ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

เส้นทางการปฏิรูปการเรียนรู้ : หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 6,296 ครั้ง
เส้นทางการปฏิรูปการเรียนรู้ : หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Advertisement

 

บทนำ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการศึกษาของไทย ประสบกับปัญหาอย่างมาก และสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆของคนไทยบนเวทีระดับโลก ด้อยกว่าเกือบทุกประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน แม้แต่ประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงครามมาอย่างยาวนาน เช่น เวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ประชาชาติฯลฯ  นอกจากปัญหาด้านการศึกษาแล้ว ปัญหาในด้านคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ต่างก็เป็นประเด็นปัญหาซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติอย่างรุนแรง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาด้านการศึกษา

ประเทศไทยจึงได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของชาติด้วยการปฏิรูปการศึกษา และเริ่มมีแนวทางปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการบรรจุสาระเกี่ยวกับการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น มาตรา 43 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มาตรา 81 รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสร้างเสริมความรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาต่างๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปและวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นที่มาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บททางการศึกษาฉบับแรก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2542 ส่งผลให้เกิดกระแสที่สร้างความตื่นตัวและความเคลื่อนไหวในการดำเนินงาน ทั้งต่อหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง

กระทรวงศึกษาธิการ  ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดำเนินการปฏิรูปการศึกษา ได้กำหนดขอบข่ายของการปฏิรูปการศึกษา  เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานทางการศึกษา รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ และยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้สูงขึ้น โดยกำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาใน ด้าน คือ การปฏิรูปโรงเรียนและสถานศึกษา  การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา  การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน และการปฏิรูประบบบริหารการศึกษา

ขอบข่ายของการปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องตามเจตนารมณ์และเพื่อรองรับการดำเนินงานตามแนวทางกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติและเพื่อเตรียมเยาวชนของชาติให้มีความรู้ความสามารถ ได้มาตรฐานสูง เหมาะสมกับความต้องการของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ โดยดำเนินการตามแนวคิดและแนวทางกับภารกิจดังนี้

1.    เป้าหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษา  คือ การเรียนการสอนมีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล ภายในปี 2550

2.    การปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และสถานการณ์ในอนาคต  จะต้องเน้นการพัฒนา "คุณภาพการศึกษา" โดยเฉพาะคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ

3.    การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน จะเกิดขึ้นได้จะต้องเน้นการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนที่แท้จริงของครูแต่ละคน  วิธีการเรียนของผู้เรียนและการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นหลัก

4.    การปฏิรูปการศึกษา  (โดยเฉพาะในระดับโรงเรียนหรือสถานศึกษา) จะครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องปฎิรูปทั้ง 3 มิติ คือ องค์ประกอบหลัก ยุทธศาสตร์ การดำเนินงานปัจจัยสร้างเสริมการเรียน

5.    องค์ประกอบหลักของการปฏิรูปการศึกษา  คือ การปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา และการปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา

6.    การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาจะเน้นยุทธศาสตร์หลัก 5 ประการคือ
                      6.1  กระจายอำนาจให้สถานศึกษาและหน่วยปฏิบัติมีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารงานที่รับผิดชอบ

           6.2  ใช้แผนยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ
                            6.3  เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
                     6.4  ให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา  เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ
                            6.5 เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง ได้เต็มศักยภาพ
                      7.   ปัจจัยสร้างเสริมการเรียน (ETHOS) ที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้แก่  ภาวะผู้นำทางการเรียนการสอนแข็ง  มีความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง  มีจุดเน้นของการสอน (ของครู) ที่ชัดเจน  บรรยากาศสิ่งแวดล้อมเกื้อกูลต่อการเรียนของเด็ก  มีการติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ  ประชาชน (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) มีส่วนร่วม และมีเวลาที่ใช้ในการเรียนอย่างสม่ำเสมอ

หน่วยงานหลักในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา  ประกอบด้วย คณะกรรมการและสำนักงานปฏิรูปการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่จัดการศึกษาเฉพาะทางในกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ

 

ทิศทางการปฏิรูปการศึกษา

 

การปฏิรูปการศึกษาเป็นการปรับทั้งระบบ กระบวนการและเป้าหมายของการเรียนรู้ การคิดของบุคคลและสังคมที่เกี่ยวกับตนเอง สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อนำไปสู่ประโยชน์ต่อชีวิตและสังคมในอนาคต โดยเป้าหมายที่สำคัญที่สุดจะมุ่งเกิดเจตคติต่อตนเอง สังคม เพื่อนร่วมโลกและธรรมชาติ การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเสมือนการรื้อ ปรับปรุง ยกเครื่องและเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอน ทำให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือกระทบในทางเสียหายน้อยที่สุด โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ 5 ประการ คือ (ประเวศ  วะสี, 2542  อ้างใน สนธิรัก เทพเรณู และคณะ, 2548)

1.             เป็นการศึกษาสำหรับคนทั้งมวล (Education for All) อย่างทั่วถึง ยืดหยุ่น หลากหลายเหมาะสมกับทุกกลุ่มในสังคม

2.             ให้ทุกส่วนในสังคมมีความร่วมมือกันในการจัดการศึกษา (All for Education)

3.             ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้มีกระบวนการที่ง่าย สนุก และพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมืองและสุขภาพไปด้วยกัน

4.             ปฏิรูประบบบริหารและการจัดการศึกษาให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพในการจัดการและตรวจสอบให้บรรลุเป้าประสงค์ของการศึกษา

จุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อเด็ก ครู ผู้บริหาร ชุมชน และคนไทยทุกคน โดยเฉพาะเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างอนาคตของชาติ สร้างคุณภาพประชากรอันจะนำไปสู่คุณภาพของชีวิตที่ดี การปฏิรูปการศึกษาควรมีเป้าหมายที่จะสร้างคนให้มีคุณภาพ กล่าวคือ มีความรู้ มีจิตสำนึก มีความดีในตัวทุกคน สามารถประกอบอาชีพอิสระ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติได้ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจะต้องเน้นการเรียนรู้ทั้งที่บ้าน โรงเรียนและสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด

สำนักงานปฏิรูปการศึกษา ได้กำหนดกรอบแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา ไว้คือ

1.             การจัดระบบโครงสร้าง องค์กรและการแบ่งส่วนงาน มีการเน้นการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ในระบบราชการระดับกระทรวง เขตพื้นที่การศึกษา องค์กรอิสระที่ปฏิบัติงานเฉพาะดาน ภายใต้การกำกับดู แลของรัฐมนตรี รวมทั้งมีการจัดระบบการนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการศึกษา

2.             จัดระบบครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เน้นดำเนินการในระบบการผลิต พัฒนา ส่งเสริม และการควบคุมวิชาชีพ

3.             จัดระบบทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา พิจารณาดำเงินการศึกษาความต้องการทรัพยากรต่อปีและระยะ 5 ปี ระบบวิธีการจัดงบประมาณเพื่อการศึกษา ระบบัญชี การตรวจสอบ การบริหารจัดการทรัพย์สินสถานศึกษา การจัดเงินอุดหนุนแก่สถานศึกษา และมาตรการการลงทุนเพื่อการศึกษาแบบใหม่ๆ

4.             จัดระบบการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยเรื่องการปรับเปลี่ยนสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา การจัดการศึกษาเอกชน บทบาทของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

 

หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา

สิปปนนท์ เกตุทัต (2545 : 18 -19) กล่าวว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มีเพียง 3 ประการ คือ

1.             บุคคลทุกคนมีสิทธิ์และโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเสมอกันตลอดชีวิต และในช่วงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2.             ปฏิรูปรูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ โดยถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ให้รู้วิธีการเรียนรู้

3.             ระดมและกระจายทรัพยากร จัดการศึกษาให้กว้างขวาง ทั่วถึง และเป็นธรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม

           เกษม  วัฒนชัย (2545: 18-20) กล่าวว่า “การเรียนรู้” คือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาไทยในครั้งนี้ เป็นกระบวนการการปลูกฝัง ถ่ายทอด ฝึกอบรมสิ่งต่อไปนี้ คือ ความรู้ เจตคติ ความเข้าใจ ความเชื่อศรัทธา ระบบคุณค่า ระบบคุณธรรม การควบคุมและดูแลตนเอง ทักษะและการทำงานให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้  ดังนั้น หลักการปฏิรูปการเรียนรู้จึงยึดหลักว่า ผู้เรียนมีความสำคัญสูงสุด สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง มุ่งเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน มีทักษะในการแสวงหาความรู้ และยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต มุ่งสร้างแหล่งความรู้เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง (ศูนย์ปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา. 2544 : 80)  ทั้งนี้ การดำเนินงาน กระทรวงศึกษาธิการในการปฏิรูปการเรียนรู้ เน้น 3 เรื่อง คือ จะให้เด็กได้เรียนอะไร  ใครสอน และ สอนอย่างไร

   ตามทัศนะของนักการศึกษาทั้งสองท่าน หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือการปฏิรูปการเรียนรู้  และการปฏิรูปการเรียนรู้ก็คือ การจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดอย่างแท้จริงนั่นเอง

 

6 ปีแห่งการปฏิรูปการศึกษา พุทธศักราช 2542 - 2548

หลังจากการปฏิรูปการศึกษาดำเนินงานผ่านไป 6 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิรูปการศึกษา : ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถาบันการศึกษาทุกระดับ ครู คณาจารย์ ผู้แทนจากหน่วยงานการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้แทนสถานประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวของทางการศึกษา โดยจัดสัมมนาทั้งสิ้น 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมสัมมนารวมทั้งสิ้น 1,071 คน  ผลการดำเนินงานปฏิรูปการเรียนรู้ที่ผ่านไป 6 ปี พบว่า ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านหลักสูตร ได้กำหนดเป้าหมายให้หลักสูตรมีความยืดหยุ่น มีสาระสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการของผู้เรียน มีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับกลุ่มของผู้เรียน แต่ปัญหาที่พบคือ ครูยังไม่มั่นใจในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาและไม่คุ้นเคยกับการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  และสาระในหลักสูตรมากเกินไปและซ้ำซ้อนกัน โรงเรียนบางแห่งจัดวิชาเรียนต่างๆ ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ครูผู้สอนยังให้การบ้านเด็กมากเกินไป

ในด้านกระบวนการเรียนการสอน มีการกำหนดเป้าหมายให้ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่า ครูมีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย รวมถึงมีการใช้การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้วย แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ ครูส่วนหนึ่งยังไม่สามารถนำรูปแบบไปใช้จัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ไม่สามารถนำสื่อเทคโนโลยีไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยก็ยังเป็นปัญหาของครูที่ยังไม่สามารถใช้การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนได้

ส่วนด้านการวัดและประเมินผล มีการกำหนดให้ครูใช้วิธีการวัดและประเมินผลผู้เรียน  ไม่เฉพาะทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ให้วัดรวมไปถึงความประพฤติและพฤติกรรมต่างๆ ของผู้เรียนด้วย พบว่า มีการดำเนินการในเรื่องนี้เช่น จัดทำคู่มือ/แนวทางครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ แต่ปัญหาคือ ครูบางส่วนยังไม่เข้าใจและใช้การประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน

 

2549 ปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน

ในวันที่ 4 สิงหาคม 2548 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้นายจาตุรนต์  ฉายแสง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยประกาศเจตนารมณ์ในปี 2549 เป็น “ปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน” โดยมุ่งหวังให้ครูและผู้เรียนปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การเรียน       การสอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งได้แปลทิศทางและมาตรการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเป็นแนวทางปฏิบัติ 12 ประการ และในแนวทางที่ 2 เป็นการปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

        กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำหนังสือ “6 เดือนแห่งการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา รวมพลังปัญญา” ขึ้นในเดือนมกราคม 2549 เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน โดยแนวทางการปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการดำเนินงานดังนี้

-                   การปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 โดยจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจชัดเจนตรงกัน

-                   การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตามแนวการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง สามารถใช้เทคโนโลยีแสวงหาความรู้ได้อย่างคล่องแคล่ว

-                   การจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ

-                   โรงเรียนในฝัน...โรงเรียนดีมีคุณภาพ มุ่งสร้างโอกาสให้แก่เด็กไทยทุกคนให้ได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละคน

-                   โรงเรียนวิถีพุทธ ความงดงามแห่งการศึกษาไทย คือการนำหลักธรรมของพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารจัดการเรียนการสอน

-                   โรงเรียนในพื้นที่โครงการดอยตุง

-                   การปรับกระบวนการเรียนการสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษและจีน โดยเน้นให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ อ่าน เขียน เพื่อสื่อสารและการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

   จากการดำเนินงานในปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มอบหมายให้ วิทยากร  เชียงกูล  ศึกษาสภาวะการศึกษาไทย  ปี พ.ศ. 2549/2550 โดยทำการวิจัยเชิงเอกสารและข้อมูลตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.  2548 ถึงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2550 ในเรื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้พบว่า  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาและจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ยังคงมีปัญหาเช่นเดียวกับในยุคแรก นั่นคือ ปัญหาด้านครูไม่มั่นใจวิธีการจัดทำหลักสูตรและนำหลักสูตรไปใช้ ประกอบกับวิทยากรที่ให้ความรู้แก่ครูมีหลายแนวคิดทำให้ครูเกิดความสับสนในการดำเนินการ ครูจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญดำเนินการเพียงร้อยละ 50 – 60 เท่านั้น

การวัดและประเมินผลผู้เรียนและรับเข้าเรียนต่อ พบว่าครูส่วนใหญ่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการประเมินผลแบบใหม่ไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติ  การประเมินคุณลักษณะของผู้เรียนพบว่า ความรู้วิชาการ 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ พบว่า ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ความสามารถในวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ของผู้เรียนอยู่ในระดับต่ำ  ภาษาไทย วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง และสังคมศึกษาอยู่ในระดับค่อนข้างสูง  ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ความสามารถของผู้เรียนในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำ ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง  การประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ ความรู้วิชาการ ทักษะความคิด ทักษะการแสวงหาความรู้ และทักษะการทำงาน และคุณลักษณะการเป็นพลเมืองที่ดี พบว่า ผู้เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 คุณลักษณะเกือบทุกด้านอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้น คุณลักษณะความเป็นพลเมืองดี ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง สำหรับผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า คุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านความรู้วิชาการอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ด้านทักษะการคิดและการแสวงหาความรู้ และทักษะการทำงานอยู่ในระดับปานกลาง  ส่วนความเป็นพลเมืองดีค่อนข้างสูง  ผลการประเมินงานวิจัยโดยรวม ผู้เรียนมีคุณภาพอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงถึงร้อยละ 40 – 60  ระดับพอใช้  20 – 40  และระดับดี ร้อยละ 5 – 20  ส่วนการประเมินของกรมวิชาการ ผู้เรียนที่มีคุณภาพต้องปรับปรุงร้อยละ 10 – 40  ระดับพอใช้ร้อยละ 50 – 70 ระดับดี ร้อยละ 10 -20 (วิทยากร เชียงกูล.  2550: 85-91)

กล่าวโดยสรุปคือ ในช่วงเวลาดังกล่าว การปฏิรูปการศึกษายังประสบความสำเร็จในระดับจำกัด โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนรู้และการพัฒนาผลสัมฤทธิ์และคุณลักษณะของผู้เรียน ทั้งนี้การปฏิรูปการศึกษา ต้องปรับเปลี่ยนในเชิงคุณภาพอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การบริหารจัดการโดยรวม การบริหารจัดการเขตพื้นที่การศึกษา และการพัฒนาคุณภาพของผู้บริหาร ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้

 

2551 ภาวะชะงักงันของการปฏิรูปการเรียนรู้

23 ธันวาคม 2550 มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในประเทศไทย โดยมีนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมา ใน วันที่ 18 กันยายน 2551 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่คือ นายศรีเมือง  เจริญศิริ ซึ่งดำรงตำแหน่งได้ราว 2 เดือนก็ลาออก จากนั้น นายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฐ์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ประกาศนโยบายเดินหน้าปฏิรูปการศึกษารอบ 2 อย่างเต็มที่ โดยจะปรับนโยบายให้เป็นรูปธรรม และสามารถปฏิบัติได้ เห็นได้ว่า ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550-2551 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายครั้ง จึงทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในทางปฏิบัติ ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ดำเนินไปมากเท่าที่ควรจะเป็น

 

2552 เน้นปฏิรูปการศึกษา 7 เรื่อง

ในวันที่ 22 ตุลาคม 2551 รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ กล่าวต่อสื่อมวลชนในโอกาสดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาคนใหม่ ประกาศให้ปี 2552 เน้นปฏิรูปการศึกษา 7 เรื่องสำคัญ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ได้แก่

1.    การทำงานที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทั้ง 5 องค์กรหลัก พร้อมด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันทางศาสนา สถาบันครอบครัว องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

2.    การจัดระบบการศึกษาต้องจัดให้สอดคล้องและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่ มีความแตกต่างและหลากหลายอย่างเหมาะสม โดยการแยกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเด็กแต่ละกลุ่ม เช่น เด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น

3.    การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยการเกลี่ยอัตรากำลังให้เหมาะสม และกระบวนการพัฒนาทักษะการเรียนการสอนของครูให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

4.    การส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน เด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กสามารถอยู่ในโลกที่มีการแข่งขันมากขึ้น

5.    การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญจะทำให้เด็กไทยและคนไทยในอนาคตมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง สมานฉันท์ และประเทศมีความมั่นคงที่ยั่งยืน

6.    การทบทวน ปรับแก้และผลักดันกฎหมายการศึกษาหลายฉบับ

7.    การให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คงเป็นการร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สกศ. มีครูต้นแบบจำนวนมาก ที่จะสามารถช่วยให้การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ เกิดประโยชน์กับตัวผู้เรียนมากที่สุด

จากการวิเคราะห์แนวทางดังกล่าว เห็นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึง ปัญหา  ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน การจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในระบบการศึกษา พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อการจัดการศึกษา ตลอดถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษา

 

ครู : ตัวแปรที่ส่งผลต่อความสำเร็จ

ผลการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญ อันส่งผลต่อความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้ในเรื่องนี้ คือ คุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา จากการติดตามผลการดำเนินงานในช่วงปีการศึกษา 2542 – 2548 พบว่า ครูผู้สอนบางส่วนยังไม่สามารถจัดทำและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา รวมทั้งจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ  และขาดความรู้ความเข้าใจในการวิจัยและพัฒนาการศึกษา และจากผลการดำเนินงานในช่วงปีการศึกษา 2549 – 2550 ยังพบว่า คุณภาพของผู้เรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับปรับปรุง เป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่า ต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของครูผู้สอนอย่างเร่งด่วน ซึ่งจากงานวิจัยของวิทยากร  เชียงกุล (2550) พบว่า การปฏิรูปการศึกษา มีปัญหาด้านงบประมาณในการสนับสนุนครู กระบวนการผลิตครู และการส่งเสริมให้ครูได้ทำงานวิจัย ตลอดจนขาดการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและช่วยให้ครูมีโอกาสขอตำแหน่งทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ  นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนครูค่อนข้างมากทั้งที่ขาดอยู่แล้ว และมีผู้เกษียณอายุโดยทางราชการตัดอัตราการให้บรรจุข้าราชการใหม่และลูกจ้าง ทำให้มีครูใหม่มาทดแทนไม่เพียงพอ

 

บทสรุป

ผลสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา ในมิติของการปฏิรูปการเรียนรู้ ไม่ใช่อยู่ที่การจัดให้มีหน่วยงานขึ้นมาใหม่ มีแท่งเงินเดือนและตำแหน่งใหม่ หรือมีกฎหมายที่ใช้ประกาศใช้เท่านั้น  ผลผลิตของการศึกษาซึ่งก็คือคุณภาพของผู้เรียนต่างหาก ที่เป็นเครื่องแสดงผลสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา  การดำเนินการในครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ ที่นอกจากจะยึดคุณภาพเด็ก กระบวนการเรียนรู้ คุณลักษณะของผู้เรียนเป็นสำคัญ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาครู ให้มีความสามารถในการจัดการและวิจัยพัฒนาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เงื่อนไขหรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อจัดการอย่างเป็นองค์รวม และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอขอบคุณ คุณครูปิยธิดา  บุนนาค โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 2 ที่กรุณาตรวจแก้ และให้ข้อเสนอแนะในการเขียนบทความเรื่องนี้

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 3149 วันที่ 2 มี.ค. 2552


เส้นทางการปฏิรูปการเรียนรู้ : หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเส้นทางการปฏิรูปการเรียนรู้:หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

การทำขลุ่ยผิว

การทำขลุ่ยผิว


เปิดอ่าน 6,282 ครั้ง
วิจัยในชั้นเรียน

วิจัยในชั้นเรียน


เปิดอ่าน 6,254 ครั้ง
อ่านแล้วสบายใจ

อ่านแล้วสบายใจ


เปิดอ่าน 6,244 ครั้ง
ทายนิสัย(อีกแล้ว)

ทายนิสัย(อีกแล้ว)


เปิดอ่าน 6,245 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ภาพลวงตา...???

ภาพลวงตา...???

เปิดอ่าน 6,241 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
น้ำชีวิต
น้ำชีวิต
เปิดอ่าน 6,244 ☕ คลิกอ่านเลย

เผยแพร่ผลงานวิชาการ  นางอำไพพรรณ   ปานมงคล
เผยแพร่ผลงานวิชาการ นางอำไพพรรณ ปานมงคล
เปิดอ่าน 6,243 ☕ คลิกอ่านเลย

เชิญชมนิทรรศการ ?โลกสีเงิน?
เชิญชมนิทรรศการ ?โลกสีเงิน?
เปิดอ่าน 6,239 ☕ คลิกอ่านเลย

ความรักของมนุษย์กับพญานาค
ความรักของมนุษย์กับพญานาค
เปิดอ่าน 6,247 ☕ คลิกอ่านเลย

ป้าย...พิลึก!!
ป้าย...พิลึก!!
เปิดอ่าน 6,242 ☕ คลิกอ่านเลย

การผลิตและพัฒนาชุดการเรียนการสอน เรื่อง การประดิษฐ์งานถักจากโครเชต์และแฮร์พิน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ก
การผลิตและพัฒนาชุดการเรียนการสอน เรื่อง การประดิษฐ์งานถักจากโครเชต์และแฮร์พิน กลุ่มสาระการเรียนรู้ก
เปิดอ่าน 6,240 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ประโยชน์ของ "ตะไคร้หอม"
ประโยชน์ของ "ตะไคร้หอม"
เปิดอ่าน 15,155 ครั้ง

ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ
ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ
เปิดอ่าน 48,293 ครั้ง

สมุนไพรไม่ปลอดภัยเสมอไป
สมุนไพรไม่ปลอดภัยเสมอไป
เปิดอ่าน 11,477 ครั้ง

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ"คำนำหน้านาม"
สาระน่ารู้เกี่ยวกับ"คำนำหน้านาม"
เปิดอ่าน 55,020 ครั้ง

หมดยุคหลอดไฟของ"โทมัส เอดิสัน"แล้ว
หมดยุคหลอดไฟของ"โทมัส เอดิสัน"แล้ว
เปิดอ่าน 9,792 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ