Advertisement
Advertisement
ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กระแสข่าวการเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือยุค 3 จีในประเทศไทย ฮือฮาขึ้นมาอีกรอบ เมื่อบริษัททีโอที จำกัด(มหาชน)ที่เพิ่งได้สิทธิในการบริการ จัดการ คลื่นความถี่ 1900 MHZ
แต่เพียงผู้เดียว ได้รับไฟเขียวทั้งจากบอร์ด รวมทั้งหน่วยงานต้นสังกัดอย่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายกรัฐมนตรีลุยลงทุนวางเครือข่าย 3 จี ภายใต้วงเงินร่วม 20,000 ล้านบาท
ความชัดเจนของโครงการ ถูกตอกย้ำขึ้นอีกครั้ง เมื่อบอร์ดและต้นสังกัดขีดเส้นตายให้ทีโอที เปิดให้บริการ 3 จีเชิงพาณิชย์ให้ได้ในวันที่ 5 ธ.ค.2552 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทยทุกคน
แม้วงเงิน รวมทั้งรายละเอียดของโครงการยังถูกถอนเข้าถอนออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องด้วยเหตุผลด้านความรอบคอบ รัดกุมเป็นสำคัญ
แต่นับว่ายังโชคดี ที่ทีโอทีสามารถหาทางออกให้กับการลงทุนเฟสแรกด้วยการอัพเกรดเทคโนโลยีขึ้นสู่ยุค 3 จีด้วยวงเงินลงทุนเครือข่ายเดิมบวกเพิ่มอีกนิดหน่อย ที่ประมาณ 1,710 ล้านบาท จำนวน 533 สถานีฐาน
ภายใต้การให้บริการของบริษัทไทยโมบาย ซึ่งเคยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างทีโอทีและบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นข้อพิสูจน์ถึงความล้มเหลวในการทำงานร่วมกันระหว่างอดีต 2 รัฐวิสาหกิจ เมื่อต้องแข่งขันในสมรภูมิรบอันดุเดือดท่ามกลางบริษัทเอกชนที่บริหารงานได้คล่องตัวกว่า
ความล้มเหลวดังกล่าว สุดท้ายได้เป็นที่มาของการเปิดเจรจาซื้อหุ้นคืนจากกสท ของทีโอที เพื่อ ชิงอำนาจบริหาร จัดการคลื่น 1900 กลับมาเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว จนสามารถเดินหน้าโครงการ 3 จีต่อไปได้
การเปิดให้บริการ 3 จีเชิงพาณิชย์ของทีโอที จะทำให้ทีโอทีกลายเป็นผู้ให้บริการรายแรกของประเทศ ที่ให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่ที่ถูกกำหนดไว้ในการให้บริการ 3 จี โดยตรงนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีโอที สามารถเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ทันที
เพราะแม้เอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 3 รายในไทย อันประกอบด้วย บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือเอไอเอส บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือดีแทค และบริษัททรูมูฟ จำกัด จะทยอยเปิดให้บริการ 3 จีกันไปบ้างแล้ว
แต่ก็เป็นการให้บริการบนเครือข่ายเดิมที่ทั้ง 3 ค่ายให้บริการฐานลูกค้าของตัวเองอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปกติก็มีการใช้งานหนาแน่นอยู่แล้ว เนื่องจากแต่ละรายมีลูกค้าขึ้นหลัก 10 ล้านกันแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอสที่ ณ ปัจจุบันมีฐานลูกค้าเกือบ 28 ล้านคน ดีแทค 20 ล้านคน และทรูมูฟ เพิ่งแตะ 15 ล้านคนไปหมาดๆ
การให้บริการบนเครือข่ายเดิมของเอกชน 3 ราย จึงมีข้อจำกัดอย่างยิ่งยวด สามารถให้บริการได้เพียงในขั้นตอนของการทดสอบ และอยู่ภายใต้กรอบจำกัด เนื่องจากต้องจัดสรรเครือข่ายให้เหมาะสม
เพื่อไม่ให้รบกวนการให้บริการลูกค้าโดยรวม
เนื่องจากบริการ 3 จีนั้น เป็นบริการที่รองรับการส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย ไม่ใช่การสื่อสารผ่านเสียงเพียงอย่างเดียว การใช้งานเครือข่ายจึงจะหนาแน่นหนักหน่วงกว่าการใช้บริการเสียง โอกาสที่จะทำให้เครือข่ายเกิดสภาวะแออัดจึงมีสูงตามไปด้วย
และที่สำคัญ ผู้ให้บริการเอกชนทั้ง 3 ราย ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการ 3 จี จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ขณะที่ทีโอทีและกสท นั้น ได้สิทธิจากการเป็นรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทาน ได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบการครบวงจร ซึ่งทำให้สามารถประกอบกิจการ 3 จี บนเครือข่ายที่มีอยู่ได้ทันที
การเปิดให้บริการ 3 จีของเอกชนในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการให้บริการแบบ ขอไปที เพื่อช่วงชิงภาพลักษณ์ทางการตลาด และใช้เป็นกระแสกดดันกทช.ให้เร่งออกใบอนุญาต 3 จีให้เร็วขึ้น ด้วยการหันไปให้บริการบนคลื่นที่มีอยู่แล้ว
การประกาศเปิดตัวรุกเข้าสู่เทคโนโลยียุค 3 จีในครั้งนี้ จึงมีความหมายและกลายเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ ไม่เพียงแต่เฉพาะกับทีโอที แต่ยังเป็นก้าวกระโดดของพัฒนาการด้านโทรคมนาคมของประเทศเลยทีเดียว
นั่นเป็นเพราะที่สุดแล้ว ประชาชนชาวไทยจะได้มีโอกาสลิ้มลองเทคโนโลยีแห่งความศิวิไลซ์ในโลก 3 จี กับเขากันสักที หลังจากที่ได้ปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง เปิดให้บริการไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร หรือล่าสุดเวียดนาม
หากจะถามว่า 3 จีมีความสำคัญอย่างไร คำตอบก็คือ 3 จี มีความสำคัญเทียบเท่ากับการเปิดโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล เพราะตราบใดที่การแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตผ่านสาย (FIXED LINE) ยังมีข้อจำกัด ด้วยคุณภาพของสายไฟเบอร์ ที่เก่า ตกยุครวมทั้งเงินลงทุนของผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งมีจำกัดจากสภาพธุรกิจหดตัว
การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครือข่าย 3 จี ไร้สาย จึงจะเป็นทางเลือก หรือเป็นแม้กระทั่งทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล (REMOTE AREA)
เนื่องจากในยุคปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ครอบคลุมในวงกว้าง ทะลุทะลวงสู่ผู้ใช้ในทุกหย่อมหญ้า ในป่า บนเขา หรือแม้กระทั่งเชิงดอย
ความนิยมในการใช้โทรศัพท์มือถือ นำไปสู่รายรับจำนวนมหาศาลของแต่ละค่ายมือถือ อันหมุนเวียนกลับคืนสู่ลูกค้า ในรูปแบบของการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมบริการได้กว้างขวางเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น หมุนเวียนเช่นนี้เป็นวัฏจักรปีแล้วปีเล่า แตกต่างจากภาพธุรกิจขาลงของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน อย่างสิ้นเชิง
นี่คือข้อได้ปรียบของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายผ่านเครือข่าย 3 จี เมื่อเปรียบเทียบกับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสาย ในแง่ของการเข้าถึงประชาชน ผ่านปัจจัยด้านวงเงินลงทุนและประสิทธิภาพโครงข่าย
แต่ก็ใช่ว่า อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายจะมีแต่ข้อเสียเปรียบ เพราะหากเทียบในแง่ของราคาและความเร็วในการให้บริการ อินเตอร์เน็ตผ่านสายจะมีราคาที่ย่อมเยาว์กว่า บนความเร็วเดียวกัน
หรือแม้แต่บนความเร็วที่มากกว่า นั่นเป็นเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นก่อนเทคโนโลยีไร้สายหลายปี
ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ใช้ในเมืองซึ่งมีทางเลือก จึงนิยมติดตั้งอินเตอร์เน็ตแบบใช้สาย ADSL เป็นหลักเนื่องจากราคาและความเร็วที่คุ้มค่ากว่า
อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่า หากเทคโนโลยี 3 จีเติบโตเต็มที่และพัฒนาไปสู่ยุค 4 จี LTE (LONG TERM EVOLITION) ซึ่งพูดกันถึงความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ 140 เมกะบิตต่อวินาทีเมื่อไร เมื่อนั้นต้นทุนในการให้บริการและความเร็วบนเครือข่ายไร้สายก็จะสามารถแข่งขันกับอินเตอร์เน็ตผ่านสายได้
ถึงจะมีข้อจำกัดด้านราคาที่สูงกว่า แต่ในสภาพแวดล้อมการลงทุนโครงข่ายเช่นในไทย 3 จี ได้กลายเป็นทางเลือกสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้ สามารถท่องโลกอินเตอร์เน็ตด้วยความเร็วสูงได้ทุกที่ทุกแห่งที่มีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปถึงย่อโลกไว้เพียงในมือหรือบนจอคอมพิวเตอร์ แล้วแต่ว่าจะไปเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ใด ด้วยความเร็วเบื้องต้นเมื่อครั้งเปิดตัวสู่ตลาดเมื่อ 4-5 ปีก่อนที่ 384 กิโลบิตต่อวินาที
ปัจจุบันเทคโนโลยี 3 จี HSPA (HIGH SPEED PACKAGE ACCESS)ยุคล่าสุด พูดกันที่ความเร็ว สูงถึง 14.4 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่ในไทย ซึ่งบรรดาเอกชนทดลองให้บริการแบบทีเล่นทีจริงอยู่ขณะนี้
ทำความเร็วได้ดีที่สุดที่ประมาณ 3.6 เมกะบิตต่อวินาที
ซึ่งแน่นอน หากใช้บริการจริง ความเร็วดังกล่าวจะถูกลดทอนลงมา เนื่องจากเป็นการแบ่งใช้เครือข่ายร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้นยังอยู่ที่ประสิทธิภาพเครื่องลูกข่ายด้วย
ส่วนในญี่ปุ่นและเกาหลี ก้าวกระโดดไปที่ความเร็ว 21.1 เมกะบิตต่อวินาทีแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นทดลองผ่านอุปกรณ์ต้นแบบ เนื่องจากยังไม่มีใครพัฒนาเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อรองรับความเร็วในระดับดังกล่าว ซึ่งต้องประกอบด้วยโปรเซสเซอร์ทรงประสิทธิภาพและเสาสัญญาณที่มีสมรรถนะดีเยี่ยม
หากยังนึกภาพไม่ออก ให้จินตนาการไปถึงการดาวน์โหลดไฟล์เพลง 1 เพลง ที่ขนาดประมาณ 3 เมกะไบท์ในเวลาไม่ถึงเศษเสี้ยววินาที ไวกว่ากระพริบตา เปรียบเทียบกับการให้บริการปัจจุบันบนเทคโนโลยี EDGE หรือที่เรียกกันว่าเป็นยุคก่อน 3 จี ที่ประมาณ 2.75 จี นั้นไฟล์เพลงขนาดเดียวกันต้องใช้เวลาโหลดประมาณ 6- 10 นาที
ส่วนหากจะถามว่า 3 จี เป็นทางเลือกเดียวต่ออินเตอร์เน็ตไร้สายหรือคำตอบคือไม่ เพราะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายยังครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยี WIFI ซึ่งให้บริการกันอยู่บนคลื่นความถี่ 2400 MHZ ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 10 เมกะบิตต่อวินาที หรือจะเป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดของ WIFI ที่เรียกกันว่า WIMAX ที่ให้บริการด้วยความเร็วที่สูงขึ้น บนคลื่นความถี่ 2400 MHZ 2600 MHZ และ
5000 MHZ
ขณะที่ 3 จี ให้บริการอยู่บนคลื่นความถี่ 2100 MHZ ครอบคลุมไปยังความถี่ใกล้เคียงที่ 1900 MHZ ที่ทีโอทีเป็นเจ้าของและกำลังเปิดบริการในไทยด้วย
ที่จริงแล้ว 3 จี และ MIMAX ก่อกำเนิดในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่สุดท้าย 3 จี ได้รับความนิยมสูง ถูกนำไปให้บริการมากกว่า เมื่อมีคนใช้เป็นจำนวนมากต้นทุนการผลิตจึงต่ำลง ทำให้ผู้ให้บริการทั่วโลกพุ่งเป้าไปที่การให้บริการบนเทคโนโลยี 3 จี
ส่วน WIFI และ WIMAX ถูกนำไปให้บริการในรูปแบบจำกัด โดยนำไปเข้ารหัสเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่ครอบคลุมไม่กว้างนัก 2 เทคโนโลยีดังกล่าวจึงถูกนำไปให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายภายในบ้าน อาคารสำนักงานเป็นหลักและเป็นบริการทางเลือกของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในไทยหลายราย
การเปิดให้บริการ 3 จีของทีโอทีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จึงน่าจะเป็นก้าวย่างอันชาญฉลาดของทีโอที ที่จะฉกฉวยโอกาสจากความได้เปรียบที่มีอยู่ สร้างตลาดผู้ใช้ 3 จีล่วงหน้า ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อย ที่สำคัญรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้การันตีว่าสูง
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ บุคลากรของทีโอที ส่วนใหญ่เชี่ยวชาญในธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน อันถือเป็นธุรกิจดั้งเดิม จะสามารถฟันฝ่า เรียนรู้ และยืนหยัด ต่อสู้บนสังเวียนการแข่งขันอันดุเดือดเผ็ดร้อน ของผู้ให้บริการมือถือหรือไม่
คำตอบอยู่ที่พนักงานทีโอทีทั้ง 19,000 ชีวิต
ขอบคุณที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 31 สิงหาคม 2552
Advertisement
|
เปิดอ่าน 14,435 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,514 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,880 ครั้ง |
เปิดอ่าน 3,200 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,225 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,264 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,197 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,605 ครั้ง |
เปิดอ่าน 711 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,878 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,372 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,749 ครั้ง |
เปิดอ่าน 24,216 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,890 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,984 ครั้ง | |
|

เปิดอ่าน 10,799 ☕ คลิกอ่านเลย |

เปิดอ่าน 12,840 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 14,602 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 1,804 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 210,977 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 13,535 ☕ คลิกอ่านเลย | 
เปิดอ่าน 29,365 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡ 
เปิดอ่าน 24,440 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 10,730 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 19,969 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 20,539 ครั้ง | 
เปิดอ่าน 9,479 ครั้ง |
|
|