Advertisement
คืนวันที่ 15 ต่อเนื่องข้ามไปสู่วันใหม่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2554 นี้ คนไทยจะมีโอกาสตื่นตายลความอัศจรรย์ของปรากฏการณ์สำคัญจากห้วงอวกาศถึง 2 วาระไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ "จันทรุปราคาเต็มดวง" ครั้งแรกในรอบ 4 ปี รวมถึงปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์"
นอกจากนั้น ถ้าท้องฟ้าในพื้นที่ใดมืดมิดเพียงพอ ไม่มีแสงไฟรบกวน ยังจะมีโอกาสมองเห็นความงดงามของ "ทางช้างเผือก" ด้วยตาเปล่าอีกด้วย ขณะที่ดวงจันทร์ถูก "เงาโลก" บดบังทั้งดวง!
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยให้ข้อมูล พร้อมกับชักชวนคนไทยอย่าพลาดชมปรากฏการณ์จากห้วงอวกาศครั้งสำคัญนี้ ระหว่างร่วมงานแถลงข่าว 'จันทรุปราคาเต็มดวง/จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์' เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
คืนวันที่ 15 ถึงเช้ามืดของวันที่ 16 มิ.ย. 2554 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่คนไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย
โดยดวงจันทร์จะ 'เริ่ม' เข้าสู่เงามืดของโลก เวลาประมาณ 01.22 น. วันที่ 16 มิ.ย.
จากนั้นจะเข้าสู่ช่วง 'คราสเต็มดวง' หรือ บังเต็มดวง ตั้งแต่ 02.22 น. ถึง 04.03 น. ซึ่งจะทำให้เราจะมองเห็นดวงจันทร์เป็น 'สีแดงอิฐ' ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สูงจาก 'เส้นขอบฟ้า' ราว 30 องศา
คนไทยสามารถชมปรากฏการณ์นี้ได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ
นอกจากนี้ หากท้องฟ้าใส ไม่มีเมฆ และไม่มีแสงไฟรบกวนจะมีโอกาสเห็น 'ทางช้างเผือก' ในคืนวันเพ็ญขณะที่ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังทั้งดวงอีกด้วย
"ปรากฏการณ์ทางช้างเผือกที่เห็นอย่างชัดเจนครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก การเกิดจันทรุปราคา ในวันที่ 16 มิ.ย. คนไทยชมปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศค่อนข้างชัดเจน โดยมองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ควรเลือกสถานที่ค่อนข้างมืด ไร้แสงรบกวนจากเมือง? หากใช้กล้องสองตา? หรือกล้องโทรทรรศน์จะเห็นจันทรุปราคาชัดมากขึ้น ส่วนจันทรุปราคาครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในเดือนมหามงคล วันที่ 10 ธ.ค. 2554" รองผอ.สดร.กล่าว
ดร.ศรัณย์ แนะนำว่า สำหรับการตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ ทางสถาบันวิจัยดารา ศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ร่วมกับเครือข่ายทางดาราศาสตร์ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และสงขลา กำหนดตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว
โดยตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาว โฟกัสกว่า 800 มิลลิเมตร เพื่อสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคา และจะถ่ายทอดภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจากทั้งสามแห่ง ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของสถาบัน ที่เว็บไซต์ www.narit.or.th
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมชมจันทรุปราคาเต็มดวงกับสดร. ได้ตามสถานที่ต่อไปนี้
จ.เชียงใหม่ จุดถ่ายทอดสดและตั้งกล้องโทรทรรศน์สังเกตปรากฏการณ์ บริเวณดาดฟ้า ชั้น 3 อาคารสดร. ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ติดต่อขอรับบัตรเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ สำนักบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. ถนนห้วยแก้ว จนถึงวันที่ 15 มิ.ย. 2554 หรือสอบถามโทร. 0-5322-5569 ต่อ 305 รับจำนวนจำกัด 100 คน
จ.ฉะเชิงเทรา และชลบุรี จะตั้งจุดถ่ายทอดสด ณ บริเวณหอดูดาวบัณฑิต อำเภอแปลงยาว ฉะเชิงเทรา และจัดกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจร่วมสังเกตปรากฏการณ์จากกล้องโทรทรรศน์อีก 3 จุด ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ อำเภอเมือง ฉะเชิงเทรา โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา อำเภอแปลงยาว ฉะเชิงเทรา และโรงเรียนชลราษฎรอำรุง อำเภอเมือง ชลบุรี
ส่วนจ.สงขลา จะตั้งจุดถ่ายทอดสดและจัดกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจร่วมสัมผัสปรากฏการณ์จันทรุปราคาอย่างใกล้ชิดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า วันที่ 16 มิ.ย. 2554 นอกจากคนไทยจะได้ชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ
ขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงาของโลกเกือบเต็มดวงนั้น ดวงจันทร์ยังเคลื่อนที่ไปบังดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า "51 Ophiuchi" (51 โอฟีอุชชี) หรือ "ดาว 51 คนแบกงู" อีกด้วย
เราจะมองเห็นดาวฤกษ์ 51 Ophiuchi เริ่มหายเข้าไปหลังดวงจันทร์สีแดงอิฐ ในเวลาประมาณ 02.08 น. และจะโผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาในเวลาประมาณ 02.12 น.
"ดาวฤกษ์ 51 Ophiuchi เป็นดาวฤกษ์สีขาวที่อยู่นอกระบบสุริยะ มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์มาก แต่อยู่ไกลจากโลกมากถึง 446.35 ปีแสง ดังนั้น เราอาจมองเห็นดาวฤกษ์นี้ด้วยตาเปล่าได้ไม่เด่นชัดมากนัก สำหรับผู้ที่สนใจติดตามปรากฏการณ์บนฟากฟ้าอย่าพลาด เพราะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางดารา ศาสตร์ที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก" ดร.ศรัณย์ เผย
สำหรับจันทรุปราคาครั้งนี้มีระยะเต็มดวงยาวนานถึง 1 ช.ม. 40 นาที 52 วินาที ทำลายสถิติจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยในอดีต เมื่อ 16 ก.ค. 2543 หลังจากปี 2554 จันทรุปราคาเต็มดวงที่มีระยะเวลามืดเต็มดวงนานเกิน 100 นาที จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งสามารถเห็นได้ในประเทศไทยอีกเช่นกัน
ด้าน วรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า นานเกือบ 4 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็นจันทรุปราคาเต็มดวง
ปีนี้เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงขึ้น 2 ครั้ง ทั้งคู่สามารถเห็นได้ในประเทศไทย
โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเวลากลางดึกของคืนวันพุธที่ 15 มิ.ย. 2554 เข้าสู่เช้ามืดวันที่ 16 มิ.ย. และครั้งที่ 2 ในคืนวันที่ 10 ธ.ค.2554
จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน จนทำให้ดวงจันทร์ผ่านเงาของโลกซึ่งทอดยาวออกไปในอวกาศ
เงานี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงามืด และ เงามัว เงามัวเป็นส่วนที่จางมาก เรามักสังเกตไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงกับดวงจันทร์ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามัว ยกเว้นกรณีที่ดวงจันทร์อยู่ในเงาลึกมากพอ
หากดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืด เรียกว่า 'จันทรุปราคาเต็มดวง' เฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 70 ครั้งต่อศตวรรษ
จันทรุปราคาหลายครั้งที่มีเพียงบางส่วนของดวงจันทร์เท่านั้นที่ผ่านเข้าไปในเงามืด เรียกว่า 'จันทรุปราคาบางส่วน' เฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 84 ครั้งต่อศตวรรษ (สถิติในช่วง 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึงค.ศ.3000)
สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งบนพื้นโลกไม่สามารถสังเกตจันทรุปราคาได้ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าขณะเกิดปรากฏการณ์เป็นเวลากลางคืนในท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่
เพราะเมื่อเกิดจันทรุปราคาแล้ว เฉพาะซีกโลกด้าน 'กลางคืน' เท่านั้นที่สังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แต่นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีโอกาสเห็นจันทรุปราคาได้บ่อยกว่าสุริยุปราคา
วรเชษฐ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 15-16 มิ.ย.นี้ ว่า
คนไทยเฝ้ารอสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่คืนวันพุธที่ 15 มิ.ย. โดยดวงจันทร์เริ่มแตะเงามัวในเวลา 00.25 น. ของวันที่ 16 มิ.ย. แต่เราจะสังเกตไม่พบการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวลึกมากยิ่งขึ้น
คาดว่าจะเริ่มสังเกตว่าพื้นผิวดวงจันทร์โดยรวมดูหมองคล้ำลง ตั้งแต่เวลาประมาณตี 1 หรือหลังจากนั้นไม่นาน โดยเฉพาะ 'พื้นผิวด้านตะวันออก' ของดวงจันทร์
จันทรุปราคาบางส่วนเริ่มขึ้นเวลา 01.23 น. เป็นจังหวะที่เริ่มเห็นขอบดวงจันทร์แหว่ง เนื่องจากสัมผัสกับเงามืดของโลก ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่สูงบนท้องฟ้าทิศใต้ เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อเวลาผ่านไปดวงจันทร์จะเข้าไปในเงามืดลึกมากขึ้นเรื่อยๆ
เวลาเกือบตี 2 จะเห็นดวงจันทร์ถูกบังครึ่งดวง
จากนั้นเริ่ม 'บังหมดทั้งดวง' ในเวลา 02.22 น.
"ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังหมดทั้งดวง แต่ดวงจันทร์ก็ไม่ได้มืดมิด เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีสีน้ำตาล ส้ม หรือแดง และอาจมีสีฟ้าปะปนอยู่ได้เล็กน้อย
เวลา 03.13 น. ดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงาโลกมากที่สุด คาดหมายได้ว่าเป็นเวลาที่ดวงจันทร์มืดคล้ำที่สุด (หากท้องฟ้าเปิดตลอดปรากฏการณ์) จากนั้นเวลา 04.03 น. เป็นเวลาที่จันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลง รวมแล้วเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงยาวนานถึง 1 ชั่วโมง 40 นาที ขณะสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้"
"ช่วงที่เกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ตรงกลางระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู หากอยู่ในที่มืด ห่างจากเมืองใหญ่ ไม่มีแสงไฟรบกวนมากนัก และไม่มีเมฆฝนบดบัง จะมีโอกาสเห็นทางช้างเผือกอยู่เบื้องหลังดวงจันทร์ได้ชัดเจน
ผู้ที่มีกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ สามารถสังเกตได้ว่าขณะเริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง มีดาวฤกษ์ดวงหนึ่งอยู่ใกล้ขอบด้านทิศตะวันออกของดวงจันทร์ ดาวดวงนี้คือดาว 51 คนแบกงู โชติมาตร +4.8 ดวงจันทร์จะบังดาวฤกษ์ดวงนี้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อสิ้นสุดการบังแล้ว ดาว 51 คนแบกงูก็จะกลับมาปรากฏที่ขอบอีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์" วรเชษฐ์ ระบุ
จันทรุปราคาเต็มดวง-จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์-ทางช้างเผือก มหัศจรรย์งดงามจับใจแค่ไหน อย่าพลาด 15-16 มิ.ย.นี้ โปรดจับจ้องท้องฟ้ายามรัตติกาลโดยพร้อมเพรียงกัน!
ขอบคุณที่มาจาก ข่าวสดออนไลน์
คุณครูใช้พลังเสียงแต่ละวันมากไหม? ลองดู (ไมค์wireless,รองรับFM) Rolton K400FM ไมค์ลอย ไมค์ไร้สาย ไมค์ช่วยสอน ลำโพงพกพา ลำโพง ไมค์ลอย K400 FM ในราคา ฿494 - ฿592 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/50IAUAsJw0?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 8,802 ครั้ง เปิดอ่าน 13,080 ครั้ง เปิดอ่าน 1,798 ครั้ง เปิดอ่าน 12,526 ครั้ง เปิดอ่าน 19,449 ครั้ง เปิดอ่าน 18,549 ครั้ง เปิดอ่าน 16,069 ครั้ง เปิดอ่าน 12,885 ครั้ง เปิดอ่าน 31,070 ครั้ง เปิดอ่าน 12,687 ครั้ง เปิดอ่าน 18,420 ครั้ง เปิดอ่าน 24,617 ครั้ง เปิดอ่าน 7,745 ครั้ง เปิดอ่าน 22,536 ครั้ง เปิดอ่าน 13,252 ครั้ง เปิดอ่าน 12,146 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 80,895 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 13,806 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 24,820 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 32,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 22,905 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,234 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,134 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 62,229 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,435 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,393 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,612 ครั้ง |
เปิดอ่าน 33,608 ครั้ง |
|
|