Advertisement
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น |
|
|
|
|
เวียนมาครบอีกขวบปีที่ถึงวาระการจัดอันดับบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกโดยนิตยสารไทม์ ที่คัดเลือกบุคคลผู้โดดเด่นและน่าสนใจในแวดวงต่างๆ ขึ้นทำเนียบ 100 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปีนี้ ซึ่งก็มีนักคิดนักวิทยาศาสตร์ที่ติดโผเข้าไปด้วยถึง 19 อันดับ มีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ แต่จะมีใครบ้างนั้น ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะนำพาไปรู้จักกันเดี๋ยวนี้เลย
หากเอ่ยถึงบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกที่ถูกจัดอันดับให้โดยนิตยสารไทม์ประจำปีทุกปี ส่วนใหญ่พวกเราก็มักจะนึกถึงคนเด่นคนดังในแวดวงสังคมและการเมืองของประเทศต่างๆ เป็นอันดับต้นๆ แต่ก็ยังมีบุคคลอีกหลายท่านที่มิได้เกี่ยวข้องกับแวดวงดังกล่าวโดยตรงแต่ก็มีอิทธิพลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรโลกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังเช่นนักคิดและนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 17 คน กับอีก 2 คู่ดูโอต่อไปนี้ที่ติดโผ "Scientists and Thinkers" ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี 2551
11 ผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการแพทย์และสุขภาพ
แม้จะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล แต่ เจ เครก เวนเทอร์ (J. Craig Venter) วัย 61 ปี ก็มักจะมีผลงานสะท้านวงการวิทยาศาสตร์ออกมาให้ได้เห็นกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome Project) เมื่อหลายปีก่อน และล่าสุดกับผลงานสุดฮือฮาที่เขาสามารถสังเคราะห์สิ่งมีชีวิตได้ในห้องปฏิบัติการเป็นครั้งแรกของโลก แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เวนเทอร์ได้รับยกย่องจากไทม์ให้เป็นหนึ่งใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
แม้แต่โรบิน คุก (Robin Cook) แพทย์ชาวอเมริกันและนักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงานเรื่องโคมา (Coma) ยังยกย่องว่า แนวความคิดของเวนเทอร์นั้นสุดแสนจะบรรเจิดและสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ทีเดียว และตัวเขาก็ยังเป็นนวัตกรที่เปลี่ยนความคิดของเขาให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง
คุกยังกล่าวถึงผลงานชิ้นโบแดงเรื่องล่าสุดของเวนเทอร์ว่า เป็นการวางรากฐานการประดิษฐ์สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ที่เราสามารถออกแบบได้ด้วยตัวเองแฉกเช่นดีไซเนอร์ และแม้สิ่งมีชีวิตที่เวนเทอร์สร้างขึ้นในวันนี้ยังเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เซลล์เดียว แต่เรื่องนี้จะต้องถูกพัฒนาให้เป็นองค์ความรู้ขั้นสูงได้ในอีกไม่ช้าอย่างแน่นอน
"ผมคิดว่าเวนเทอร์น่าจะได้รางวัลตอบแทนจากการที่เขามีความคิดที่หาญกล้า สร้างสรรค์ มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ รวมไปถึงผู้ร่วมงานทุกคนของเขาด้วย เวนเทอร์ควรจะได้รับการยกย่องเช่นนี้ไปอีกยาวนาน" คุก กล่าว
ส่วนชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ญี่ปุ่น และเจมส์ ธอมสัน (James Thomson) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) สหรัฐฯ ก็จับมือกันขึ้นแท่นนักคิดนักวิทย์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิจากความสำเร็จในการแปรเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้มีคุณสมบัติเหมือนกับเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากตัวอ่อน (induced pluripotent stem cell: iPS cell) ได้ไม่มีผิดเพี้ยน และแม้ว่าจะยังอยู่แค่ในระดับหนูทดลองเท่านั้น แต่ก็ได้เปิดเส้นทางใหม่ให้กับวงการแพทย์ได้อย่างสวยหรู
แม้แต่ ศ.เอียน วิลมุต (Prof. Ian Wilmut) ผู้ให้กำเนิดแกะดอลลีจากการโคลนนิงยังยกย่องความสำเร็จของทั้ง 2 คน และบอกด้วยว่า สักวันหนึ่งสิ่งที่พวกเขาค้นคว้าวิจัยมานั้นจะได้เข้าไปซ่อมแซมหรืออยู่แทนที่อวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วยที่เสียหายหรือหมดอายุการใช้งานได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และที่สำคัญยังจะช่วยขจัดปัญหาในเรื่องของจริยธรรมกับการทำลายชีวิตของตัวอ่อนเพื่อการวิจัยและรักษา
ถัดมาอีกราย ถึงแม้ว่าจะเป็นเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ (Microsoft) ในโลกไซเบอร์ที่ก่อตั้งร่วมกับบิล เกตต์ (Bill Gates) แต่พอล อัลเลน (Paul Allen) ก็มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการแพทย์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักวิทย์คนอื่นๆ เพราะเขานำทีมนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์สมองอัลเลน (Allen Institute for Brain Science) สร้างแผนที่สมองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2549 และเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างละเอียด เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์หรือใครก็ตามที่สนใจเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้อย่างละเอียดลึกซึ้งลงไปในแต่ละเซลล์จนถึงระดับยีนโดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสักแดงเดียว และขณะนี้ทีมของอัลเลนก็กำลังเดินหน้าสร้างแผนที่การแสดงออกของยีนในมนุษย์ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของนักวิทยาศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมี ดร.นิโคลาส สคิฟฟ์ (Dr.Nicholas Schiff) จากวิทยาลัยแพทย์วีล คอร์เนล (Weill Cornell Medical College) ในนิวยอร์กซิตี สหรัฐฯ แพทย์วัย 42 ปี ผู้ปลุกสมองส่วนที่เสียหายแล้วให้กลับมามีชีวิตและสั่งการได้อีกครั้งด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปในสมอง (deep brain stimulation: DBS) อย่างจำเพาะเจาะจง เป็นอีกหนึ่งวิทยาการที่ช่วยรักษาผู้ป่วยสมองพิการได้
ส่วนจิลล์ โบลต์ เทย์เลอร์ (Jill Bolte Taylor) ผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาคของสมองวัย 48 ปี แห่งวิทยาลัยแพทย์ ม.อินเดียน่า (Indiana University School of Medicine) ที่พบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคเลือดออกในสมองเมื่อปี 2539 ซึ่งเธอก็ไม่ยอมแพ้ต่อโรคร้าย และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยความอดทนบวกกับความรู้เดิมที่มีอยู่ศึกษาค้นคว้าและรักษาตัวเองจนหายป่วยในปี 2549 พร้อมกับเขียนหนังสือเรื่อง อะ สโทรค ออฟ อินไซต์ (A Stroke of Insight) จากประสบการณ์ตรงของเธอเอง
แลร์รี บริลเลียนท์ (Larry Brilliant) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาวัย 64 ปี บุคคลสำคัญที่เคยร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการกวาดล้างโรคไข้ทรพิษให้หมดไป และยังร่วมกับองค์การสหประชาชาติต่อสู้เพื่อประเทศกำลังพัฒนา และด้วยความเป็นผู้ในบุญและเสียสละทำให้เขาได้รับเกียรติจากกูเกิล (Google) ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกูเกิลด็อตโออาร์จี (Google.org) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของกูเกิลที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น พัฒนาพลังงานสะอาดให้มีราคาถูก ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กในประเทศกำลังพัฒนา ดำเนินการด้านรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
"จิตวิญญาณแห่งความมีมนุษยธรรมและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันของบริลเลียนท์ประกอบกับความรู้ลึกซึ้งในวิทยาศาสตร์ทำให้เขากลายเป็นนักลงทุนทางด้านสังคมระดับแถวหน้าเลยทีเดียว" ความเห็นของจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
นักวิทย์นักคิดด้านการแพทย์และสุขภาพยังมีแนนซี บริงเกอร์ (Nancy Brinker) สตรีชาวอเมริกันวัย 61 ปี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิซูซาน จี โคเมน ฟอร์ เดอะ เคียว (Susan G. Komen for the Cure) ที่ตั้งชื่อตามพี่สาว เพื่ออุทิศตัวเองช่วยเหลือสตรีทั่วโลกที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมหลังจากที่สูญเสียพี่สาวเพียงคนเดียวไปด้วยโรคดังกล่าวเมื่อปี 2523
นอกจากนี้ยังมี ดร.ปีเตอร์ โพรโนโวสต์ (Dr.Peter Pronovost) จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอพกินส์ (Johns Hopkins University) เจ้าของแนวคิดที่ไม่ซับซ้อนแต่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้นับพันคนจากผลงานวิจัยการตรวจสอบรายการสิ่งของในโรงพยาบาล (checklist) เป็นประจำเพื่อลดโอกาสความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น,
ดร.เมห์เมท ออซ (Dr.Mehmet Oz) ศัลยแพทย์โรคหัวใจเชื้อสายตุรกี วัย 47 ปี จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) เจ้าของงานเขียนด้านสุขภาพที่ติดอันดับหนังสือขายดีในสหรัฐฯ และกำลังจะมีรายการโทรทัศน์ของตัวเองในเร็วๆ นี้ และสุดท้ายคือ แฮร์โรลด์ แมคกี (Harrold McGee) นักวิทยาศาสตร์วัย 56 ปี เจ้าของหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่แฝงอยู่ในอาหารการกิน (On Food and Cooking: The Science and Lore of the Kitchen)
5 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งโลกไร้พรมแดน
ต่อกันด้วยผู้ทรงอิทธิพลของโลกในด้านเทคโนโลยีกันบ้าง เริ่มที่หนุ่มน้อยที่มีความคิดไม่ธรรมดา มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ "เฟซบุค" (Facebook) ด้วยวัยเพียง 20 ปี ขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และกลายเป็นเศรษฐีติดอันดับโลกของนิตยสารฟอร์บส์ที่มีอายุน้อยที่สุดเพียง 23 ปี ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในปี 2547 ระหว่างนั่งทำงานอยู่ที่หอพักในมหาวิทยาลัย ซักเกอร์เบิร์กก็เกิดความคิดที่จะสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับอัพเดตรูปภาพ และติดต่อ พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเดียวกัน และเขาก็ทำสำเร็จพร้อมกับเปิดตัวเว็บไซต์เฟซบุคไม่นานหลังจากนั้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาฮาร์วาร์ดอย่างท่วมทน เพียงแค่ 2 สัปดาห์แรกหลังจากเปิดตัวก็มีเพื่อนนักศึกษาเข้าไปใช้บริการมากถึง 2 ใน 3 และความนิยมก็แพร่ออกไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ จนในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก
ไม่เพียงแค่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารถึงมิตรสหายผ่านโลกไซเบอร์เท่านั้น ซักเกอร์เบิร์กยังทำให้เฟซบุคเป็นแพลตฟอร์ม (platform) ที่รองรับแอพพลิเคชัน (application) ต่างๆ ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมถึงผลักดันให้เป็นตลาดออนไลน์บริษัทหรือผู้สนใจเข้ามาทำการค้าผ่านเฟซบุคได้ นับว่าเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองทีเดียว
แมรี ลู เจพเซน (Mary Lou Jepsen) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จากวิศวกรผู้มากประสบการณ์ของเอ็มไอทีมีเดียแล็บ (MIT Media Lab) สู่หัวหน้าทีมพัฒนาแล็บท็อปโลว์คอสต์ (แต่ไม่โลโซ) ในราคาเพียงแค่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเด็กด้อยโอกาสทั่วโลก ภายใต้โครงการโอแอลพีซี (One Laptop Per Child: OLPC) ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2548 ซึ่งก็ทำสำเร็จได้ใน 2 ปีถัดมา
แต่หลังจากนั้น เจพเซนก็แยกตัวออกมาก่อตั้งบริษัทใหม่ของตัวเอง (Pixel Qi) ด้วยหวังจะพัฒนาต่อยอดและผลิตแล็บท็อปออกจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่า 100 เหรียญ แต่ประสิทธิภาพเยี่ยม สามารถใช้งานได้แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัดของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาสที่มีอยู่ครึ่งโลก และนี่เองที่เพื่อนๆ ของเธอตั้งสมญาให้ว่า "ไลต์เลดี" (light lady)
ส่วนเจฟ ฮาน (Jeff Han) หนุ่มเชื้อชาติเกาหลีวัย 32 ปี ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรง แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีมัลติทัชสกรีน (multi-touch screens) ที่ทำให้หน้าจอของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีระบบเซ็นเซอร์ที่สามารถรับจุดสัมผัสจากนิ้วมือได้มากกว่า 1 จุดในเวลาเดียวกัน ซึ่งฮานถึงกับบอกว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้ผู้ที่ไม่ชำนาญการใช้งานได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่เชี่ยวชาญแล้วจะให้ความรู้สึกราวกับเป็นศิลปินที่กำลังบรรเลงเพลงด้วยเปียโน
ข้ามไปที่เทคโนโลยีอวกาศกันบ้าง เพราะไมเคิล กริฟฟิน (Michael Griffin) ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ก็ติดโผเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลกกับเขาด้วย หนุ่มใหญ่วัย 58 ปี ผู้นี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเป็นผู้บริหารของนาซาให้ได้นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา และเขาก็ทำสำเร็จดังหวัง ส่วนจุดมุ่งหมายต่อไปของเขานั้นคือส่งนักบินอวกาศกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2563 และถ้าจะให้ดียิ่งก็ต้องไปถึงดาวอังคารให้ได้ด้วย
ด้านเทคโนโลยีการศึกษาก็มีผู้ทรงอิทธิพลอย่างเวนดี คอปป์ (Wendy Kopp) วัย 40 ปี บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ที่หวังจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและยกระดับคุณภาพนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดโอกาศของสหรัฐ จึงก่อตั้ง ทีช ฟอร์ อเมริกา (Teach for America) องค์กรด้านการศึกษาระดับชาติที่มุ่งปั้นครูรุ่นใหม่ไฟแรงที่เพิ่งจบจากรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อให้กระจายไปสอนยังโรงเรียนต่างๆ ในชนบททั่วสหรัฐฯ ซึ่งวันนี้เธอก็พิสูจน์ให้เป็นแล้วว่า แม้แต่โรงเรียนชั้นนำในสหรัฐกว่า 75% ยังต้องการจ้างงานครูจากทีช ฟอร์ อเมริกา
5 ผู้ทรงอิทธิพลที่กล้าเผชิญหน้ากับอิทธิพลของภาวะโลกร้อน
กระแสโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมก็ยังแรงไม่ตก ทำให้ปีนี้มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าป้ายเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้วยถึง 4 อันดับ ที่ฮอตสุดนั้นเห็นจะไม่มีใครเกิน ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) นายกเทศมนตรีคนเก่งแห่งเมืองนิวยอร์กซิตี 2 สมัยซ้อน วัย 66 ปีผู้นี้ ที่ยังเป็นทั้งนักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ และนักสิ่งแวดล้อมตัวยง แถมยังได้รับคะแนนนิยมจากชาวเมืองอย่างล้นหลาม
บลูมเบิร์กมีอุดมการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแรงกล้า เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประชากร 8 ล้านคน ในนิวยอร์กซิตีได้อาศัยอยู่อย่างมีความสุขภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร มีน้ำดื่มสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ร่มรื่นด้วยเงาไม้ สะดวกสบายด้วยสาธารณูปโภคครบครัน ที่สำคัญเขายังให้คำมั่นว่าจะเนรมิตให้นิวยอร์กกลายเป็นเมืองต้นแบบแห่งการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้น ขจัดก๊าซเรือนกระจกออกไปให้ได้ 30% ในปี 2573 และเป็นมหานครที่มีอากาศสะอาดที่สุด
"บลูมเบิร์กกล่าวไว้ว่าอนาคตที่สดใสของนิวยอร์กจะไม่ได้มาจากการจ้างงานหรือบ้านสิ่งปลูกสร้างเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัยมาช่วยเติมเต็มชีวิตให้กับชาวเมือง แม้ว่าสิ่งที่บลูมเบิร์กกำลังกระทำอยู่นี้จะสวนทางกับรัฐบาลที่ปฏิเสธการเป็นผู้นำต่อต้านภาวะโลกร้อน แต่เขาก็พยายามแสดงให้เห็นว่าในเมืองเดียวสามารถรุ่งเรืองได้ทั้งเศรษฐกิจและทรัพยากร และถ้าแนวคิดนี้ทำได้จริงที่นี่ ดังนั้นไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ทำได้เหมือนกัน" คำกล่าวของ โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ (Robert F. Kennedy Jr.) หลานชายคนดังของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนักกฏหมายอาวุโสของคณะกรรมการการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council: NRDC)
เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของนักปกครองเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรมาขวางกั้นการทำงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันของ 2 บุรุษที่อยู่คนละฟากฝั่งความคิดระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้นำองค์กรทางศาสนา ซึ่งเขาทั้ง 2 ก็ครองตำแหน่งผู้ทรงอิทธิพลของโลกร่วมกันทั้งอีริค ชีเวียน (Eric Chivian) คุณหมอวัย 65 ปี จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) และริชาร์ด ซีซิก (Richard Cizik) วัย 56 ปี หัวหน้านักบวชในสายหนึ่งของนิกายโปแตสแตนต์ (Evangelical Presbyterian)
ชีเวียนเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2528 ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.ศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลก (Center for Health and Global Environment) ส่วนซิซิกก็เป็นหัวหน้าสำนักงานการปกครอง สมาพันธ์อีแวนเจลิคแห่งชาติ (National Association of Evangelicals: NAE) ทั้งสองร่วมกันแสดงปาฐกถา เทศนา รวมทั้งปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแก่กลุ่มบุคคลต่างๆ ด้วยความมุ่งหวังให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลงานที่พระผู้เป็นเจ้ารังสรรค์ขึ้นมา
ส่วนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีล่าสุด 2550 อย่างไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) หากจะไม่ติดโผผู้ทรงอิทธิพลของโลกก็กระไรอยู่ ซึ่งก็ได้หญิงเหล็กวัย 52 ปี ซูซาน โซโลมอน (Susan Solomon) เข้ามาเป็นตัวแทนขององค์กรอย่างสง่างาม เธอเป็นหนึ่งในหัวหน้าคณะทำงานกลุ่มที่ 1 ของไอพีซีซี และเป็นนักเคมีบรรยากาศขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) และเธอคนนี้นี่เองที่เคยพิสูจน์ว่าสารซีเอฟซี (CFCs) เป็นตัวทำลายชั้นโอโซน
"โซโลมอนเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำรายงานที่ทำให้โลกรู้ว่าภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดหายนะรุนแรงต่อโลกได้มากแค่ไหน และเมื่อไอพีซีซีได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับอัล กอร์ (Al Gore) ก็ต้องยกความดีความชอบให้เธอด้วย หากพิจารณาผลสำเร็จที่แล้วมาและที่กำลังจะมาถึงของเธอ โซโลมอนนับว่าเป็นบุคคลที่ไม่อาจมองข้ามได้จริงๆ" โซโลมอนในมุมมองของราเชนดรา ปาจาอุรี (Rajendra Pachauri) ประธานไอพีซีซี
ปิดท้ายนักวิทย์นักคิดผู้ทรงอิทธิพลของโลกกับผู้ชายคนนี้ที่ชื่อว่าไอแซค เบอร์ซิน (Isaac Berzin) วิศวกรเคมีวัย 40 ปี ที่มีความรู้เกี่ยวกับสาหร่ายเพียงน้อยนิด แต่พบว่ามีความลับยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ว่าสาหร่ายเล็กๆ เหล่านั้นสามารถดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศในแปรเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เบอร์ซินจึงได้ก่อตั้งบริษัทกรีนฟูเอลเทคโนโลจีส์ (GreenFuel Technologies) ขึ้นมาในปี 2544 ในเมืองแคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเสตต์ เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากสาหร่ายและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ก็มีการนำไปใช้กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าเรดฮอว์ก (Redhawk) ในมลรัฐแอริโซนา
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักวิทย์นักคิดที่เป็นตัวอย่างที่น่านับถือของผู้คนในสังคมจนได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลก แต่เพราะเป็นสื่อของสหรัฐฯ หรืออย่างไรมิทราบ จึงมีแต่นักวิทย์นักคิดชาวอเมริกันเสียส่วนใหญ่ที่ติดโผเข้ามา หรือหากเป็นชาวต่างชาติก็ต้องมีผลงานโดดเด่นสะดุดตาและอยู่ในสถาบันของสหรัฐฯ ทั้งที่จริงแล้วยังมีนักวิทย์นักคิดที่ไม่ได้เข้าสังกัดลุงแซมจำนวนไม่น้อยที่มากความสามารถและอาจมีอิทธิพลต่อชาวโลกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ปีหน้าฟ้าใหม่ก็มาคอยลุ้นกันต่อไปว่าจะมีนักวิทย์นักคิดชาติไหนหรือหน้าใหม่ๆ เข้าป้ายติดอันดับผู้ทรงอิทธิพลของโลกอีกบ้าง ส่วนใครที่ยังได้รับข้อมูลไม่จุใจก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมหรือทำความรู้จักกับผู้ทรงอิทธิพลของโลกในด้านอื่นๆ กันได้ที่ http://www.time.com/time/time100/ |
|
|
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤษภาคม 2551 12:53 น.
คุณครูใช้พลังเสียงแต่ละวันมากไหม? ลองดู (ไมค์wireless,รองรับFM) Rolton K400FM ไมค์ลอย ไมค์ไร้สาย ไมค์ช่วยสอน ลำโพงพกพา ลำโพง ไมค์ลอย K400 FM ในราคา ฿494 - ฿592 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/50IAUAsJw0?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 3,940 ครั้ง เปิดอ่าน 17,352 ครั้ง เปิดอ่าน 19,350 ครั้ง เปิดอ่าน 15,693 ครั้ง เปิดอ่าน 18,969 ครั้ง เปิดอ่าน 93,318 ครั้ง เปิดอ่าน 15,274 ครั้ง เปิดอ่าน 16,035 ครั้ง เปิดอ่าน 16,836 ครั้ง เปิดอ่าน 32,668 ครั้ง เปิดอ่าน 86,889 ครั้ง เปิดอ่าน 68,408 ครั้ง เปิดอ่าน 65,681 ครั้ง เปิดอ่าน 21,448 ครั้ง เปิดอ่าน 10,511 ครั้ง เปิดอ่าน 33,280 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 16,380 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 18,853 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 17,790 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 2,625 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 13,507 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 4,364 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 64,193 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 14,494 ครั้ง |
เปิดอ่าน 20,588 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,862 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,184 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,961 ครั้ง |
|
|