ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร? โดย อดิศร เนาวนนท์


บทความการศึกษา 29 ก.ย. 2559 เวลา 06:18 น. เปิดอ่าน : 22,465 ครั้ง
Advertisement


Advertisement

ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร? โดย อดิศร เนาวนนท์

ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร?
โดย อดิศร เนาวนนท์

ผู้เขียน : อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อดีตประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7

ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคำสั่งที่ 11/2559 เรื่องการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค มีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2559 ส่งผลให้มีการยุบอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ขึ้นมาทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาและกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา โดยอ้างเหตุผลและความจำเป็นคือ 1.เพื่อการบูรณาการงานระดับพื้นที่ 2.แก้ไขปัญหาการมีช่วงบังคับบัญชากว้าง 3.เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และ 4.เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน
ในการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาคตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยมี รมต.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในส่วนภูมิภาค ด้วยการบริหารจัดการตรงไปที่สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่ 1-18 แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 18 คน มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อดูแลการศึกษาทุกระบบในแต่ละจังหวัด ทั้งสถานศึกษาระดับปฐมวัย กศน. อาชีวศึกษา การศึกษาพิเศษ เอกชน รวมทั้งโรงเรียนสังกัด อปท. กทม. ตชด. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการบริหารงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ
นี่คือทิศทางของ กศจ.ตามที่คาดหวังไว้ 
หกเดือนผ่านไปนับแต่วันที่คำสั่ง คสช.บังคับใช้ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ กศจ.ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในภูมิภาคอย่างไรบ้าง เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการปฏิบัติงานของ กศจ.ได้ตอบโจทย์ที่อ้างเป็นเหตุผลและความจำเป็นในการออกคำสั่ง คสช.ดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ?
1.การบูรณาการงานระดับพื้นที่ สภาพและปัญหาที่เป็นเหตุผลในการออกคำสั่ง คสช. คือโครงสร้างการบริหารจัดการแบบเดิมของกระทรวงศึกษาธิการส่วนภูมิภาคว่ามีปัญหาเรื่องการบูรณาการในการดำเนินงานระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนระดับต่างๆ ทั้งในสังกัด สพฐ.และสังกัดหน่วยงานอื่นๆ หรือระดับเขตพื้นที่การศึกษาฯที่จังหวัดหนึ่งๆ อาจมีหลายเขตพื้นที่การศึกษาทำให้ยากต่อการบูรณาการระดับพื้นที่
จากการติดตามการทำงานของ กศจ.หลายแห่ง พบว่ายังไม่มีความชัดเจนหรือมีความเป็นรูปธรรมในการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างโรงเรียนหรือระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการด้านการบริหารบุคคล หรือการบูรณาการตามประเด็นที่เป็นเป้าหมายทางการศึกษาของจังหวัด ภารกิจหลักของ กศจ.คือการปฏิบัติหน้าที่ด้านการบริหารงานบุคคลของ สพป.และ สพม.
ปัญหาที่สำคัญก็คือ กศจ.ยังไม่รู้ว่าประเด็นภารกิจที่ต้องการบูรณาการที่แท้จริงคืออะไร คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การเปลี่ยนผ่านจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาและกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามาเป็น กศจ.มิได้มีการเตรียมการล่วงหน้า ดังนั้นภาระหนัก ของ กศจ.ในช่วงเริ่มต้นจึงต้องรับผิดชอบเรื่องการบริหารงานบุคคลเป็นหลัก ส่วนบทบาทการทำงานเชิงบูรณาการคงต้องรอดูไปอีกสักระยะ
2.ปัญหาการมีช่วงบังคับบัญชากว้าง สภาพและปัญหาที่เป็นเหตุผลในการออกคำสั่ง คสช.คือ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องกำกับดูแลผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจำนวนมากถึง 225 คน ส่วนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็มีภาระที่หนักเนื่องจากมีสถานศึกษาของรัฐและเอกชนรวมกันถึง 886 แห่ง จึงปรับโครงสร้างให้สัดส่วนการดูแลน้อยลง ด้วยการให้ รมต.ศธ.กำกับดูแลสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 แห่ง และสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 แห่ง กำกับดูแลสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 77 แห่ง จะทำให้การดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง
แนวคิดดังกล่าวเป็นไปตามหลัก single command ที่ รมต.ศธ.เชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ได้ดำเนินการไปก็คือ มีการแต่งตั้งศึกษาธิการภาคจากผู้ตรวจราชการและข้าราชการระดับสูงของ ศธ.ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด โดยยังไม่มีโครงสร้างหน่วยงานและอำนาจหน้าที่ชัดเจน
ในขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษายังคงมีสถานภาพ ทั้งตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอยู่ ทั้งอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง การบังคับบัญชาข้าราชการครู จึงยังไม่เห็นบทบาทของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดในด้านการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานอย่างทั่วถึงดังที่คาดหวัง สภาพจริงของการปฏิบัติงานในปัจจุบันก็คือ ทั้งศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาต่างคนต่างก็รอรับนโยบายหรือคำสั่งของ รมต.ศธ.ผ่านเลขาธิการ กพฐ. การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ งานเองตามบริบทของแต่ละพื้นที่จึงแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
นี่คืออุปสรรคที่สำคัญของระบบ “บังคับบัญชา” และแนวคิดแบบ single command ในการบริหารจัดการศึกษา
3.ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ สภาพและปัญหาที่เป็นเหตุผลในการออกคำสั่ง คสช.คือ สพฐ.และ กคศ.ต่างฝ่ายต่างทำงานไม่บูรณาการกัน โดย สพฐ.ทำหน้าที่ดูแลศึกษานิเทศก์และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ส่วน กคศ.กำกับดูแล อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นงานบริหารบุคคล จึงให้งานบริหารวิชาการและงานบริหารบุคคลไปเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
การดำเนินงานของ กศจ.ที่ผ่านมา พบสภาพและปัญหาที่ควรสะท้อนให้สาธารณชนได้รับทราบ ดังนี้
3.1 ภารกิจหลักของ กศจ.คือการทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพป.และ สพม. ได้แก่ การจัดสอบบรรจุเข้ารับราชการครู การพิจารณาความดีความชอบ การดำเนินการทางวินัย การโยกย้ายข้าราชการครูและผู้บริหารสถานศึกษา และการดำเนินการเกี่ยวการขอเลื่อนวิทยฐานะ
ภารกิจดังกล่าวไม่สอดคล้องกับลักษณะขององค์ประกอบกรรมการใน กศจ. โดยเฉพาะกรรมการที่มาโดยตำแหน่งจากท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรม ผอ.สำนักพุทธศาสนาจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด และวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งไม่มีพื้นฐานความเข้าใจกับระบบระเบียบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู จึงยังทำให้ กศจ.ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกรรมการ โดยตำแหน่งกลุ่มนี้ที่ควรจะต้องทำหน้าที่สำคัญคือ การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ นอกจากนี้ กรรมการที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดยังมีความเกรงใจผู้ว่าราชการจังหวัด จึงไม่ค่อยกล้าให้ข้อเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นต่างจากประธานในการประชุม
3.2 ศึกษาธิการภาค 18 คน ต้องทำหน้าที่เป็นรองประธาน กศจ.หลายจังหวัด จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานประชุมของ กศจ.ไม่สามารถที่จะไปกำกับดูแลศึกษาธิการจังหวัดต่างๆ ได้
3.3 งบประมาณ กศจ.ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เฉพาะค่าเบี้ยประชุม ซึ่งในทางปฏิบัติจริงยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เป็นจำนวนมาก อาทิ ค่าที่พัก ค่าเอกสารการประชุม ค่ายานพาหนะการเดินทางของกรรมการ โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ รมว.ศธ.แต่งตั้งจากส่วนกลาง บางคนเดินทางด้วยเครื่องบิน ต้องพักค้างคืน การประชุม กศจ.ซึ่งเป็นองค์คณะบุคคลตามคำสั่ง คสช.ภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผอ.สพป.เขต 1 ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดต้องไปใช้งบประมาณของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งสังกัด สพฐ.
3.4 กรรมการผู้แทนโดยเฉพาะผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนหรือ สช.ไม่ได้มา
จากผู้แทนของโรงเรียนเอกชนอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะแต่งตั้งจากรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลงานการศึกษาเอกชนหรือผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งเป็นบุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษา
3.5 กรรมการผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่น ไม่เป็นการสะท้อนตัวแทนอย่างแท้จริงของครูในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ได้รับรางวัลต่างๆ และมีความใกล้ชิดกับขั้วอำนาจของจังหวัด
ความเป็นเอกภาพในที่นี้ จึงเป็นเพียงแค่การรวมงานนโยบายและวิชาการของกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและงานบริหารบุคคลของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามาไว้ที่ กศจ. ซึ่ง กศจ.ก็ยังไม่ได้เชื่อมโยงทั้งสองภารกิจเข้าด้วยกัน คือยังทำงานด้านการบริหารงานบุคคลเป็นหลักเพียงอย่างเดียว
4.ความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล สภาพและปัญหาที่เป็นเหตุผลในการออกคำสั่ง คสช. คือที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการพบปัญหาเรื่องความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล 4 ประการ ได้แก่ การเกลี่ยครู การเปลี่ยนครูข้ามเขต การบรรจุครูใหม่ การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน และการดำเนินการทางวินัยที่ไม่ทันต่อเวลา
ผ่านมา 6 เดือน เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องการเกลี่ยครูถึงขณะนี้ กศจ.ยังไม่สามารถทำได้ และก็ยังไม่เห็นแผนงานที่ชัดเจนในการดำเนินการเรื่องนี้ ภารกิจที่ กศจ.ทำก็คือ การสอบบรรจุ การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูที่ขึ้นบัญชีไว้ของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาเป็นบัญชีของ กศจ. การย้ายผู้บริหารโรงเรียน การสอบบรรจุครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น การสอบบรรจุครูประจำปี ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการปกติ (Routine) ของการบริหารงานบุคคล และตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคลของ กศจ.แต่อย่างใด มิหนำซ้ำขณะนี้ยังมีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาว่างที่ไม่สามารถบรรจุได้อีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังพบปัญหามีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานด้านการบริหารบุคคลต่างๆ จาก ก.ค.ศ.ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ หลายครั้ง ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการทำงานของ กศจ.
สิ่งที่เป็นคำถามส่วนใหญ่ของสังคมหลังจากยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาคือ เรื่องการทุจริตเกี่ยวกับการสอบบรรจุ การโยกย้าย และการเลื่อนวิทยฐานะ เกิดขึ้นใน กศจ.หรือไม่ สิ่งที่พบคือ การสอบบรรจุครูกรณีครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ยังไม่พบปัญหา
การสอบบรรจุครูประจำปีอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ที่ตรวจสอบได้ยากคือการเลื่อนวิทยฐานะ แต่ที่น่าจับตามากที่สุดคือการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปลีกย่อยที่น่าสนใจ อาทิ มีบางจังหวัดแต่งตั้งอนุกรรมการ กศจ.ลงไปถึงระดับอำเภอ บางจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปเป็นอนุกรรมการ กศจ.ทุกคณะ บางจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดมอบรองผู้ว่าฯเข้าประชุมแทน ฯลฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ กศจ.ที่กล่าวมายังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน หาก ศธ.จะเดินหน้า กศจ.ต่อไป สิ่งที่ควรจะต้องนำไปดำเนินการคือ ต้องปรับโครงสร้างองค์ประกอบของ กศจ.ให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake Holder) ในจังหวัดเพิ่มขึ้น กรรมการผู้แทน กรรมการโดยตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ รมว.แต่งตั้งต้องเป็นคนในจังหวัดนั้นๆ และปรับบทบาท ภารกิจ กศจ.ให้เป็นองค์คณะบุคคลที่ทำงานบูรณาการเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง
ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการให้สอดรับกับส่วนภูมิภาค กำหนดโครงสร้างสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาให้ชัดเจนว่า ตำแหน่งหรือหน่วยงานไหน ควรมีหรือควรยุบ หากมีศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดก็ต้องให้เขามีอำนาจบังคับบัญชา
ไม่ใช่แค่ให้เป็นรอง ประธาน กศจ.หรือเลขานุการ กศจ.เท่านั้น และไม่ควรมี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพราะอยู่คนละสังกัดไม่สามารถบังคับบัญชากันได้ หรือหากจะมี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ก็ไม่ควรมีศึกษาธิการภาค ศึกษาการจังหวัด อย่าให้ครูมี “นาย” มากเกินไป เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินแล้ว นี่ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ
ทั้งหมดที่กล่าวจะต้องถูกออกแบบกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่ หรือกฎหมายฉบับอื่นๆ ต่อไป
สุดท้าย “ไม่ว่าโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ กศจ.จะเป็นอย่างไร ต้องให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง โดยการมีส่วนร่วมทั้งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจากภาครัฐและเอกชน เพราะโรงเรียนคือจุดสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา”

 


ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร? โดย อดิศร เนาวนนท์ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค6เดือนกศจ.ไปต่ออย่างไร?โดยอดิศรเนาวนนท์

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

หนี้สิน หนี้เสีย แก้ได้

หนี้สิน หนี้เสีย แก้ได้


เปิดอ่าน 10,298 ครั้ง
ภาษาอังกฤษไม่แข็ง

ภาษาอังกฤษไม่แข็ง


เปิดอ่าน 10,305 ครั้ง
พระเจ้าแผ่นดิน

พระเจ้าแผ่นดิน


เปิดอ่าน 7,006 ครั้ง
"ฟุตบอล"...สอนอะไร

"ฟุตบอล"...สอนอะไร


เปิดอ่าน 8,058 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ปฏิรูปการศึกษา...เพื่ออะไร ?

ปฏิรูปการศึกษา...เพื่ออะไร ?

เปิดอ่าน 8,093 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
พระเจ้าแผ่นดิน
พระเจ้าแผ่นดิน
เปิดอ่าน 7,006 ☕ คลิกอ่านเลย

การศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งสู่อนาคต (Basic Education for Future) : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
การศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งสู่อนาคต (Basic Education for Future) : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
เปิดอ่าน 48,018 ☕ คลิกอ่านเลย

ราชภัฏกับธนาคาร
ราชภัฏกับธนาคาร
เปิดอ่าน 7,893 ☕ คลิกอ่านเลย

คนคือความท้าทาย
คนคือความท้าทาย
เปิดอ่าน 7,515 ☕ คลิกอ่านเลย

ครูไทย 4.0 (จบ) : โดย ดิเรก พรสีมา
ครูไทย 4.0 (จบ) : โดย ดิเรก พรสีมา
เปิดอ่าน 139,695 ☕ คลิกอ่านเลย

คนไทยกับ "วิกฤติหนี้สิน" "การศึกษา" ถึงเวลาปฏิรูป
คนไทยกับ "วิกฤติหนี้สิน" "การศึกษา" ถึงเวลาปฏิรูป
เปิดอ่าน 9,308 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

หลักเกณฑ์ใหม่ในการตั้งชื่อวัด
หลักเกณฑ์ใหม่ในการตั้งชื่อวัด
เปิดอ่าน 18,456 ครั้ง

มติ ครม. เห็นชอบลงทะเบียนซิมเติมเงิน-ฟรี Wi-Fi เป็นวาระแห่งชาติ
มติ ครม. เห็นชอบลงทะเบียนซิมเติมเงิน-ฟรี Wi-Fi เป็นวาระแห่งชาติ
เปิดอ่าน 9,386 ครั้ง

เงินตราของเวียดนามตอนที่ 1
เงินตราของเวียดนามตอนที่ 1
เปิดอ่าน 15,470 ครั้ง

"พลู" สมุนไพรไทย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
"พลู" สมุนไพรไทย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
เปิดอ่าน 27,720 ครั้ง

ลีลาตำรวจโบกรถ เชียงใหม่ ช่วยผู้ขับขี่คลายเครียดได้เยอะ
ลีลาตำรวจโบกรถ เชียงใหม่ ช่วยผู้ขับขี่คลายเครียดได้เยอะ
เปิดอ่าน 11,662 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ