ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซ้ำร้าย "อ่านน้อย" จับประเด็นไม่ได้ วิกฤตใหญ่ที่ไทยต้องแก้


บทความการศึกษา 2 ม.ค. 2559 เวลา 08:58 น. เปิดอ่าน : 21,364 ครั้ง
อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซ้ำร้าย "อ่านน้อย" จับประเด็นไม่ได้ วิกฤตใหญ่ที่ไทยต้องแก้

Advertisement

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าการแก้ปัญหานี้อาจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะเมื่อดูจากผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อช่วง ส.ค. 2558 แม้จำนวนเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จะลดลง แต่ก็ยังทำไม่ได้ 100%

โดยผลสำรวจนักเรียนชั้น ป.1 ครั้งที่ 1 เดือน มิ.ย. 2558 พบว่า มีนักเรียนอ่านไม่ออกร้อยละ 11.5 เขียนไม่ได้ร้อยละ 8.7 การสำรวจครั้งที่ 2 เดือน ก.ค. 2558 นักเรียนอ่านไม่ออกลดลงเหลือร้อยละ 5.6 และ เขียนไม่ได้เหลือร้อยละ 5.0 นักเรียน ชั้น ป.2 การประเมินครั้งที่ 1 อ่านไม่ออก ร้อยละ 8.2 เขียนไม่ได้ร้อยละ 11.2 ประเมินครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่ออกร้อยละ 5.0 เขียนไม่ได้ร้อยละ 7.0 ชั้น ป.3 ครั้งที่ 1 อ่านไม่ออกร้อยละ 5.0 เขียนไม่ได้ร้อยละ 7.6 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่ออกร้อยละ 2.8 เขียนไม่ได้ร้อยละ 5.3

ชั้น ป.4 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 4.4 เขียนไม่คล่องร้อยละ 11.3 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่คล่องร้อยละ 2.5 เขียนไม่คล่องร้อยละ 8.1 ชั้น ป.5 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 3.5 เขียนไม่คล่องร้อยละ 9.7 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่คล่องร้อยละ 1.9 เขียนไม่คล่องร้อยละ 6.6 และ ชั้น ป.6 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 2.6 เขียนไม่คล่องร้อยละ 7.0 ครั้งที่ 2 อ่านไม่คล่องร้อยละ 1.4 และเขียนไม่คล่องร้อยละ 4.7

แม้แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ สพฐ.ได้พัฒนาให้แก่โรงเรียน การจัดสอนเสริมให้แก่นักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเป็นรายบุคคล การเรียนการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ และอาศัยโรงเรียนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จะประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ถือว่ายังไม่ทั้งหมด

เพราะเด็กที่ยังมีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กชายขอบที่อยู่ตามโรงเรียนห่างไกล และไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ขณะที่ครูตามพื้นที่ห่างไกลก็ยังคงขาดแคลนด้วยเช่นกัน ครู 1 คนอาจต้องสอนหลายวิชา และไม่ได้มีความชำนาญในวิชาที่สอน


น.ส.ธนิกานต์ ทาอ้าย ครูประจำโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ แนะนำถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาตรงนี้ว่า อาจจะต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างจิตวิญญาณของครูขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่าครูตามพื้นที่ห่างไกล มีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อนักเรียน และอาจไม่ได้เชี่ยวชาญวิชาภาษาไทยที่จะสอนเด็ก แต่หากครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ก็จะรู้จักขวนขวายหาวิธี หาเทคนิคในการสอนนักเรียนให้เข้าใจได้ อย่างวิชาภาษาไทย เด็กอาจไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนรูปแปลงร่างของสระ หากหาวิธีเทคนิคในการสอนมาทำให้เด็กเข้าใจได้ก็จะช่วยให้เด็กอ่านออกเขียนได้มากขึ้น

“การที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น ไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่ครูควรกลับมาประเมินตัวเองใหม่ว่าเราทำหน้าที่ดีแล้วหรือยัง หากครูต้องการให้เด็กพัฒนาจริง ครูก็ต้องพัฒนาตัวเองก่อน ทำการบ้านเพิ่มที่จะมาสอนเด็กแล้วมาดูกันว่าการเรียนการสอนจะสัมฤทธิ์ผลมากขึ้นหรือไม่”

ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ ศธ. เพราะแม้หลักสูตร ระบบการเรียนการสอนต่างๆ จะดี มีการบรรจุครูในพื้นที่ห่างไกลเพิ่ม แต่หากสร้างจิตวิญญาณครูขึ้นมาไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการศึกษาของเด็กไทย

นอกจากนี้ ปัญหาการ “อ่านน้อย” ของคนไทย ถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี อธิบายว่า มีผลวิจัยมานานแล้วว่า หากพ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่แรกเกิด จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง และยิ่งพ่อแม่ใช้เวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังมาก จนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็ก ก็จะทำให้เด็กโตมาพร้อมกับการรักการอ่านหนังสือไปด้วย

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจดัชนีวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย ภายใต้โครงการการสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านระยะที่ 2 ที่จัดทำโดยเครือข่ายเสียงประชาชน (We Voice) เสนอต่อแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนส่งเสริมการอ่านนั้น พบว่า

กลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวน 1,753 ตัวอย่าง ใช้เวลาอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ โดยใช้เวลาอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ 166 นาทีต่อสัปดาห์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 222.5 นาทีต่อสัปดาห์ ร้อยละ 44.6 ไม่ซื้อหนังสือเลย สาเหตุที่ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือหรือสื่ออ่านต่าง ๆ เพราะชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่าคิดเป็นร้อยละ 30.7 ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 29 และสายตาไม่ดี ร้อยละ 19.4 นอกจากนี้ ร้อยละ 4.3 อ่านหนังสือไม่ออก เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อพบว่า ร้อยละ 18.2 มองว่าหนังสือมีราคาแพงเกินไป ร้อยละ 8.3 ไม่มีเงินซื้อ และร้อยละ 10.4 ไม่มีแหล่งให้ยืมหนังสือ ทั้งนี้ เมื่อนำผลทั้งหมดมาคำนวณดัชนีวัฒนธรรมการอ่านของประชาชนทั่วไปมีค่าเท่ากับ 40.4 หมายความว่าประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมการอ่านที่น้อย หรืออาจเทียบเคียงได้ว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียง 40.4 หน้าโดยเฉลี่ยแทนที่จะเป็น 100 หน้า

ขณะที่กลุ่มเด็กปฐมวัย สำรวจข้อมูล 398 ตัวอย่าง จากพ่อแม่ผู้ปกครองพบว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเท่ากับ 709.5 นาทีต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ให้เด็กฟังเฉลี่ย 615.8 นาทีต่อสัปดาห์ และอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 70.9 นาทีต่อสัปดาห์ โดยร้อยละ 74.6 มีการซื้อหนังสือให้เด็กอ่าน เมื่อสำรวจกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวที่ช่วยส่งเสริมการรักการอ่าน หรือการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.6 มีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยร้อยละ 83.2 อ่านหนังสือให้เด็กฟัง รองลงมาเป็นการให้คำชมเวลาเด็กอ่านหนังสือ ร้อยละ 81.3 และใช้เวลาอ่านหนังสือด้วยกันร้อยละ 78.6 เมื่อคำนวณค่าดัชนีวัฒนธรรมการอ่านเด็กปฐมวัยเท่ากับ 49.6 คือ มีพ่อแม่การอ่านหนังสือให้เด็กฟังในระดับปานกลาง

การแก้ปัญหาการอ่านน้อย รศ.พญ.นิชรา กล่าวว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงแรกเกิดเลย โดยเด็กปฐมวัยอายุแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ พ่อแม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แต่ไม่อยากให้พ่อแม่มองว่าอ่านเพื่อให้เด็กเรียนรู้หรือรักการอ่าน แต่อยากให้มองว่าหนังสือเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งสำหรับเด็ก ใช้เป็นสื่อในการส่งเสริมพัฒนาการ เพราะเด็กเล็กยังไม่รู้หรอกว่าอันนี้คือของเล่น อันนี้คือหนังสือ อะไรคือบันเทิง อะไรคือความรู้ เขารู้เพียงว่าพ่อแม่นั้นสำคัญสำหรับเขา และมีอะไรที่อยู่รอบตัวเขา หากพ่อแม่อ่านหนังสือให้เขาฟังด้วยความสนุกสนาน รอบตัวเขามีแต่หนังสือ เขาก็จะรู้สึกสนุกและคลุกคลีอยู่กับหนังสือ

“การอ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกในหลายด้าน อย่างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แม้จะดูว่าส่งเสริมได้น้อย แต่หากพ่อแม่อ่านหนังสือสำหรับเด็กแล้วเล่นไปกับเขาด้วย ทำให้เขาสนุกสนาน เช่น เนื้อหาในหนังสือสำหรับเด็กพูดถึงลูกบอล ก็ให้ลูกลองไปหยิบลูกบอล เป็นต้น และยังเป็นการเสริมสร้างสติปัญญาให้เด็กด้วย ให้เด็กได้เห็นว่าในรูปเป็นอย่างไร แล้วของจริงนั้นเป็นอย่างไร ส่วนกล้ามเน้อมัดเล็กอย่างการใช้มือหยิบจับ หนังสือสำหรับเด็กก็จะมีบางส่วนที่ทำลักษณะแบบป๊อปอัปให้เด็กได้พลิกเปิด ตรงนี้ก็ถือเป็นการช่วยเสริมพัฒนาการเช่นกัน และยิ่งอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิด เด็กก็จะมีโอกาสพัฒนาการมากกว่า”

รศ.พญ.นิชรา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ไม่ค่อยนิยมซื้อหนังสือสำหรับเพราะมีราคาแพง และหนังสือสำหรับเด็กที่ไทยทำเองนั้นหายากมาก ส่วนใหญ่เป็นหนังสือสำหรับเด็กแบบแปลภาษา หากจะทำให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก มองว่ากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรฟื้นโครงการหนังสือเล่มแรกสำหรับเด็กแรกเกิดให้กลับมาอีกครั้งก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการอ่านน้อย และช่วยวางรากฐานการเรียนรู้ให้แก่เด็กได้ นอกจากนี้ อยากสนับสนุนให้คนไทยซื้อหนังสือให้แก่กัน เพื่อสนับสนุนการอ่าน อย่างปีใหม่หากซื้อหนังสือเป็นของขวัญให้กันได้ก็ถือเป็นเรื่องดี

ขณะที่ นางศกุนตลา สุขสมัย รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สพฐ. ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่คนไม่อ่านหนังสือค่อนข้างซับซ้อน อย่างที่ระบุว่าหนังสือราคาแพง คนไม่มีเงินซื้อหนังสือจึงทำให้คนไม่ซื้อหนังสืออ่านนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าหากหนังสือราคาถูกลง คนมีเงินจะซื้อหนังสือ ก็จะซื้อหนังสือมาอ่าน ประเด็นสำคัญคือจะต้องทำให้คนเห็นความสำคัญของการอ่านก่อน ซื้อหนังสือให้เป็นของขวัญ ชวนให้คนอยากอ่าน ส่วนในกลุ่มเด็กนักเรียนที่ผ่านมาจะมองว่าการอ่านหนังสือคืออ่านหนังสือสอบ เข้าห้องสมุดเพื่อหาความรู้ และห้องสมุดก็ไม่มีหนังสือที่เขาสนใจจะอ่าน สพฐ.ได้พยายามปรับห้องสมุดของโรงเรียนในสังกัดใหม่ โดยทำให้โรงเรียนเห็นความสำคัญในการทำให้นักเรียนเข้าห้องสมุด จัดทำห้องสมุดให้เด็กสนใจเข้าไปอ่าน มีหนังสือที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังต้องเดินหน้าการส่งเสริมการอ่านควบคู่ไปด้วย รวมถึงอาจหาต้นแบบของบุคคลที่เป็นแรงบันดาลมาช่วยส่งเสริมให้เด็กอยากอ่าน ก็จะสามารถช่วยให้เด็กนักเรียนอ่านหนังสือมากขึ้นได้

ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และอ่านน้อย ถือเป็นวิกฤตใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่ศักยภาพของคนไทยจะด้อยลง ที่สำคัญการเพิ่มปริมาณการอ่านหรือคนอ่านให้มากขึ้นไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ต้องคำนึงถึง แต่การอ่านอย่างมีคุณภาพก็ต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการอ่านไม่ละเอียด และจับใจความสำคัญไม่ได้ จนกลายเป็นประเด็นดรามากันอยู่เนืองๆ บนโลกโซเชียล

 

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 1 มกราคม 2558

 


อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซ้ำร้าย "อ่านน้อย" จับประเด็นไม่ได้ วิกฤตใหญ่ที่ไทยต้องแก้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ซ้ำร้ายอ่านน้อยจับประเด็นไม่ได้วิกฤตใหญ่ที่ไทยต้องแก้

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

การศึกษาในอนาคต

การศึกษาในอนาคต


เปิดอ่าน 20,666 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

"ครู" ผู้เปลี่ยนชีวิต "ศิษย์"

"ครู" ผู้เปลี่ยนชีวิต "ศิษย์"

เปิดอ่าน 11,460 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
การศึกษาของเด็กไทยยุค Digital Society
การศึกษาของเด็กไทยยุค Digital Society
เปิดอ่าน 11,515 ☕ คลิกอ่านเลย

การสอนภาษาอังกฤษ ในสพฐ. จุดอ่อนที่ควรคำนึง
การสอนภาษาอังกฤษ ในสพฐ. จุดอ่อนที่ควรคำนึง
เปิดอ่าน 15,758 ☕ คลิกอ่านเลย

ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (จบ)
ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (จบ)
เปิดอ่าน 8,167 ☕ คลิกอ่านเลย

การถ่ายโอนสถานศึกษาและเปลี่ยนสถานะครู เป็นพนักงานของรัฐ : ปัญหาที่เกาไม่ถูกที่คัน
การถ่ายโอนสถานศึกษาและเปลี่ยนสถานะครู เป็นพนักงานของรัฐ : ปัญหาที่เกาไม่ถูกที่คัน
เปิดอ่าน 31,779 ☕ คลิกอ่านเลย

สพฐ.พลิกโฉมโรงเรียน มุ่งเป้า ป.1 อ่านเขียนได้
สพฐ.พลิกโฉมโรงเรียน มุ่งเป้า ป.1 อ่านเขียนได้
เปิดอ่าน 5,348 ☕ คลิกอ่านเลย

เหตุใด...บัณฑิตครูเดินไม่ถึงฝัน กระบวนการผลิตหรือระบบการคัดเลือก?
เหตุใด...บัณฑิตครูเดินไม่ถึงฝัน กระบวนการผลิตหรือระบบการคัดเลือก?
เปิดอ่าน 10,189 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ประโยชน์ "คาเฟอีน" ในกาแฟ
ประโยชน์ "คาเฟอีน" ในกาแฟ
เปิดอ่าน 50,612 ครั้ง

เทคนิคพิเศษในการระบายสี
เทคนิคพิเศษในการระบายสี
เปิดอ่าน 78,955 ครั้ง

จุดกำเนิดของ Google.com
จุดกำเนิดของ Google.com
เปิดอ่าน 10,474 ครั้ง

เพลงลอยกระทง
เพลงลอยกระทง
เปิดอ่าน 15,435 ครั้ง

การพระราชทานตราตั้งห้าง สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก
การพระราชทานตราตั้งห้าง สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก
เปิดอ่าน 16,272 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ