ในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา มนุษย์มีวิวัฒนาการรวดเร็วขึ้นมาก โดยมนุษย์ปัจจุบันมีพันธุกรรมแตกต่างไปจากมนุษย์เมื่อ 5,000 ปีก่อน และยังมีความแตกต่างมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์เมื่อ 5,000 ปีที่แล้วกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลที่หายไปจากโลก เมื่อ 30,000 ปีก่อน
นายจอห์น ฮอว์ก นักมานุษยวิทยา จากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ วิสคอนซิน อธิบายว่า พันธุกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นมาจากลักษณะของมนุษย์ที่มีความแตกต่างไปจากสมัยก่อนมาก เช่น มนุษย์มีความทนทานต่อโรคมากขึ้น เพราะมีการพัฒนาด้านความเจริญในด้านวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ อย่างชาวแอฟริกันมีพันธุกรรมที่ทนทานต่อเชื้อมาลาเรียมากขึ้น
นอกจากนี้ อาหารการกินที่แตกต่างกันออกไปยังส่งผลด้วย เหมือนกับชาวยุโรปที่มีพันธุกรรมในการย่อยนมสดได้ดีกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ และยังพบว่า ชาวเอเชียมีพันธุกรรมที่ทำให้ขี้หูแห้งกว่าคนชาติพันธุ์อื่น
นายเฮนรี่ ฮาร์เพนดิ้ง นักมานุษยวิทยาจากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ยูทาห์ มาร่วมอธิบายด้วยว่า พันธุกรรมที่แตกต่างนี้ เกิดขึ้นจากมนุษย์ทวีจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็ว หมื่นปีก่อนมีมนุษย์เพียงไม่กี่ล้านคน แต่เดี๋ยวนี้มีถึง 6,500 ล้านคน มนุษย์ยังย้ายถิ่นไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ที่เริ่มมีการพัฒนาด้านการเกษตร
ในการศึกษาวิวัฒนาการมนุษย์ นักมานุษยวิทยาได้นำข้อมูลการเปลี่ยนพันธุกรรมของมนุษย์ในช่วง 80,000 ปีที่แล้วมาวิเคราะห์ พร้อมกับเปรียบเทียบดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบัน 270 คนจากทั่วมุมโลก และพบว่า ในช่วง 5,000 ปีที่ผ่านมา มนุษย์มีวิวัฒนาการรวดเร็วกว่าช่วงก่อนหน้าถึง 100 เท่า และพันธุกรรมมนุษย์ปัจจุบันราว 7% มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก อย่างไรก็ตาม แม้พันธุกรรมจะเปลี่ยนแปลง แต่ดีเอ็นเอมนุษย์ถึง 99% ยังพบว่ามีลักษณะเหมือนเดิม
หลักฐานพันธุกรรมยังพบว่า มนุษย์ในแต่ละดินแดนยังมีความแตกต่างกันมากขึ้น เนื่องจากพันธุกรรมที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในหมู่ชาวเอเชีย แอฟริกันและยุโรป เนื่องจากตั้งแต่ที่มนุษย์ออกมาจากทวีปแอฟริกาเมื่อ 40,000 ปีที่แล้วนั้น ไม่ได้มีการข้ามพันธุกรรมระหว่างผู้คนแต่ละดินแดนมากนัก
ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสดรายวัน