ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

เชิญเที่ยวงานประเพณี..บุญบั้งไฟ


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 6,338 ครั้ง
เชิญเที่ยวงานประเพณี..บุญบั้งไฟ

Advertisement

ประเพณีบุญบั้งไฟ...

เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ...คำขวัญเมืองบั้งไฟ..จังหวัดยโสธร

ประเพณีบุญบั้งไฟยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ....

 

 

ประวัติ / ความเป็นมา

ประเพณีบุญบั้งไฟ กำเนิดจากไหนนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ก็ยังปรากฏประเพณีนี้ในภาคเหนือ (เรียกว่า ประเพณีจิบอกไฟ) ส่วนหลักฐานเอกสารในภาคอีสาน ปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง ผาแดง – นางไอ่ ซึ่งกล่าวถึงตำนานบุญบั้งไฟบ้าง

ส่วนความเป็นมาและตำนานเกี่ยวกับบุญบั้งไฟมีหลายประการ ด้วยผู้รู้หลายท่านได้กล่าวไว้เช่น…สิริวัฒน์ คำวันสา ได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับต้นเหตุความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟในแง่ต่างๆ ไว้ว่า..

ด้านศาสนาพราหมณ์ มีการบูชาเทพเจ้าด้วยไฟเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าบนสวรรค์ การจุดบั้งไฟ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งและเป็นการบูชาเพื่อให้พระองค์บันดาลในสิ่งที่ตนเองต้องการ

ด้านศาสนาพุทธ เป็นการฉลองและบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชามีการนำเอาดอกไม้ไฟแบบต่างๆ บั้งไฟ น้ำมัน ไฟธูปเทียนและดินประสิว มีการรักษาศีล ให้ทาน การบวชนาค การฮดสรง การนิมนต์พระเทศน์ ให้เกิดอานิสงส์

ด้านความเชื่อของชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ โลกเทวดา และโลกบาดาล มนุษย์อยู่ภายใต้อิทธิพลของเทวดาการรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างแห่งการแสดงความนับถือเทวดา คือ “แถน” “พญาแถน” เมื่อถือว่ามีพญาแถนก็ถือว่ามีฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของพญาแถน หากทำให้พญาแถนโปรดปรานหรือพอใจแถนก็จะบันดาลความสุข จึงมีพิธีบูชาแถน การใช้บั้งไฟเชื่อว่าเป็นการบูชาพญาแถน ซึ่งแสดงความเคารพและแสดงความจงรักภักดีต่อแถน ชาวอีสานส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนพญาแถน และมีนิทานปรัมปราลักษณะนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน ในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือ เรื่องพญาคันคาก พญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้วให้พญาแถนบันดาลฝนตกลงมายังโลกมนุษย์

พระมหาปรีชา ปริญญาโน เล่าถึงมูลเหตุการทำบุญบั้งไฟไว้ว่า บนสวรรค์ชั้นฟ้ามีเทพบุตรนามว่า วัสสการเทพบุตร เทพบุตรองค์นี้เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่เทพเจ้าองค์นี้ชอบก็คือ การบูชาไฟ ใครบูชาไฟถือว่าบูชาท่าน แล้วท่านจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อาศัยเหตุนี้คนจึงพากันทำการบูชาไฟด้วยการทำบุญบั้งไฟและถือเป็นประเพณีจนทุกวันนี้

จารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการทำบั้งไฟว่าเป็นการทดสอบความพร้อมของประชาชนว่ามีความสามัคคีหรือไม่ และเตรียมอาวุธไว้ป้องกันสังคมของตนเอง เพราะสิ่งที่ใช้ทำบั้งไฟนั้นคือดินปืน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสดงการละเล่นจนสุดเหวี่ยง ให้มีความสนุกสนานก่อนที่จะเริ่มทำงานหนักประจำปี คือการทำนา

บุญเลิศ สดสุชาติ กล่าวถึงการทำบั้งไฟว่า มีตำนานเล่าถึงเมืองธีตานครของท้าวพญาขอมเกิดแล้งหนัก ท่านจึงป่าวประกาศให้เมืองต่างๆ ทำบั้งไฟมาแข่งกันของใครขึ้นสูงสุดจะเป็นผู้ชนะได้อภิเษกสมรสกับ นางไอ่ ผู้เป็นพระราชธิดา ผลการแข่งขันจุดบั้งไฟปรากฏว่าท้าวผาแดงเป็นผู้ชนะเลิศ เมื่อพญาขอมสิ้นพระชนม์ ท้าวผาแดงได้ครองเมือง สืบต่อมาด้วยความสงบสุขร่มรื่น กล่าวถึงท้าวภาคีบุตรพญานาค เคยเป็นคู่ครองของนางไอ่ในชาติปางก่อน ยังมีอาวรณ์ถึงนางจึงได้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาให้นางไอ่เห็นก็อยากได้กระรอกนั้นเป็นกำลัง นางได้สั่งบริวารให้ช่วยกันจับ บังเอิญบริวารยิงธนูถูกกระรอกเผือกถึงแก่ความตาย ก่อนตายท้าวภาคีได้อธิษฐานให้ร่างกายของตนใหญ่โต แม้คนจะเชือดเพื่อไปกินมากมายอย่างไรก็อย่าได้หมด ใครที่กินเนื้อตนจงถึงแก่ชีวิต พร้อมกันทั้งแผ่นดินถล่ม เมืองธีตานครถึงแก่จมหายไปกลายเป็นหนองหาน ท้าวผาแดงและนางไอ่พยายามขี่ม้าหนี แต่ไม่รอดได้เสียชีวิตในคราวนี้ด้วย จากผลแห่งกรรมดีที่สร้างไว้ ท้าวผาแดงได้ไปจุติเป็นเทพเจ้า ชื่อว่าพญาแถน ดังนั้นการทำบุญบั้งไฟก็เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน

จารุวรรณ ธรรมวัตร กล่าวถึงมูลเหตุการทำบั้งไฟดังนี้ พญาแถนเป็นเทพยดา ผู้มีหน้าที่ควบคุมฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล หากทำการเซ่นบวงสรวงให้พญาแถนพอใจ ท่านก็จะอนุเคราะห์ให้การทำนาปีนั้นได้ผลสมบูรณ์ ตลอดจนบันดาลให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหมู่บ้านใดทำบุญบั้งไฟติดต่อกันมาถึงสามปี ข้าวปลาอาหารในหมู่บ้านนั้นจะบริบูรณ์มิได้ขาด

พระยาอนุมานราชธน เขียนเล่าไว้ในเรื่อง “อัคนีกรีฑา” ว่าด้วยวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของไทยว่า เรื่องบ้องไฟนี้โบราณเรียกว่า กรวดหรือจรวด เป็นการเล่นไฟของชาวบ้าน โดยอ้างถึงหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เมื่อพุทธศักราช 1835 ว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสีปากประตู หลวงเทียรญ่อมคนเสียดคนเข้าดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก” เป็นหลักฐานว่า การเล่นไฟประดิษฐ์จรวด กรวด หรือบ้องไฟ รวมทั้งพลุ ตะไล และไฟพะเนียงได้รู้จัก และทำเล่นกันมานานเกือบ 700 ปีแล้ว เป็นการละเล่นที่สนุกสนาน ผู้คนเบียดเสียดกันเข้ามาดูแทบว่ากรุงสุโขทัยแตก

ส่วนงานประเพณีบั้งไฟ เมืองยโสธรได้มีมานานแล้ว โดยมีหลักฐานว่า มีมาก่อนที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จะขึ้นไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล คือ เรื่องของกบฏผีบุญ หรือกบฏชาวนา กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จึงห้ามการเล่นบั้งไฟ

จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟ มีหลายอย่าง เช่น

1. การบูชาคุณของพระพุทธเจ้า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ขอน้ำฝน เชื่อมความสมัครสมานสามัคคีแสดงการละเล่นการบูชาคุณของพระเจ้า ชาวอีสานส่วนมากนับถือพระพุทธสาสนา เมื่อถึงเทศกาลเดือน 6 ซึ่งเป็นวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ชาวอีสานจะจัดดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาพระพุทธรูป การทำบุญบั้งไฟของชาวอีสานถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน

2. การสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เนื่องจากการทำบุญบั้งไฟ มีการบวชพระและบวชเณรในครั้งนี้ด้วย จึงถือว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา

3. การขอฝน การทำนาไม่ว่าจะเป็นภาคใดก็ต้องอาศัยน้ำฝน ชาวอีสานก็เช่นกันเนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้จึงมีความเชื่อเดียวกันกับสิ่งเหนือธรรมชาติ จากตำนานเรื่องเล่าของชาวอีสานเชื่อว่า มีเทพบุตรชื่อ โสกาลเทพบุตร มีหน้าที่บันดาลน้ำฝนให้ตกลงมา จึงทำบุญบั้งไฟขอน้ำจากเทพบุตรองค์นั้น

4. การเชื่อมความสามัคคี คนในบ้านเมืองหนึ่งที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกัน ถ้ามิได้ทำกิจกรรมร่วมกันก็จะมีฐานะต่างคนต่างอยู่เมื่อบ้านเมืองเกิดความยุ่งยากจะขาดกำลังคนแก้ไข ดังนั้นเมื่อทำบุญบั้งไฟก็จะเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายได้มาร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจกรรมสร้างความสามัคคี ให้เกิดขึ้น

5. การแสดงการละเล่น เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมาแสดงการละเล่น คนเราเมื่อได้เล่นได้กินร่วมกัน จะเกิดความรักใคร่ใยดีต่อกัน การเล่นบางอย่างจะสุภาพเรียบร้อย บางอย่างหยาบโลน แต่ก็ไม่ถือสาหาความ ถือเป็นการเล่นเท่านั้น

กำหนดงาน

ชาวอีสานส่วนใหญ่จัดประเพณีบุญบั้งไฟช่วงทำนา เพื่อเป็นการขอฝนหรือเปรียบเสมือนประเพณีแห่นางแมวของทางภาคกลาง สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ www.tat.or.th/festival

กิจกรรม / พิธี

ขั้นตอนการเตรียมบั้งไฟ เริ่มจากทางบ้านในคุ้ม (เป็นหน่วยย่อยของชุมชนหมู่บ้าน) ซึ่งแต่ละคุ้มในเมืองยโสธรมีวัดอย่างน้อยหนึ่งวัดในบริเวณ จึงเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า คุ้มวัดหรือคุ้มบ้าน ฝึกหัดฟ้อนรำประกอบขบวนแห่บั้งไฟ การปลูกปะรำที่พักอาศัยเพื่อแขกที่เชิญมาร่วมงานจากหมู่บ้านอื่นมีการเตรียมอาหาร บ้านใดที่มีลูกสาวก็จะเตรียมตัดชุดรำเซิ้ง อุปัชฌาย์จะเตรียมนาคเพื่อบวชในงานเป็นช่วงที่ครึกครื้นมาก สถานที่จัดงานสมัยก่อนจะใช้วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวบรวมราษฎรมาช่วยกันทำบั้งไฟ บั้งไฟแต่ละบั้งใช้เวลาในการทำประมาณสองถึงสามเดือน ในปัจจุบันงานบุญบั้งไฟได้กลายเป็นงานที่ทางจังหวัดเป็นผู้จัด ดังนั้นทางเทศบาลจะจ่ายให้คุ้มละ 30,000 บาท (เมื่อปี 2535) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำบั้งไฟและขบวนแห่ ทั้งนี้ทางเทศบาลจะเป็นผู้กำหนดนางรำที่จะร่วมขบวนแห่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมางบประมาณที่ได้จาก จังหวัด 1 ใน 3 เป็นค่าใช้จ่ายในการทำบั้งไฟ ที่เหลือใช้จ่ายในขบวนแห่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมางบประมาณไม่พอก็ต้องทำการเรี่ยไรกันในคุ้ม

ขั้นตอนการทำบุญบั้งไฟต้องมีการศึกษา และเรียนรู้สืบทอดต่อๆ กันมาคนที่เป็นช่างทำบั้งไฟเรียกว่า “ช่างบั้งไฟ” โดยทั่วไปจะถ่ายทอดต่อกันนับพ่อกับลูก ลูกกับหลาน หรือครูกับลูกศิษย์ เป็นคนๆ เท่านั้น ไม่ใช่คนทั่วไปอยากเรียนก็จะเรียนได้หมด ครูจะเลือกถ่ายทอดให้ตัวต่อตัว สำหรับศิษย์ที่ครูเห็นว่ามีไหวพริบและมีพรสวรรค์ด้านการทำบั้งไฟเท่านั้น ก่อนลงมือทำบั้งไฟต้องจัดหาอุปกรณ์ไว้ให้ครบเพื่อความสะดวกในการทำบั้งไฟ ในปัจจุบันกับสมัยโบราณจะต่างกันในเรื่องระยะเวลา

ชนิดของบั้งไฟมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับจุดหมายในการทำ อาจจะแยกเป็นแบบใหญ่และนิยมทำกันมากมี 3 แบบ คือ แบบมีหาง แบบไม่มีหาง และบั้งไฟตะไล

บั้งไฟมีหางเป็นแบบมาตราฐาน เรียกว่า “บั้งไฟมีหาง” มีการตกแต่งให้สวยงามเมื่อเวลาเซิ้งเวลาจุดจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สูงมาก ควบคุมทิศทางได้เล็กน้อย

บั้งไฟแบบไม่มีหางเรียกว่า “บั้งไฟก่องข้าว” รูปร่างคล้ายกล่องใส่ข้าวเหนียว ชนิดมีขาตั้งเป็นแฉก ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คล้ายกับจรวดนั่นเอง

บั้งไฟตะไล มีรูปร่างกลม มีไม้บางๆ แบนๆ ทำเป็นวงกลมรอบหัวท้ายของบั้งไฟ เวลาพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง

บั้งไฟทั้งสามแบบที่กล่าวมา ถ้าจะแยกย่อยๆ ตามเทคนิคการทำและลักษณะรูปร่างของบั้งไฟจะแยกเป็นประเภทได้ 11 ชนิด ดังนี้คือ บั้งไฟโมดหรือโหมด บั้งไฟม้า บั้งไฟช้าง บั้งไฟจินาย บั้งไฟดอกไม้ บั้งไฟฮ้อยหรือบั้งไฟร้อย บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟตะไล บั้งไฟตื้อ บั้งไฟพลุ

การแห่บั้งไฟจะกำหนดไว้ 3 วัน คือ วันสุกดิบ วันประชุมเล่นรื่นเริง และวันจุดบั้งไฟ ในวันสุกดิบ คณะเซิ้งบั้งไฟแต่ละคุ้ม แต่ละคณะจะนำบั้งไฟของตนพร้อมด้วยขบวนแห่มายังหมู่บ้านที่แจ้งฎีกาโดยจะแห่ไปรวมกันที่วัด และที่วัดจะมีการทำบุญและเลี้ยงแขกที่จะมาประชุมกัน ทุกๆ คนที่มาร่วมงานกันล้วนแต่งกายอย่างสวยงามทั้งหญิงชาย โดยเฉพาะสาวๆ ถ้าสาวบ้านไหนไม่ไปเท่ากับผู้เฒ่าผู้แก่บ้านนั้นไม่ยินดีร่วมทำบุญและไม่ร่วมมือ ถ้าพ่อแม่ขัดข้องโดยไม่มีเหตุจำเป็นจะเป็นบาป ตายแล้วต้องตกนรกแสนกัปแสนกัลป์ และเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อน ฟ้าฝนไม่อุดมสมบูรณ์ทำไร่ทำนาไม่ได้ผล ปัจจุบันจังหวัดยโสธรได้จัดให้บั้งไฟคณะต่างๆ ไปทำพิธีบวงสรวงคารวะเจ้าปู่ เจ้าพ่อหลักเมือง แล้วแต่ละคุ้มจะรำเซิ้งเพื่อขอบบริจาคไปตามสถานที่ต่างๆ ได้

เมื่อถึงวันที่สอง คือวันประชุมเล่นรื่นเริงหรือวันสมโภช คณะต่างๆ จะนำบั้งไฟของตนไปปักไว้ที่ศาลาการเปรียญ ฝ่ายที่มีหน้าที่ต้อนรับแขกก็รับไป พวกแขกก็มีธรรมเนียมเหมือนกันคือ ต้องมาเป็นขบวน มีคนตีฆ้อง ตีกลองนำขบวน มีพระและสามเณร ต่อด้วยประชาชนทั่วไป ในขบวนนี้อาจจะมีแคนหรือเครื่องดนตรีอื่นๆ เป่าหรือบรรเลง เพื่อความครึกครื้นไปด้วย

ครั้นไปถึงลานวัดแล้ว เจ้าภาพจะนำแขกไปยังผามที่ทำไว้ ขณะเมื่อแขกไปถึงผามจะตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณว่าแขกทั้งหลายได้มาถึงแล้ว และจัดที่นั่งสำหรับพระและสามเณรไว้บนพื้นสูงแถวหนึ่ง ชายแก่อีกชั้นหนึ่ง และรองลงมาก็จะเป็นหญิงแก่และสาวปนเปกันไป และต้องหันหน้าออกมาทางผาม สำหรับพวกหนุ่มๆ ที่ร่วมขบวนมาด้วยกันนั้นส่วนมากจะมารื่นเริงฟ้อนรำทำเพลงผสมปนเปกับเจ้าของถิ่น และพวกที่มาจากถิ่นอื่น วันนี้อาจมีการบวชนาคและสรงน้ำพระภิกษุ โดยนิมนต์ท่านสมภารวัด หรือพระครูเจ้าวัด เจ้าคณะอำเภอนั้นๆ ขึ้นแคร่แห่ไปรอบวัด และนำนาคเข้าขบวนแห่ไปด้วย นาคพื้นเมืองจะแต่งตัวสวยงามมาก บางคนนั่งแคร่ หรือขี่ม้า และมีคนตีฆ้องเดินนำขบวน มีการยิงปืนและจุดไฟตะไล อานม้าผูกกระพวนด้วย อนึ่งในพิธีแห่บั้งไฟนี้ ถ้าบุคคลใดมีความประสงค์จะสรงน้ำพระภิกษุ ก็ให้มีการแห่พระภิกษุรูปนั้นออกนำหน้านาคอีกทีหนึ่ง การสรงน้ำพระเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฮดสรง” การฮดสรงน้ำเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่พระภิกษุรูปใดจะได้เลื่อนยศชั้น จึงจะได้รับการสรงน้ำและมีการถวายจตุปัจจัย หรือสังคบริภัณฑ์ เช่น ถวายเตียงนอน เสื่อสาด หมอนอิง ไม้เท้า กระโถน ขันน้ำพานรอง สำรับคาวหวาน ผ้าไตร ฯลฯ

ครั้นแห่ประทักษิณครบสามรอบแล้วจะนิมนต์พระรูปนั้นนั่งบนแท่นซึ่งทำลวดลายด้วยหยวกกล้วย แล้วสรงน้ำด้วยน้ำอบน้ำหอม ครั้นเสร็จจากการสรงแล้วจึงอ่านประกาศชื่อของพระรูปนั้นให้ทราบทั่วไปประกาศนั้นจะเขียนลงบนใบลานบ้าง แผ่นเงินบ้าง แผ่นทองบ้างตามกำลังยศ เมื่ออ่านประกาศแล้วเจ้าศรัทธาจะมอบจตุปัจจัยต่างๆ ที่จัดมานั้นถวายแด่พระภิกษุ ต่อจากนั้นมีพิธีสวดมนต์เย็นที่ศาลาการเปรียญ ในปัจจุบันมีคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯ โดยชาวยโสธรจะชวนเพื่อนที่สนิทนำผ้าป่ามาถวาย ที่บ้านเกิดของตนเป็นการกลับมาเยี่ยมบ้าน เที่ยวงานประเพณีบุญบั้งไฟ และเป็นการทำบุญด้วย

วันแห่บั้งไฟตอนเช้ามีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศาลาการเปรียญและรับผ้าป่า จากนั้นนำขบวนแห่ไปคารวะมเหศักดิ์หลักเมือง เจ้าพ่อปู่ตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน แล้วขบวนแห่บั้งไฟทุกคณะไปตั้งแถวตามถนน แล้วแห่ไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดการกำหนดไว้ในขบวนแห่บั้งไฟที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ขบวนฟ้อนรำ ที่เรียกว่า เซิ้งบั้งไฟนำขบวนไปด้วย บั้งไฟแต่ละขบวนจะประกอบด้วยขบวนเซิ้งนำหน้าขบวนแสดงความเป็นอยู่ (อาชีพ) ตลกขบขัน

ในวันจุดบั้งไฟ ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ ตักบาตรถวายภัตตาหาร เลี้ยงดูญาติโยมแล้วแห่บั้งไฟไปรอบพระอุโบสถ เพื่อถวายแด่เทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำบั้งไฟออกไปที่จัดไว้สำหรับจุดบั้งไฟ

การจุดบั้งไฟจะจุดบั้งไฟเสี่ยงทายก่อน เพื่อเป็นการเสี่ยงทายว่าพืชผลทางการเกษตร ประจำปีจะดีเลวหรือไม่ กล่าวว่า คือ ถ้าบั้งไฟที่เสี่ยงทายจุดไม่ขึ้น (ชุติดค้าง) ก็ทายว่าน้ำประจำปีจะมากและทำไร่ที่ลุ่มเสียหาย ถ้าจุดแล้วขึ้นไประเบิดแตกกลางอากาศ ทายว่าแผ่นดินจะเกิดความแห้งแล้ง แต่ถ้าบั้งไฟจุดขึ้นสวยงามและสูง ชาวบ้านจะเปล่งเสียงไชโยตลอดทั้งบริเวณลาน เพราะมีความเชื่อว่าข้าวกล้า และพืชไร่ในท้องทุ่งจะได้ผลบริบูรณ์

หลังจากลำเสี่ยงทายแล้วก็จะทำการจุดบั้งไฟเสียง หลังจากนั้นก็จะจุดบั้งไฟที่นำมาแข่งขัน บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน การจุดชนวนใช้เวลาไม่กี่นาทีบั้งไฟก็จะพุ่งไปในอากาศ การขึ้นของบั้งไฟจะมีเสียงดังวี้ดคล้ายคนเป่านกหวีดหรือเป่ากระบอก ส่วนบั้งไฟแข่งขันจะจุดหลังบั้งไฟเสียง การจุดบั้งไฟแข่งขันถ้าบั้งไฟของคณะใดขึ้นสูงก็เป็นผู้ชนะ ถ้าขึ้นสูงมากก็จะโห่ร้องยินดี กระโดดโลดเต้นกันอย่างเต็มที่ และจะแบกช่างทำบั้นไฟเดินไปมา แต่ถ้าบั้งไฟของคณะใดไม่ขึ้นหรือแตกเสียก่อน ช่างบั้งไฟจะถูกลงโคลนตมไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ขึ้นก็ตามก็จะจับโยนทั้งนั้น ช่างทำบั้งไฟจะเป็นคนจุดเอง หรือบางทีคนในคณะบั้งไฟของตนที่มีความชำนาญจะเป็นคนจุด กรรมการจะจับเวลาว่าใครขึ้นสูงกว่ากัน การจุดบั้งไฟนี้น่ากลัวมาก บางบั้ง ก็แตก บางบั้งก็ขึ้นสูง ในวันจุดบั้งไฟนี้ประชาชนพากันมามุงดูอย่างคับคั่งนั่งอยู่ตามร่มไม้เป็นกลุ่มๆ และพนันกันว่าบั้งไฟใครจะชนะ ขึ้นสูงหรือไม่ ตกหรือไม่ เป็นต้น บางทีมีบั้งไฟมากต้องจุด 2 วัน ก่อนจุดต้องเอาเครื่องประดับบั้งไฟออก นำแต่บั้งไฟเท่านั้นไปจุด หลังจากจุดเสร็จ แล้วจะมอบรางวัลให้กับบั้งไฟที่ขึ้นสูงตามลำดับที่ 1-3 จากนั้นคณะเซิ้งพากันกลับ ไปบ้านของตนหรือบ้านช่างทำบั้งไฟ

การนำรอยไฟ (การนำฮอยไฟ) หมายถึง การเล่นสนุกหลังจากจุดบั้งไฟแล้ว มีการตามช่างและชาวบ้านที่เป็นเจ้าบ้านไปดื่มเหล้าและเล่นสนุกสนานกันอีก การตามรอยไฟจะสูตรขวัญให้ช่างทำบั้งไฟด้วย คือเริ่มแรกอาราธนาสูตรขวัญเพื่อทำขวัญช่าง เมื่ออาราธนาเสร็จแล้วหมอก็เริ่มการสูตรขวัญบ้านที่ทำการสูตรขวัญเป็นบ้านช่างทำบั้งไฟ ทุกคนในบ้านจะออกมานั่งรับการสูตรขวัญ หมอสูตรขวัญนำคำสูตรขวัญที่ดีๆ มาสูตร เสร็จแล้วมีการผูกแขนเพื่อเป็นมงคล หลังจากสูตรขวัญและผูกแขนช่างทำบั้งไฟแล้วก็รับประทานอาหารกันอย่างสนุกสนาน การทำรอยไฟปฏิบัติกันทั่วไป ปัจจุบันปฏิบัติกันน้อยลง การเซิ้งตามรอยไฟเป็นการเซิ้งเพื่อเยี่ยมเยียนตามบ้านเรือนชาวบ้านจนถึงค่ำจึงเลิกรากันไป เนื้อความของกาพย์เซิ้งในตอนนี้เป็นการขอเหล้าสาโทดื่มฉลอง มีการกล่าวขอบคุณและให้ศีลให้พร (ดูตัวอย่างคำให้ศีลให้พรใน ปรีชา พิณทอง, อร่ามจิต ชิณช่าง, 2537 :43-44)

ประเพณีบุญบั้งไฟกับชีวิตของชาวอีสานจึงมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ชาวอีสานจะจัดทำบุญบั้งไฟกันอย่างเอิกเกริก ยิ่งปีใดฝนแล้งจะต้องทำเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ยัง ถือเป็นการทำบุญประกอบคุณงามความดีตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณกาล เช่น มีงานบวชนาค งานสรงน้ำพระพุทธรูป งานถือน้ำพิพัฒน์ต่อหน้าพระพุทธรูป กล่าวได้ว่าชาวอีสานใช้บั้งไฟเป็นสื่อในการให้ประชาชนทำบุญ เป็นสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพญาแถน บั้งไฟจึงมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของคนอีสาน ในฐานะเป็นเครื่องมือของพิธีขอฝนเพื่อให้ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนี้ประเพณีบุญบั้งไฟยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านจากหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ได้มาช่วยกันทำบุญบั้งไฟ มาร่วมกันสนุกสนาน เป็นการรวมพลังประชาชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ฝึกให้รักและสามัคคีกันได้เป็นอย่างดี 


                               

                                                                    ขอบคุณข้อมูลและภาพเพลง  Tourthai.com  และ www.swuaa.com

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 1712 วันที่ 18 ก.พ. 2552


เชิญเที่ยวงานประเพณี..บุญบั้งไฟ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

..อะไรน่ากลัวกว่ากัน...

..อะไรน่ากลัวกว่ากัน...


เปิดอ่าน 6,337 ครั้ง
บ้านไม้ชายน้ำ

บ้านไม้ชายน้ำ


เปิดอ่าน 6,337 ครั้ง
โจ๊กสั้นขนาดยาว

โจ๊กสั้นขนาดยาว


เปิดอ่าน 6,338 ครั้ง
คุณอำนวย คุณประสาน คุณกิจ

คุณอำนวย คุณประสาน คุณกิจ


เปิดอ่าน 6,338 ครั้ง
ส่งความสุข 2553

ส่งความสุข 2553


เปิดอ่าน 6,337 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

    คลิปวีดีโอ  เด็ก   Beyonce บียอนเซ่ ตัวน้อย

คลิปวีดีโอ เด็ก Beyonce บียอนเซ่ ตัวน้อย

เปิดอ่าน 6,337 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
รับสมัครครูอัตราจ้าง
รับสมัครครูอัตราจ้าง
เปิดอ่าน 6,337 ☕ คลิกอ่านเลย

ผลงานวิชาการ
ผลงานวิชาการ
เปิดอ่าน 6,337 ☕ คลิกอ่านเลย

 29 สุดยอดอาหาร คงความอ่อนเยาว์
29 สุดยอดอาหาร คงความอ่อนเยาว์
เปิดอ่าน 6,337 ☕ คลิกอ่านเลย

ผู้บริหารมืออาชีพ
ผู้บริหารมืออาชีพ
เปิดอ่าน 6,339 ☕ คลิกอ่านเลย

ฝากเนื้อ ฝากตัวค่ะ
ฝากเนื้อ ฝากตัวค่ะ
เปิดอ่าน 6,337 ☕ คลิกอ่านเลย

อาการของมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ
อาการของมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ
เปิดอ่าน 6,337 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ทำไมเบอร์โทรศัพท์เลข 2 ถึงอ่านว่า "โท"
ทำไมเบอร์โทรศัพท์เลข 2 ถึงอ่านว่า "โท"
เปิดอ่าน 22,295 ครั้ง

ประกาศ
ประกาศ
เปิดอ่าน 27,025 ครั้ง

ดูแลตัวกันเยอะแล้ว มาดูแลเท้ากันบ้างดีกว่า!
ดูแลตัวกันเยอะแล้ว มาดูแลเท้ากันบ้างดีกว่า!
เปิดอ่าน 11,498 ครั้ง

ทาครีมบำรุงอย่างไร ให้ถูกวิธี
ทาครีมบำรุงอย่างไร ให้ถูกวิธี
เปิดอ่าน 14,137 ครั้ง

"โซเชียล เน็ตเวิร์ก" ช่วยพัฒนาการเรียนการสอน
"โซเชียล เน็ตเวิร์ก" ช่วยพัฒนาการเรียนการสอน
เปิดอ่าน 59,280 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ