พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีดินเหนียวอ่อนเป็นดินฐานราก วางกระสอบทรายไม่ถูกวิธีคันอาจยุบตัว และแนะนำของจำเป็น 9 อย่างที่ควรมีในถุงยังชีพ
ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นเขตที่มีดินเหนียวอ่อนเป็นดินฐานราก การสร้างคันดินหรือกองกระสอบทรายสูงเกิน 3 เมตรจะเสี่ยงทำให้คันกั้นน้ำยุบตัวลง “ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์” อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำหลักการสร้างคันกระสอบทรายกั้นน้ำดังนี้
1)ควรกั้นกระสอบทรายสูงไม่เกิน 3 เมตร และควรวางกระสอบทรายเป็นฐานกว้าง ขนาดความกว้างฐานต่อความสูง 4:1 เช่น ฐานกว้าง 4 เมตร วางกระสอบทรายสูง 1 เมตร
2)หากจะวางกระสอบทรายสูงเกิน 3 เมตร ควรใช้เสาเข็มไม้ยาว 3-6 เมตร กดลงไปเป็นฐาน แล้วจึงวางกระสอบทรายแทรกรอบหัวเข็มเป็นฐาน ก่อนจะวางกระสอบทรายทับ
3)ไม่ควรวางกระสอบทรายสูงในแนวดิ่งตรง แต่ควรวางให้มีความเอียงเป็นรูปสามเหลี่ยมพิรามิด โดยวางลาดเป็นอัตราส่วนความสูงต่อระยะราบเท่ากับ 1:2
4)หากต้องการให้กำแพงกระสอบทรายแข็งแรง ควรผสมปูนซีเมนต์ในทราย อัตราส่วนทรายต่อปูน 6:1 คือผสมทราย 6 ส่วนกับปูน 1 ส่วน ก่อนบรรจุลงในถุง จะช่วยให้กระสอบทรายมีความแข็งแรงและเมื่อถุงกระสอบทรายยุ่ย ทรายจะไม่ไหลออก
สำหรับข้อควรรู้เกี่ยวกับการสร้างคันกระสอบทรายกั้นน้ำ
1)กระสอบทรายที่ทำจากพลาสติกจะยุ่ยและสลายตัวง่ายเมื่อถูกแสงอาทิตย์ ทำให้ถุงทรายมีโอกาสแตกได้สูงหลังการใช้ 1 อาทิตย์
2)ไม่ควรสูบน้ำด้านที่อยู่ภายในคันกั้นน้ำออกจนแห้ง เพราะจะทำให้ระดับน้ำภายนอกกับภายในต่างกันอย่างมาก คันกระสอบทรายอาจพังทลาย จึงควรให้มีน้ำท่วมขังภายในบ้างเพื่อลดความต่างระดับของน้ำภายนอกกับภายใน
3)การตั้งกระสอบทรายในแนวดิ่งจะมีโอกาสพังทลายง่าย
ส่วนการจัดถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น “นพ.กฤษดา ศิรามพุช” ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ แนะนำว่า ภายในถุงยังชีพควรมีของ 9 อย่าง ดังนี้
1)กระดาษชำระ กางเกงในกระดาษและผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เนื่องจากในสภาพที่ไม่มีห้องน้ำหรือส้วมกระดาษไม่พอ หากมีกระดาษชำระดีๆ อย่างหนานุ่มหรือได้เปลี่ยนชั้นในสะอาดๆ ก็จะทำให้รู้สึกสบายคลายทุกข์ไปได้มาก
2)นมผู้ใหญ่ จำพวกเอ็นชัวร์หรือพีเดียชัวร์ที่เป็นนมผงสูตรผู้ใหญ่ใช้บำรุงร่างกาย มีสารอาหารที่จำเป็นอยู่มาก ควรแบ่งส่งไปเป็นกระป๋องเล็กพร้อมน้ำสะอาดไว้ชง ผู้ประสบภัยจะได้สะดวกหาที่เก็บให้พ้นน้ำง่าย
3)ด่างทับทิม สำหรับผสมน้ำแช่แก้น้ำกัดเท้าหรือแช่ผักผลไม้ก่อนรับประทาน แทนยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดแบบน้ำที่อาจจัดส่งลำบาก
4)สารส้ม ช่วยให้ผู้ประสบภัยทำน้ำใสไว้อาบเองได้
5)น้ำเกลือปลอดเชื้อ หรือน้ำเกลือสเตอไรซ์ ใช้ล้างแผลปฐมพยาบาล
6)ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เผื่อเป็นไข้หวัดหรือโรคปวดหัวจากความเครียด
7)แชมพูถวายพระ พระสงฆ์องค์เณรต้องงดปฏิบัติกิจช่วงน้ำท่วม ญาติโยมก็ไม่สะดวกใส่บาตร ของใช้ที่จำเป็นอาจขาดอาทิ ผ้าเช็ดตัวสะอาด กระดาษชำระ สบู่และแชมพูเพราะพระสงฆ์ก็จำเป็นต้องใช้ทำความสะอาดร่างกาย แต่ควรเลี่ยงชนิดที่ใส่น้ำหอมแรงจนเกินไป
8)อาหารสุนัข อาหารแมว
9)โน้ตข้อความให้กำลังใจ อย่างสุดท้ายดูเหมือนไม่จำเป็น แต่หากลงไปช่วยพูดคุยไม่ได้ อย่างน้อยส่งข้อความที่เขียนจากใจลงไปก็จะได้เก็บไว้อ่าน เป็นกำลังใจที่ต่างคนต่างช่วยเติมให้กัน
ทีมเดลินิวส์ ออนไลน์
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์