Advertisement
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่พิสูจน์อักษรงานเขียนต่าง ๆ มา พบว่า มีคำอยู่ ๒ คำที่มักใช้สลับกันอยู่เสมอ คือ คำว่า กริยา กับ กิริยา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะ คำว่า กริยา กับ กิริยา เป็นคำที่มีรูปเขียนใกล้เคียงกันและออกเสียง ใกล้เคียงกัน จึงทำให้ผู้ใช้ภาษาเข้าใจว่า ๒ คำดังกล่าวสามารถใช้แทนกันได้เหมือนคำว่า ภรรยา กับ ภริยา หรือคำว่า ปกติ กับ ปรกติ ด้วยเหตุนี้ เพื่อมิให้ผู้อ่านสับสนเมื่อจะนำคำว่า กริยา กับ กิริยา ไปใช้ ผู้เขียนจึงขออธิบายผ่านคอลัมน์ “องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถาน” เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องตรงความ ดังนี้
คำว่า กริยา หมายถึง คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม อ่านได้ ๒ แบบ คือ กฺริ-ยา และ กะ-ริ-ยา มาจากคำว่า กฺริยา ในภาษาสันสกฤต เป็น คำที่ใช้ในไวยากรณ์ แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น กริยานุเคราะห์ หรือ กริยาช่วย หมายถึง กริยาที่ใช้ช่วยกริยาอื่น เช่น คง จะ ถูก น่า กริยาวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ใช้ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ด้วยกันให้มีความแปลกออกไป
ส่วนคำว่า กิริยา นั้น แม้จะมีรูปเขียนและการออกเสียงที่ใกล้เคียงกัน แต่ใช้ในความหมายที่ต่างกัน โดยหมายถึง การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย, มารยาท มาจากคำว่า กิริยา ในภาษาบาลี มักพบใช้ในคำว่า มีกิริยา หมายถึง มีกิริยาดี อากัปกิริยา หมายถึง กิริยาท่าทาง กิริยามารยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาลเทศะ เป็นต้น
จากที่อธิบายมาข้างต้น จึงสรุปได้ว่า คำว่า กริยา กับ กิริยา เป็นคำที่ใช้ในความหมายต่างกัน ไม่สามารถใช้แทนกันได้ โดยคำว่า กริยา ใช้ในไวยากรณ์ และคำว่า กิริยา ใช้ในการกระทำหรืออาการที่แสดงออกมาด้วยกายเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.royin.go.th
โดย พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์
Advertisement
 เปิดอ่าน 6,946 ครั้ง  เปิดอ่าน 44,784 ครั้ง  เปิดอ่าน 5,515 ครั้ง  เปิดอ่าน 73,861 ครั้ง  เปิดอ่าน 334,774 ครั้ง  เปิดอ่าน 2,793 ครั้ง  เปิดอ่าน 53,629 ครั้ง  เปิดอ่าน 31,671 ครั้ง  เปิดอ่าน 9,855 ครั้ง  เปิดอ่าน 37,666 ครั้ง  เปิดอ่าน 90,521 ครั้ง  เปิดอ่าน 24,588 ครั้ง  เปิดอ่าน 55,753 ครั้ง  เปิดอ่าน 3,667 ครั้ง  เปิดอ่าน 21,760 ครั้ง  เปิดอ่าน 26,252 ครั้ง
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
|