเรารู้ไม่เท่าเอาไม่ทัน กำลังกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ มันจะเต็มตื้ออยู่อย่างเก่า เมื่อเรารู้ตามเป็นจริงของมันแล้ว ไม่มีอะไร อารมณ์นี้ไม่ให้โทษ อารมณ์ก็เหมือนน้ำที่มันไหลไปตามเรื่องของมันเหมือนลมที่พัดไปตามอากาศ เราไปโทษว่ามันไหลเร็ว ไหลช้า ไปโทษว่ามันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ความเป็นจริงเรื่องของมันเป็นอย่างนี้ แม้ถึงสกนธ์กายของเรานี้ก็เช่นกัน มันจะแปรไปไหนก็ช่างมัน เกิดโรคอะไรก็ตามโรคอ้วนก็ตาม โรคผอมก็ตาม โรคตับโรคปอดมันตายเพราะโรคอันนั้น มันตายเพราะโรคอันนี้มันเป็นแขนงของมันต่างหากหรอก ถ้าพูดให้มันถูกจุดเดียวโรคนี้ ไม่มีมากคนนี้ตายเพราะอะไรหนอ? มันตายเพราะมันเกิด ไม่มีโรคอะไร โรคเกิด เขาตายเพราะโรคอะไร? ตอบว่า โรคเกิดเท่านี้ก็พอ โรคอะไรก็ตามมันมาจากโรคอันเดียว คือเกิดพอ....ถ้าเราว่าโรคเกิดมันก็จบ เพราะถ้าไม่เกิดมันก็ไม่ตายถ้าพูดง่ายๆ ก็ตามพูดอย่างนี้ เป็นโรคอะไร? โรคเกิดก็จบถ้าภาวนา ภาวนาอย่างไร? คือทำให้มันถูก แค่นี้ก็หมดเรื่องภาวนา ถ้าพูดให้มันสั้นก็ต้องพูดอย่างนี้ เอวัง

ขอบคุณที่มาข้อมูล

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 1712 วันที่ 23 พ.ค. 2552


ไม่มีอะไรได้...ไม่มีอะไรเสีย ..ไม่มีอะไรได้...ไม่มีอะไรเสีย..

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

 วันสงกรานต์

วันสงกรานต์


เปิดอ่าน 6,241 ครั้ง
วิธีชะลอความแก่ 7 ประการ

วิธีชะลอความแก่ 7 ประการ


เปิดอ่าน 6,243 ครั้ง
โปรดเลือกเบอร์10

โปรดเลือกเบอร์10


เปิดอ่าน 6,250 ครั้ง
^-^...สบายดี หลวงพระบาง...^๐^

^-^...สบายดี หลวงพระบาง...^๐^


เปิดอ่าน 6,241 ครั้ง
8 เซียน

8 เซียน


เปิดอ่าน 6,296 ครั้ง
งานประดิษฐ์..ดอกลิลลี่

งานประดิษฐ์..ดอกลิลลี่


เปิดอ่าน 6,243 ครั้ง
ทำไมต้อง 2012

ทำไมต้อง 2012


เปิดอ่าน 6,239 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

 กะทิมีคอเลสเตอรอลหรือเปล่า.......ไปฟัง (อ่าน) เฉลย  ครับ

กะทิมีคอเลสเตอรอลหรือเปล่า.......ไปฟัง (อ่าน) เฉลย ครับ

เปิดอ่าน 6,246 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ทำลายมะเร็ง-ต้อกระจก-หัวใจกับผลไม้ไทย 30 ชนิด
ทำลายมะเร็ง-ต้อกระจก-หัวใจกับผลไม้ไทย 30 ชนิด
เปิดอ่าน 6,239 ☕ คลิกอ่านเลย

กรรมและการลดกรรม 45 อย่าง..ควรอ่าน!!
กรรมและการลดกรรม 45 อย่าง..ควรอ่าน!!
เปิดอ่าน 6,240 ☕ คลิกอ่านเลย

คิดอย่างไร
คิดอย่างไร
เปิดอ่าน 6,239 ☕ คลิกอ่านเลย

ไข้หวัด
ไข้หวัด
เปิดอ่าน 6,238 ☕ คลิกอ่านเลย

ข้อดีของการเกิดมาเป็น คนไม่สวย (555)
ข้อดีของการเกิดมาเป็น คนไม่สวย (555)
เปิดอ่าน 6,261 ☕ คลิกอ่านเลย

ตาสว่าง!!! คลิปเกาเหลา
ตาสว่าง!!! คลิปเกาเหลา 'ฮาย-อาภาพร' กับ 'ดาว-มยุรี'
เปิดอ่าน 6,246 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ขนาดของหน่วยความจำและขนาดของภาพเมื่อนำไปอัด
ขนาดของหน่วยความจำและขนาดของภาพเมื่อนำไปอัด
เปิดอ่าน 31,357 ครั้ง

ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา-ปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ความต่อเนื่องทางนโยบาย?
ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา-ปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ความต่อเนื่องทางนโยบาย?
เปิดอ่าน 9,946 ครั้ง

หลากเทคนิค ช่วยให้นอนหลับสบาย
หลากเทคนิค ช่วยให้นอนหลับสบาย
เปิดอ่าน 13,113 ครั้ง

เคล็ดลับกินอย่างฉลาด ปราศจากโรค
เคล็ดลับกินอย่างฉลาด ปราศจากโรค
เปิดอ่าน 9,879 ครั้ง

อนามัยโลกเตือนไม่ควรดื่มเครื่องดื่ม "ร้อนเกินไป"
อนามัยโลกเตือนไม่ควรดื่มเครื่องดื่ม "ร้อนเกินไป"
เปิดอ่าน 15,712 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ