Advertisement
ตำนานพระโกศ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพและ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ
กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงช่วยกันสืบสวนเรียบเรียง
พระโกศที่ทรงพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย กับโกศที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ รวมเบ็ดเสร็จมี ๑๔ อย่าง เรียงโดยลำดับยศเป็นดังนี้
๑. พระโกศทองใหญ่
๒. พระโกศทองรองทรง นับเสมอพระโกศทองใหญ่
๓. พระโกศทองเล็ก
๔. พระโกศทองน้อย
๕. พระโกศกุดั่นใหญ่
๖. พระโกศกุดั่นน้อย
๗. พระโกศมณฑปใหญ่
๘. พระโกศมณฑปน้อย
๙. พระโกศไม้สิบสอง
๑๐. พระโกศพระองค์เจ้า เดิมเรียกว่า โกศลังกา
๑๑. โกศราชนิกุล
๑๒. โกศเกราะ
๑๓. โกศแปดเหลี่ยม
๑๔. โกศโถ
ตำนานพระโกศทั้งปวงนี้ มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารบ้าง บอกเล่ากับสืบมาบ้าง ต้องสันนิษฐานบ้าง มีตำนานดังแสดงต่อไปนี้ เรียงลำดับตามสมัยที่สร้าง
ที่ ๑ โกศแปดเหลี่ยม มีอยู่ ๔ โกศด้วยกัน แต่โกศหนึ่งนั้นเก่ามาก ไม่ทราบตำนานว่าสร้างครั้งไร สังเกตทำนองลวดลายเห็นเป็นอย่างเดียวกับช่างครั้งรัชกาลที่ ๑ แต่ฝีมือทำนั้นหยาบมาก ถ้าจะกะเอาว่าสร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรีก็เห็นว่าจะเป็นการสมควร ด้วยเหตุ ข้อ ๑ ยุคนั้นเวลาว่างการทัพศึกมีน้อย งานพระเมรูต้องรีบทำในเวลาว่างอันเป็นเวลาสั้น จึงต้องเร่งทำเอาแต่พอให้ใช้ได้ทันงาน จะให้งดงามถึงที่ไม่ได้ ข้อ ๒ โกศแปดเหลี่ยมนี้ เป็นอย่างเดียวกันกับพระโกศกุดั่น อันมีตำนานปรากฏว่าสร้างครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑ โกศแปดเหลี่ยมต้องมีอยู่ก่อนแล้ว พระโกศกุดั่นทำเอาอย่างจึงจะเป็นได้ ซึ่งโกศแปดเหลี่ยมจะทำทีหลัง เอาอย่างพระโกศกุดั่นนั้นเป็นไปไม่ได้ ใช่ประกอบศพที่ต่ำศักดิ์เป็นกรรโชก เข้าใจว่าโกศแปดเหลี่ยมนี้เก่าแก่กว่าโกศชนิดอื่นหมด ด้วยทำยอดเป็ยหลังคา คงเป็นแบบแรกที่แปลงมาจามเหมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ยังทีอีก ๓ โกศนั้น โกศหนึ่งก็ไม่ทราบแน่ว่าสร้างเมื่อไร แต่สังเกตฝีมือเห็นว่า คงทำราวรัชกาลที่ ๓ หรือ ที่ ๔ อีกโกศหนึ่งกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ใช้ประกอบศพหม่อมแม้น ในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นคราวแรก อีกโกศหนึ่ง กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ขอพระบรมราชานุญาตทำถวายในรัชกาลนี้ ใช้ประกอบศพเจ้าจอมมารดาสังวาลเป็นประเดิม
ที่ ๒ โกศโถ มีอยู่ ๒ โกศ โกศหนึ่งนั้นเก่ามากลวดลายและฝีมือเหมือนกับโกศแปดเหลี่ยมใบเก่า เห็นได้ว่าทำรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่ปรากฏตำนานว่าสร้างเมื่อไร ได้ยินแต่กล่าวกันว่าเป็นโกศเก่าแก่ ใช้มาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว คำกล่าวเช่นนี้ ประกอบกับฝีมือที่ทำรุ่นเดียวกับโกศแปดเหลี่ยมชักให้น่าเชื่อขึ้นอีก ว่าโกศแปดเหลี่ยมและโกศโถทั้งสองอย่างนี้ สร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรี ทำไมจึงเรียกโกศโถก็เข้าใจไม่ได้ รูปก็ไม่เหมือนโถ ทรงอย่างโกศแปดเหลี่ยมนั้นเองแต่ถากแปลงเป็นกลม แก้ยอดเป็นทรงมงกุฎเหมือนชฎาละคร คงทำที่หลังโกศแปดเหลี่ยม และเห็นจะใช้เป็นยศสูงกว่าโกศแปดเหลี่ยม ด้วยยอดทรงมงกุฎพาให้เข้าใจเช่นนั้น แต่เดี๋ยวนี้ถือว่าต่ำกว่าโกศแปดเหลี่ยม ใช้สำหรับพระราชทานพระราชาคณะและข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ได้รับพระราชทานโกศเป็นชั้นต้น อีกโกศหนึ่งเป็นของทำเติมขึ้นใหม่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการเป็นผู้ทำ โดยรับสั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อในรัชกาลที่ ๕
ที่ ๓ พระโกศกุดั่น ๒ พระโกศ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๑๖๑ (พ.ศ. ๒๓๔๒) ทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และเจ้าฟ้า กรมพระศรีสุดารักษ์ เมื่อทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางหุ้มทองคำทั้งสองโกศ ตามคำที่ว่ากันว่าพระโกศกุดั่นนั้น ชำรุดหายไปเสียองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงค้นได้มาแต่ตัวพระโกศ จึงทรงทำฝาและฐานใหม่ประกอบเข้า พระโกศองค์นี้เรียกว่า "กุดั่นใหญ่" ฝีมือทำซึ่งปรากฏอยู่ที่กาบพระโกศนั้นงามอย่างยิ่ง สมกับที่มีตำนานว่าเป็นของทำในรัชกาลที่ ๑ อีกองค์หนึ่งเรียกว่า "กุดั่นน้อย" องค์นี้ที่ว่าไม่ชำรุดสูญหาย แต่ดูทำนองลายในกาบ ไม่ค่อยเทียมทันเสมอกันกับพระโกศกุดั่นใหญ่ อันมีตำนานว่าทำพร้อมกัน อาจจะเป็นตัวแทนเสียแล้วก็ได้ พระโกศทั้งสององค์นี้เกียรติยศใช้ต่างกัน ทุกวันนี้ถือว่าพระโกศกุดั่นใหญ่เกียรติยศสูงกว่าพระโกศกุดั่นน้อย และพระโกศกุดั่นน้อยนี้ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ได้ทรงสร้างเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกองค์หนึ่ง
ที่ ๔ พระโกศไม่สิบสอง มีตำนานว่าสร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) ทรงพระศพกรมพระราชขวังบวรมหาสุรสีหนาท ครั้งนั้นหุ้มทองคำ ในบัดนี้พระโกศไม้สิบสองมี ๒ องค์ ว่าเป็นของเก่าองค์หนึ่ง เป็นของสร้างเติมขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง แต่ไม่ได้ความว่าสร้างเติมขึ้นเมื่อไร สังเกตดูรูปทรงลวดลายทั้งสององค์ ไม่เห็นสมเป็นฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ สักองค์เดียว
ที่ ๕ พระโกศทองใหญ่ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ (พ.ศ. ๒๓๕๑) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รื้อทองที่หุ้มกระโกศกุดั่นมาทำพระโกศทองใหญ่ขึ้นไว้ สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำพระโกศองค์นี้สำเร็จแล้ว โปรดฯให้เข้าไปตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระอาลัยมาก และใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่ออกพระเมรุตั้งพระเบญจา จึงโปรดฯให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก จึงเลยเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมา ที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นเป็นพิเศษนอกจากพระบรมศพ ได้มีบัญชีจดไว้ในห้องพระอาลักษณ์ลงมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ กรมพระสมมตอมรพันธุ์พบบัญชีนี้ ได้ทรงจดต่อมาจนรัชกาลปัจจุบัน มีอย่างนี้
พระโกศทองใหญ่ ทรงพระบรม และพระศพ
(ตามที่จดไว้เดิมในห้องพระอาลักษณ์)
ในรัชกาลที่ ๑
๑. กรมหลวงศรีสุนทรเทพ
ในรัชกาลที่ ๒
๒. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
๓. กรมพระราชวัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๔. สมเด็จพระสังฆราชวัดราชสิทธาราม
๕. กรมหลวงพิทักษ์มนตรี
๖. กรมหลวงเทพวดี
ในรัชกาลที่ ๓
๗. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๘. กรมหมื่นสุรินทรรักษ์
๙. กรมขุนอิศรานุรักษ์
๑๐. กรมพระราชวัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑๑. พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
๑๒. สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
๑๓. สมเด็จพระศรีสุลาไลย
๑๔. กรมหลวงเทพพลภักดิ์
๑๕. กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
๑๖. กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
ในรัชกาลที่ ๔
๑๗. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑๘. สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัส
๑๙. กรมสมเด็จพระปรมานุชิต
๒๐. กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร (เมื่อชัก)
๒๑. กรมสมเด็จพระเดชาดิศร
๒๒. กรมหลวงมหิศวรินทรฯ (เมื่อชัก)
๒๓. พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพอย
๒๔. กรมหมื่นวิศนุนาถนิภาธร
(จดหมายห้องพระอาลักษณ์หมดเพียงเท่านี้ ก่อนนี้กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจด)
ต่อจากบัญชีนี้ที่ทราบ
กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ทราบว่าไม่ได้เปลี่ยนลองไม่สี่เหลี่ยมทรงพระโกศมณฑปตลอดงาน
๒๕. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๖. กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ
ในรัชกาลที่ ๕
๒๗. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๘. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (เมื่อชัก)
๒๙. กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ (เมื่อชัก)
๓๐. สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน
๓๑. สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน
๓๒. พระอัครชายาเธอ พระองคืเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
๓๓. กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
๓๔. กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์
๓๕. สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชชิรุณหิศ
๓๖. กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
๓๗. สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรไทย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ
ในรัชกาลปัจจุบัน
๓๖. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓๗. กรมหลวงวรเสรฐสุดา
๔๐. สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
(จดต่อเมื่อจะลงพิมพ์)
๔๑. กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (เมื่อชัก)
๔๒. กรมพระสมมตอมรพันธุ์ (เมื่อชัก)
ที่ ๖ พระโกศพระองค์เจ้า เรียกกันแต่แรกว่าโกศลังกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้น แต่ครั้งยังทรงผนวช เป็นลองสี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดเป็นฉัตรระบายผ้าขวา เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระศพพระเจ้าลุกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อยู่(ก่อนมีพระโกศมณฑลน้อย) ต่อมาโกศนี้ สำหรับทรงพระศพพระองค์เจ้าวังหน้า และพระองค์เจ้าตั้ง มาถึงรัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงคิดทำประกอบนอกขึ้น ต่อมากรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำเติมขึ้นใหม่อีกพระโกศหนึ่ง จึงมีอยู่ในเวลานี้ ๒ พระโกศด้วยกัน
ที่ ๗ พระโกศทองน้อย โปรดฯให้กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์สร้างขึ้นตามอย่างพระโกศทองใหญ่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔) สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อผลัดพระโกศทองใหญ่ไปแต่ก่อนออกงานพระเมร เมื่อทรงพระบรมศพ หรือตั้งงานพระศพคู่กับพระโกศทองใหญ่แล้วหุ้มทองคำ ถ้าใช้งานอื่นไม่หุ้ม กรมพระสมมติอมรพันธุ์ทรงจดคราวที่ได้หุ้มทองคำใช้นั้นไว้ มีอยู่ในท้ายบัญชีพระโกศทองใหญ่ อย่างนี้
พระโกษทองน้อยหุ้มทองชั่วคราว
๑. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓. สมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์
พระโกศทองน้อยนี้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (มรว.ปุ้ม มาลากุล ณ อยุธยา) สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกองค์หนึ่ง
ที่ ๘ พระโกศมณฑปน้อย โปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ สำหรับทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ ถ้าทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระโกศนี้หุ้มทองคำเฉพาะงาน
ที่ ๙ พระโกศมณฑปใหญ่ โปรดฯให้กรมขุนราชสีหวิกรมคิดอย่าง สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) เอาแบบมาแต่พระโกศมณฑปน้อย ทรงพระศพกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ก่อน ด้วยกรมพระพิทักษ์เทเวศร์พระรูปใหญ่โต พระศพลงลองพระโกศสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยมขึ้นโดยเฉพาะ จึงโปรดฯให้สร้างพระโกศมณฑปนี้สำหรับประกอบลองสี่เหลี่ยม พระโกษมณฑปใหญ่นี้ต่อมาสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่
ที่ ๑๐ โกศเกราะ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) สำหรับศพเจ้าพระยานิกรบดินทร ด้วยท่านอ้วน ศพลงลองสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยม จึงโปรดฯให้ทำโกศเกราะขึ้นประกอบ ที่เรียก "โกศเกราะ" เพราะลายสลักเป็นเกราะรัด
ที่ ๑๑ โกศราชนิกุล โปรดฯให้กรมขุนราชสีหวิกรมสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ. ๒๔๐๖) พระราชทานให้ประกอบศพพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชุ่ม บุนนาค)ก่อนผู้อื่น
ที่ ๑๒ พระโกศทองเล็ก โปรดฯให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นทีแรก แล้วได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมา มีบัญชีกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจดไว้ ในท้ายบัญชีพระโกศทองใหญ่อย่างนี้
พระโกศทองเล็ก
๑. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
๒. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง
๓. เจ้าฟ้านิภาจรจำรัสศรี
๔. กรมขุนสุพรรณภาควดี
๕. พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช
ที่ ๑๓ พระโกศทองรองทรง โปรดฯให้กรมหมื่นปราปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีชวด รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) พระโกศองค์นี้นับเหมือนพระโกศองค์ใหญ่ สำหรับใช้แทนที่พระโกศทองน้อย เวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ เพื่อจะไม่ให้ต้องหุ้มเข้าและรื้อออกบ่อยๆ มีบัญชีคราวที่ได้ใช้ทรงพระบรมศพและพระศพ กรมสมมตอมรพันธุ์ ทรงจดไว้ท้ายบัญชีพระโกศทองใหญ่อย่างนี้
พระโกศทองรองทรง
ในรัชกาลที่ ๕
๑. กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
๒. สมเด็ขเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงษ์
๓. สมเด็จเจ้าฟ้า ศิราภรณ์โสภณ
ในรัชกาลปัจจุบัน
๔. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาแต่งพระโกศทองใหญ่
๕. พระอัครชายาเธอ พระองคืเจ้าอุบลรัตนนารีนาค
๖. สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี
ยังมีเครื่องประดับสำหรับพระโกศอีก เช่นพระโกศทองใหญ่มีดอกไม้เพชรเป็นพุ่มเข้าบิณฑ์ ดอกไม้ไหว เฟื่อง ดอกไม้เอว ของเหล่านี้ประดับครบทุกอย่างแต่พระบรมศพ ถ้าพระราชทานให้ทรงพระศพเจ้านาย โดยปกติไม่มีเครื่องประดับ ถ้าพระราชทานเครื่องประดับด้วยมีเป็นชั้นๆกัน ชั้นต้นประดับพุ่มเข้าบิณฑ์กับเฟื่อง ชั้นสูงรองแต่พระบรมศพประดับดอกไม้เอวด้วยอีกอย่างหนึ่ง พระโกศเจ้านายมีเครื่องประดับคือ ยอดพุม่เข้าบิณฑ์และเฟื่อง ต่อที่ทรงบรรดาศักดิ์สูง จึงใช้เครื่องประดับ ถ้าพระราชทานให้ทรงพระศพเจ้านายชั้นต่ำลงมาหรือขุนนาง ไม่ใช้เครื่องประดับ
..........................................................................
วินิจฉัยเรื่องตำนานพระโกศ
เมื่อในรัชกาลที่ ๖ พระองค์ท่านกับหม่อมฉันได้ช่วยกันแต่งหนังสือเรื่องตำนานพระโกศให้หอพระสมุดพิมพ์เล่ม ๑ ครั้นต่อมาเรายังได้พิจารณาพบเค้าเงื่อน และได้ความรู้เนื่องในเรื่อตำนานพระโกศเพิ่มเติมอีกหลายข้อ แต่ยังไม่ได้เขียนลงไว้เป็นลานลักษณ์อักษร คือ
ข้อ ๑ พิจารณาดูโกศต่างๆ ซึ่งสร้างชั้นเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดูเหมือนจะมีแบบกำหนดศักดิ์โกศเป็น ๓ ชั้นโดยลำดับกัน พึงสังเกตได้ด้วยรูปทรงฝาโกศ
ชั้นที่ ๑ โกศฝาเป็นทรงมงกุฏ เช่นพระโกศทองใหญ่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้สร้างสำหรับทรงพระบรมศพของพระองค์เอง และมีโกศไม่สิบสองใบหนึ่งซึ่งทรงเป็นฝามงกุฎ (เป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลื้ ๒ หรือ ที่ ๓) แต่น่าสันนิษฐานว่าทำตามรูปพระโกศไม้สิบสอง ซึ่งในหนังสือพงศาวดารว่าสร้างทรงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑ (เมื่อก่อนสร้างพระโกศทองใหญ่) โกศฝาทรงมงกุฎสำหรับแต่ทรงพระบรมศพ กับพระศพเจ้านายซึ่งพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงสุด
ชั้นที่ ๒ โกศฝาเป็นทรงยอดปราสาท เช่นโกศกุดั่นซึ้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้สร้าง(ก่อนโกศไม้สิบสองฝาทรงมงกุฎ และพระโกศทองใหญ่) สำหรับทรงพระศพสมเด็จพระพี่นาง ๒ พระองค์ และโกศ ๘ เหลี่ยมใช้ทรงพระศพเจ้านายแต่ก่อน
ชั้นที่ ๓ โกศฝาปริก เช่นโกศไม้สิบสองอีกใบหนึ่ง(แต่ปลีเป็นยอดเมื่อภายหลัง) กับโกศโถสำหรับใส่ศพขุนนาง
หรือว่าโดยย่อ โกศต่างกันเป็น ๓ ชั้น คือ โกศสำหรับทรงพระบรมศพทำฝาเป็นมงกุฎ โกศสำหรับทรงพระศพเจ้านายทำฝาเป็นทรงยอดปราสาท และโกศสำหรับศพขุนนางทำฝาเป็นทรงปริก เป็นแบบแผนมาดังนี้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรอยุธยา ข้อนี้รู้ได้ด้วยมีโกศสร้างครั้งกรุงธนบุรีอยู่ ๒ ใบ ใบหนึ่งเป็นโกศกลมฝาทรงมงกุฎ อีกใบหนึ่งเป็นโกศแปดเหลี่ยมฝาเป็นทรงปราสาท มีเรื่องในพงศาวดารส่อให้เห็นว่าโกศฝาทรงมงกุฎนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีคงโปรดฯให้สร้างสำหรับทรงพระศพกรมพระเทพามาตย์พระราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งถวายพระเพลิงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ โกศใบที่ยอดเป็นทรงปราสาทก็คงให้สร้างสำหรับทรงพระศพเจ้านายครั้งกรุงธนบุรี ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯให้สร้างโกศตามแบบเดียวกันสืบมา เป็นแต่แก้พระโกศทองใหญ่เป็นแปดเหลี่ยม และแก้แบบโกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาท สำหรับทรงพระศพเจ้านาย ซึ่งของเดิมตัวโกศเป็นแต่จำหลักปิดทอง ให้ประดับกระจกเพิ่มขึ้น จึงเรียกว่าโกศกุดั่น เมื่อมีพระโกศกุดั่นขึ้นแล้ว โกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาทของเดิมก็ลดศักดิ์ลงมาสำหรับเจ้านายสามัญ และที่สุดเอาไปใส่ศพเจ้าพระยา และสตรีมีบรรดาศักดิ์สูงก็มี คงเริ่มพระราชทานเฉพาะแต่ศพที่เป็นพระญาติแล้วจึงเลยกลายไปเป็นตามยศ
โกศสำหรับใส่ศพขุนนาง เดิมเห็นจะมีแต่ที่เรียกว่าโกศโถอย่างเดียว มาสร้างโกศไม้สิบสองเพิ่มขึ้นเมื่อภายหลังรัชกาลที่ ๓(อันฝีมือทำโกศนั้นส่อให้เห็น) แต่โกศไม้สิบสอง ๒ ในนั้นผิดกันชอบกล น่าพิจารณาอยู่ คือ ใบหนึ่งฝาเป็นทรงปริก ส่อให้เห็นว่าสร้างสำหรับศพขุนนาง คงเป็นชั้นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีซึ่งสูงศักดิ์กว่าเจ้าพระยาจตุสดมภ์ที่ใช้โกศโถ แต่โกศไม่สิบสองอีกใบหนึ่งนั้นฝาเป็นทรงมงกุฎและตัวโกศจำหลักลายเป็นอย่างอื่นไม่เหมือนเป็ยโกศไม้สิบสองที่เป็นคู่กัน ส่อให้เห็นว่าสร้างแต่คราวและเพื่อกิจต่างกัน ลองคิดค้นว่าจะสร้างสำหรับศพบุคคลชั้นไหน เพราะโกศเจ้าก็มีโกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาทอยู่แล้ว ศพขุนนางก็มีโกศโถกับโกศไม้สิบสองฝาทรงปริกอยู่แล้ว เห็นว่าบุคคลจำพวกเดยวที่ศักดิ์ไม่เข้ากันกับโกศอย่างใดทั้งสองอย่างนั้น คือที่เป็นเจ้านองพระราชวงศ์ เช่น กรมขุนสุนทรภูเบศร (เรื่องชาวเมืองชลบุรี ผู้ได้กระทำสัตย์เป็นพระภาดากับกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ มาแต่ก่อน) ซึ่งศักดิ์เหมาะแก่ดกศชั้นนั้น (บางทีจะสร้างเมื่อศพกรมขุนสุนทรภูเบศรนั่นเอง จึงเอารูปหุ่นพระโกศกรมพระราชวังบวรฯเป็นแบบ) นอกจากกรมขุนสุนทรภูเบศร เมื่อพระศพกรมหมื่นนริทรภักดี(พระสามีของกรมหลวงนรินทรเทวี)ก็เห็นจะใช้โกศไม้สิบสองใบเดียวกัน เพราะฉะนั้นต่อมาจึงใช้โกศไม้สิยสองใบนั้นสำหรับพระศพเจ้านายต่างกรมวังหน้าเป็นยุติ (ชั้นหลังมาใช้โกศไม้สิบสองใบนั้นคละกันไป ไม่ได้แยกเป็นโกศสำหรับพระศพเจ้านายใบ ๑ สำหรับศพขุนนางใบ ๑ ตามลักษณะตัวโกศ คติเดิมจึงสูญไป)
ข้อ ๒ โกศต่างๆที่ลงบัญชีไว้ในหนังสือตำนานพระโกศนั้น สังเกตดูเป็นของสร้างต่อในรัชกาลที่ ๔และรัชกาลที่ ๕ โดยมาก มีโกศซึ่งสร้างก่อนนั้นน้อยทีเดียว และยังเป็นโกศของสงวน เช่น พระโกศทองใหญ่และโกศกุดั่นก็หลายใบ เหลือโกศสำหรับใช้สักสามสี่ใบ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ศพใส่โกศก็มีมาก แม้นในสมัยชั้นหลังเมื่อมีโกศมากขึ้นแล้ บางคราวยังต้องเปลื้องโกศศพเก่าทิ้งไว้แต่ลองใน เอาโกศไปประดับศพใหม่มีเนื่องๆ เมื่อโกศมีน้อยจะทำอย่างไรกัน อธิบายข้อนี้ไปแลเห็นธรรมเนียมเก่า ปรากฎอยู่ในสำนวนจดหมายเหตุกรมวังครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่งว่าด้วยงานพระศพ(เรียกในนั้นว่า"สมเด็จพระบรมศพ")เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๘ ใช้คำเรียกลองในซึ่งทรงพระศพว่า "พระโกศ" เรียกพระโกศที่ประกอบนอกว่า "พระลอง" พิเคราะห์ถูกต้องตามจริง (แต่เหตุใดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงเรียกกลับกันไปเสีย ข้อนี้หาทราบไม่) สำนวนในจดหมายเหตุนั้นส่อให้เห็นว่าที่เรียกศพใส่โกศ คือใส่ลองในเท่านั้น ที่เราเรียกว่าโกศเดี๋ยวนี้เป็นแต่เครื่องประดับ ถ้าพระศพศักดิ์สูงก็ประกอบ "พระลอง" ประดับอยู่เสมอ ถ้าเป็นศพสามัญชั้นต่ำลงมาก็ใส่แต่ "โกศ" ตั้งไว้แต่ในเวลามีงานหน้าศพหรือเมื่อแห่ตั้งที่เมรุ จึงประกอบลอง(คือโกศนอก)เป็นเครื่องประดับ ประเพณีเดิมเห็นจะเป็นอย่างว่านี้ โกศลองในแม้ใส่ศพศักดิ์ชั้นต่ำจึงปิดทองทึบ (อย่างเดียวกับหีบทองทึบซุ่งเป็นหีบสูงศักดิ์รองโกศลงมา) ด้วยจะตั้งไว้ให้คนดู ถ้าเป็นของสำหรับซ่อนมีสิ่งอื่นปิดบังอยู่ข้างนอก ก็คงไม่ปิดทองให้สิ้นเปลืองเปล่าๆ
วินิจฉัยเรื่องประวัติโกศและ หีบ ศพที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน
เมื่อราชบัณฑิตยสภาจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้ขอโกศโถใบ ๑ กับ หีบ ศพจำหลักลายมังกรใบ ๑ มาจากกระทรวงวัง เอามาตั้งในพิพิธภัณฑสถาน และได้ขอหีบ ประดับกระจกเป็นลายยามาจากวัดบวรนิเวศฯอีกใบ ๑ เอามาตั้งไว้ด้วยกัน เห็นว่าเป็นของอย่างวิสามัญ และมีเรื่องเนื่องกับพงศาวดารสมควรจะรักษาไว้มิให้สูญเสีย แต่เรื่องประวัติของ ๓ สิ่งนั้นไม่มีในจดหมายเก่า หากรู้ด้วยพิจารณาหาหลักฐานในที่ต่างๆมาประกอบกัน จึงเขียนวินิจฉัยไว้ให้ปรากฎ
๑. วินิจฉัยโกศโถ
โกศโถนับเป็นโกศศักดิ์ชั้นต่ำสำหรับใส่ศพขุนนาง มีอยู่ในคลังโกศหลายใบ แต่ใบที่เอามาไว้ในพิพิธภัณฑสถานนี้ แปลกกับโกศโถใบอื่นๆด้วย
ก) เห็นว่าเป็นของเก่ากว่า และรูปทรงงามกว่าเพื่อน
ข) ฝาเป็นทรงมงกุฎ แต่โกศโถใบอื่นฝาเป็นทรงปริกทั้งนั้น
ค) คนเฝ้าโกศกลัวโกศใบนี้ ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์
ฆ) พนักงานรักษาโกศใบนี้ เคยเอาออกไปใส่ศพเจ้าพระยานคร(น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราช ไปตกจากเกรินทับภูษามาลาตาย ตัวโกศแตกร้าวเป็นหลายซีก (ตรวจดูข้างในโกศเห็นรอยแตกร้าวมีเหล็กปริงยึดไว้หลายแห่งจริง และข้อที่ว่าโกศตกทับภูษามาลาตายที่เมืองนครฯก็มีเรื่องปรากฎจริง)
พิจารณาพิเคราะห์ที่กล่าวมา เห็นว่าโกศโถใบนี้เป็นของสร้างเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ที่ทำฝาเป็นทรงมงกุฎส่อว่าเดิมสร้างสำหรับพระศพเจ้านายที่ทรงศักดิ์ชั้นสูงสุด เทียบกัยเรื่องพงศาวดาร เห็นว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีคงโปรดฯให้สร้างสำหรับพระศพกรมพระเทพามาตย์พระราชชนนีพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ สันนิษฐานต่อมาว่าเมื่องานพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็คงใช้พระโกศใบนี้เองทรงพระศพเมื่อตั้งในพระเมรุ เพราะเป็นโกศชั้นสูงของพระเจ้ากรุงธนบุรีมีอยู่แล้วในเวลานั้น เห็นจะไม่สร้างพระโกศขึ้นใหม่ และอาจเป็นด้วยเหตุนั้นเมื่องานศพเจ้าพระยานคร(น้อย) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้เอาโกศใบนี้ไปใส่ศพ ด้วยทรงยกย่องว่าเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่คนกลัวกัน ก็อาจจะกลัวมาแต่แรกทรงพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี มาซ้ำทับภูษามาลาตาย ก็เลยถือกันว่าเป็น "โกศผีสิง" เรื่องตำนานน่าจะมีดังกล่าวนี้ แต่เดิมเห็นจะไม่ใช้พร่ำเพรื่อ ต่อเมื่อผู้รู้เรื่องเดิมของโกศหมดตัวไป ยังรู้กันแต่เคยใส่ศพเจ้าพระยานครฯจึงใช้เป็นโกศชั้นต่ำสำหรับใส่ศพขุนนางต่อมา
๒. วินิจฉัย หีบ ลายมังกร
หีบ ใบนี้เป็นหีบแบบโบราณอย่างปากเผยไม่มีฝา ตัวหีบ จำหลักลายเป็นรูปมังกรไทย เคยใช้สำหรับศพขุนนางชั้นต่ำ ที่มีฐานันดรเพียงเป็นขุนและหลวงมาแต่ก่อน แต่ผู้ที่เอาใจใส่กระบวนช่างสังเกตว่ารูปหีบ และลายที่จำหลักหีบใบนี้ เป็นฝีมือช่างสมัยแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เก่าก่อนหีบ ศพของหลวงใบอื่นๆ จึงแนะนำให้เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้เป็นของโบราณ มิได้เอาออกใช้ใส่ศพหลายปี ครั้นจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เอามาพิจารณาดูก็เห็นเป็นของแปลก และมีลักษณะซึ่งได้สังเกตแต่ก่อนปรากฎหลายอย่าง คือ
ก) รูปมังกรที่จำหลัก เป็นอย่างเดียวกับที่จำหลักหย่องพระแกลพระวิมานวังหน้า และที่หอมนเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งช่างวังหน้าสร้างในรัชกาลที่ ๑ เค้าอันนี้ส่อให้เห็นว่าหีบใบนี้เป็นฝีมือช่างวังหน้าครั้งรัชกาลที่ ๑
ข) หีบ ใบนี้ เมื่อสร้างทำเป็น หีบ ปิดทองประดับกระจกทั้งตัว ยังมีชิ้นกระจกติดเหลืออยู่ที่หีบบ้าง แต่หากใช้ลากถูกันจนขะมุกขะมอมจึงมิได้สังเกตเห็นมาแต่ก่อน เค้าอันนี้ส่อให้เห็นว่ามิใช่ของเลว คงเป็นของที่กรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ ดำรัสสั่งให้สร้างขึ้นสำหรับศพที่ศักดิ์สูง
ค) ขนาด หีบ ลายมังกรใบนี้ ย่อมกว่า หีบ ศพสามัญ เค้าอันนี้ส่อให้เห็นว่าน่าจะสร้างขึ้นสำหรับศพผู้หญิง
เอาพิเคราะห์ที่พรรณนามาพิจารณาเทียบกับเรื่องพงศาวดาร สันนิษฐานว่า กรมพระราชวังบวรฯเห็นจะโปรดฯให้สร้างหีบลายมังกรใบนี้สำหรับศพ "นักชี" มารดาของนักองค์อีพระสนมเอก นักชีนั้นเป็นเขมรมีบรรดาศักดิ์สูง (จะเป็นเจ้าหรือไม่ได้เป็น ไม่ทราบแน่ แต่เป็นชายาของสมเด็จพระนารายณ์(นักองค์ตน)เจ้ากรุงกัมพูชา จึงได้เป็นมารดาของนักองค์อี) เมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯมาบวชเป็นรูปชี จึงเรียกกันว่า "นักชี" ปรากฎว่ากรมพระราชวังบวรฯทรงอุปการะมากถึงโปรดฯให้สร้างวัดสำหรับนักชี ให้เป็นที่สำนักนักชี อยู่ด้วยกันกับพวกชีบริวารที่วังหน้า(ตรงที่สร้างวัดบวรสุทธาวาส เมื่อภายหลัง) และทรงสร้างวัดบางลำพู(คือวัดสังเวชวิศยสรามบัดนี้) พระราชทานราชในนามของนักชีให้เป็นเกียรติยศด้ว จตามเรื่องที่ปรากฏมาดูทรงยกย่องนักชีมาก แต่หากไม่มียศศักดิ์ในทางราชการ เมื่อสิ้นชีพจึงโปรดฯให้ทำ หีบ ลายมังกรประดับกระจกใบนี้ใส่ศพ เห็นว่าเรื่องตำนานของ หีบ ลายมังกรจะเป็นดังกล่าวมา
๓.วินิจฉัย หีบ กุดั่นลายยา
หีบ ศพใบนี้อยู่ในหอไตรวัดบวรนิเวศฯมาช้านาน จนไม่มีใครในวัดนั้นรู้ว่ามาอยู่แต่เมื่อใด เป็น หีบ ศพใคร หรือใครเอาไปไว้ในหอไตรนั้น แต่สังเกตดูลักษณะรูปทรงเหมือน หีบ ทองทึบของหลวง ผิดกันแต่ทำเป็นตัดมุมทั้ง ๔ มุมอย่างหนึ่ง กับประดับกระจกสีเป็นอย่างลายยาทั่วทั้ง หีบ อีกอย่างหนึ่ง ส่อให้เห็นว่าคงเป็น หีบ ศพของผู้มีศักดิ์สูง แต่มิใช่หีบของหลวง อีกประการหนึ่งที่ หีบ ศพใบนี้เข้าไปอยู่ในหอไตรวัดบวรนิเวศฯก็น่าพิศวง ด้วยวัดบวรนิเวศฯมีเจ้านายสูงศักดิ์ ตือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองติดต่อกันมาถึง ๖๕ ปี ตลอดเวลานั้นจะมีใครกล้าเอา หีบ ศพเข้าไปไว้ในหอไตร จะว่าพระองค์หนึ่งพระองค์ใดใน ๓ พระองค์นั้น ทรงยอมรับ หีบ ศพเข้ามาใช้ใส่คัมภีร์พระไตรปิฎก ดูก็ไม่เห็นจะเป็นไปได้ เพราะตู้หนังสือก็มีใช้ไม่ขาดแคลน และ หีบ ศพก็เป็นของน่ารังเกียจอยู่ ถ้าหาดว่าเป็นของอยู่ในหอไตรมาก่อน เหตุใดทั้ง ๓ พระองค์นั้น จึงไม่ทรงกำจัด หีบ ศพไปเสียจากหอไตรวัดบวรนิเวศฯ ดูก็ยิ่งน่าพิศวง พิเคราะห์ที่พรรณนามานี้ส่อให้เห็นว่า คงมีเรื่องตำนานของ หีบ ศพใบนี้ ทั้งเหตุที่สร้างและเหตุที่เอาไปไว้ในหอไตรวัดบวรนิเวศฯ เมื่อค้นดูในเรื่องพงศาวดารและสืบถามความรู้ของผู้อื่น แล้วพิจารณาดูลักษณะของ หีบ ประกอบกัน จึงได้ความคังกล่าวต่อไปนี้ คือ
เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ยังเป็นต่างกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๒ ได้พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาของกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ เป็นอัครชายา ครั้นพระสามีเลื่อนพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๓ พระองค์เจ้ทาหญิงดาราวดีก็ได้เป็นใหญ่ข้างฝ่ายในวังหน้า เรียกกันว่า "เสด็จข้างใน" อยู่มาเจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเป็นพระชนนีพระองค์เจ้าหญิงดาราวดีถึงอนิจกรรม กรมพระราชวังบวรกับพระองค์เจ้าหญิงดาราวดี ทรงคาดว่าจะได้รับพระราชทานโกศใส่พระศพเป็นเกียรติยศเพราะเป็นชนนีของ"พระราชชายาพระมหาอุปราช" แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระราชดำริเช่นนั้ หาพระราชทานโกศไม่ ศพเจ้าจอมมารดาน้อยต้องใส่ หีบ พระองค์เจ้าหญิงดาราวดีทรงโทมนัสน้อยพระทัย เพพราะเหตุนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ(บางที่จะเอาอย่างครั้งกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ ทำหีบศพนักชี) จึงโปรดให้สร้าง หีบ ขึ้นใหม่สำหรับใส่ศพเจ้าจอมมารดาน้อย
ตามคำของพวกเชื้อสายเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสของพระองค์เจ้าหญิงดาราวดีกล่าวกันว่า กรมพระราชวังบวรฯโปรดให้ทำ " หีบ แก้ว" ใส่ศพเจ้าจอมมารดาน้อย ก็ตรงกับหีบใบนี้ที่ประดับกระจกเป็นลายยานั่นเอง และยังมีสิ่งสำคัญพิสูตรอยู่ในพิพิธภัณฑสถานคือ พระเสลี่ยงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (ซึ่งแปลงเป็นธรรมาสน์) ก็ประดับกระจกเป็นลายยา ได้เอามาเปรียบเทียบกับ หีบ ศพก็เห็นเป็นฝีมือเดียวกัน จึงเชื่อว่า หีบ ศพที่ว่านี้ เป็นของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างขึ้นเป็นแน่
นอกจากนั้นลักษณะของ หีบ ยังส่อให้เห็นต่อไปถึงพระดำริของกรมพระราชวังบวรฯว่า ทรงระวังมิให้ฝ่าฝืนประเพณีที่ห้ามมิให้ผู้อื่นใช้เครื่องยศอย่างของหลวง คิดแก้ให้ผิดกัน แต่มิให้เลวกว่า หีบ ของหลวงดังจะพึ่งเห็นได้คือ
ก) ที่เอารูปทรง หีบ ทองทึบเป็นแบบ เพราะจะให้คนทั้งหลายเห็นว่า เป็น หีบ ศพชั้นศักดิ์สูง
ข) ที่ทำตัดมุมทั้ง ๔ มุม เพื่อจะให้เห็นชัดว่ามิใช่ หีบ ของหลวง
ค) ที่ประดับกระจกเป็นลายยา เพื่อจะให้เห็นว่าวิเศษกว่า หีบ ทองทึบ
เหตุที่ หีบ ใบนี้จึงได้อยู่ในหอไตรวัดบวรนิเวศนฯ ข้อนี้มีเค้าอยู่ในเรื่องประวัติของวัดนั้น ว่าเมื่อจะปลงศพเจ้าจอมมารดาน้อย กรมพระราชวังบวรฯโปรดให้สร้างเมรุที่ในอาณาเขตแขวงวังหน้า ครั้นเสร็จงานศพแล้วจึงทรงสร้างวัดบวรนิเวศฯขึ้นตรงที่ทำเมรุนั้น มีพระอุโบสถกับหอไตรและการเปรียญมาแต่แรก ความข้อนี้ส่อให้เห็นว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรฯทรงสร้างหอไตรในวัดบวรนิเวศฯแล้ว คงทรงอุทิศ หีบ ซึ่งทรงสร้างสำหรับศพเจ้าจอมมารดาน้อยนั้น ให้ใช้เป็น หีบ สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกไว้ที่หอไตรแต่เดิมมา เพราะเหตุนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ ในเวลากรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพสวรรคตแล้ว ทรงพระราชดำริว่า หีบ นั้นเป็นของกรมพระราชวังบวรฯผู้เป็นเจ้าของวัดทรงสร้างและอุทิศประทานไว้สำหรับวัด จึงโปรดฯให้คงอยู่อย่างเดิม โดยทรงเคารพต่อพระกุศลเจตนาของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ก็ทรงดำริอย่างเดียวกัน หีบ นั้นจึงได้อยู่ในหอไตรตลอดมาจนหมดตัวผู้รู้เรื่องเดิม.
ที่มา : รัตนโกสินทร์ ๒๒๕ , บล็อคแก๊งค์ ,
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&group=2&date=28-03-2007&gblog=55
Advertisement
เปิดอ่าน 15,983 ครั้ง เปิดอ่าน 59,425 ครั้ง เปิดอ่าน 36,874 ครั้ง เปิดอ่าน 18,341 ครั้ง เปิดอ่าน 28,154 ครั้ง เปิดอ่าน 56,639 ครั้ง เปิดอ่าน 21,261 ครั้ง เปิดอ่าน 27,111 ครั้ง เปิดอ่าน 14,534 ครั้ง เปิดอ่าน 17,362 ครั้ง เปิดอ่าน 44,391 ครั้ง เปิดอ่าน 38,963 ครั้ง เปิดอ่าน 17,527 ครั้ง เปิดอ่าน 34,080 ครั้ง เปิดอ่าน 26,003 ครั้ง เปิดอ่าน 21,269 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 34,528 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 51,083 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 19,852 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 22,734 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 6,858 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,828 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 214,490 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 16,072 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,576 ครั้ง |
เปิดอ่าน 31,872 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,994 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,057 ครั้ง |
|
|