น่าห่วง! โครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นสารพิษพลาสติก เผยข้อมูล “ขวดนม” ร้อยละ 80 มีสารเคมีอันตราย BPA มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ อย.แจง ไม่มีอำนาจควบคุม ส่งเรื่องจี้ สมอ.ออกเกณฑ์ควบคุมการผลิต
พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ในฐานะเลขานุการโครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นสารพิษพลาสติก กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมการผลิตขวดนมพลาสติกสำหรับทารก และเด็กเล็กขึ้น เพื่อที่จะพิจารณาว่าควรออกแนวทางให้ผู้ประกอบการงดผลิตขวดนมจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต เนื่องจากพลาสติกชนิดดังกล่าวมีสารเคมี BPA ที่มีผลวิจัยจากทางยุโรปเมื่อประมาณปี 2551 โดยวิจัยในสัตว์ทดลองให้กินนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนตอย่างต่อเนื่อง พบว่า สารเคมีดังกล่าวได้ปนเปื้อนมาในน้ำนม และมีผลในการไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง รวมถึงไปมีผลต่อการผลิตอสุจิได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธ์ของสัตว์ทดลอง ทำให้ในหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ ออกประกาศห้ามผลิต และจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนต ไปแล้ว เพราะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทและพฤติกรรมของทารกและเด็กเล็ก รวมไปถึงการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ด้วย
พญ.รัชดา กล่าวต่อไปว่า สำหรับในประเทศไทย พบว่า มีการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากโพลีคาร์บอนเนตในท้องตลาดมากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สุ่มนำขวดนมที่วางจำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 30 ขวด มาทดสอบหาสารเคมี BPA ก็พบว่า มีสารเคมี BPA ปนเปื้อนในน้ำนมเช่นกัน และยังพบด้วยว่าหากอุณหภูมิของน้ำยิ่งสูงเท่าใด ก็จะส่งผลให้มีสารเคมีดังกล่าวปนเปื้อนออกมาในจำนวนมาก อย่างไรก็ตามยังไม่มีการวิจัยในตัวเด็กทารก เนื่องจากประเทศไทยยังขาดห้องแลปที่สามารถทดลองในเรื่องนี้ได้ แต่ในประเทศเกาหลี และไต้หวัน ได้เคยทดลองวิจัยปัสสาวะของเด็กทารกที่ดื่มนมจากขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต ก็พบว่า มีสารเคมี BPA ปนเกื้อนออกมาเช่นกัน ดังนั้นจึงอยากให้พ่อ แม่ เลือกซื้อขวดนมที่ผลิตจากพลาสติก โพลีพรอพพีลีน หรือ PP หรือให้สังเกตบริเวณข้างขวดจะมีเขียนไว้ว่า BPA Free หรือ PP หรือสังเกตได้จากก้นขวดนมจะมีสัญลักษณ์ มีเลข 5 ตรงกลาง และมีรูปลูกศรล้อมรอบ แต่หากเป็นขวดนมที่ผลติจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต บริเวณก้อนขวดจะมีสัญลักษณ์เลข 7 อยู่ตรงกลางและมีลูกศรล้อมรอบ
ด้านนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากคณะกรรมการได้มีการพิจารณาแล้ว พบว่า ในการควบคุมการผลิตขวดนม อย.ไม่ได้มีอำนาจควบคุมการผลิตโดยตรง ดังนั้น จึงได้นำผลวิจัยที่เกี่ยวกับสาร BPA เสนอไปยัง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ.ซึ่งเป็นผู้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม โดยจะออกตราสัญลักษณ์ มอก.ให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง ดังนั้น หน้าที่ในการตรวจรับรอง หรือควบคุมมาตรฐาน รวมทั้งการกำหนดเกี่ยวกับสารเคมี BPA จึงเป็นหน้าที่ของ สมอ.ในการพิจารณาเรื่องนี้ อย.ทำได้เพียงเสนอข้อมูลทางวิชาการเท่านั้น
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 สิงหาคม 2554